ผลล่าสุดเฝ้าระวัง 'โควิดกลายพันธุ์'ในไทย
กรมวิทย์ฯ รายงานผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ระหว่างวันที่ 24-30 ก.ค.64
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ เครือข่ายห้องปฏิบัติการว่า แนวโน้มในภาพรวมของประเทศจากข้อมูลการเฝ้าระวังระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม ถึง 30 กรกฎาคม 2564 จากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อทั้งหมด 2,547 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) จำนวน 1,993 ราย (78.2%) สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) จำนวน 538 ราย (21.2%) และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) จำนวน 16 ราย (0.6%)
ในพื้นที่กรุงเทพมหานครสุ่มตรวจ จำนวน 1,229 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตา จำนวน 1,059 ราย (86.2%) สายพันธุ์อัลฟาจำนวน 170 ราย (13.8%) ส่วนสายพันธุ์เบตาไม่พบผู้ติดเชื้อ ส่วนภูมิภาคสุ่มตรวจ จำนวน 1,318 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตา 934 ราย (70.9%) สายพันธุ์อัลฟา 368 ราย (27.9%) และสายพันธุ์เบตา 16 ราย (1.2%) โดยขณะนี้สายพันธุ์เดลตาพบ 74 จังหวัด ส่วนสายพันธุ์เบตาสัปดาห์นี้พบเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ พบมากที่สุดที่จังหวัดยะลา 14 ราย จังหวัดสงขลาและตรังจังหวัดละ 1 ราย
สำหรับสายพันธุ์แลมบ์ดาที่พบในแถบประเทศอเมริกาใต้ ยังไม่พบในประเทศไทยแต่อย่างใด และยังเป็นเพียงสายพันธุ์ที่น่าสนใจ(Variant of Interest) ตามการแบ่งระดับขององค์การอนามัยโลก(WHO)
ผู้สื่อข่าวรายว่า ข้อมูลการเฝ้าระวังของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังระบุด้วยว่า มีการพบโควิดสายพันธุ์เดลตาแล้ว 75 จังหวัด มีเพียง 2 จังหวัดที่ยังไม่มีรายงานการพบสายพันธุ์นี้ คือ เพชรบุรี และ สุพรรณบุรี
ขณะที่สายพันธุ์เบตานั้น พบแล้วใน 15 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ บึงกาฬ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร กระบี่ ภูเก็ต นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา พัทลุง ตรัง สตูล และกรุงเทพฯ