ทำความรู้จัก 'เฮลท์ตี้บอท' หุ่นยนต์ช่วยแพทย์ดูแล 'ผู้ป่วยโควิด-19'
การดูแล 'ผู้ป่วยโควิด-19' ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงของบุคลากรด่านหน้า 'หุ่นยนต์อัจฉริยะ' จึงเข้ามามีบทบาทในการลดความเสี่ยง ดูแลผู้ป่วย ส่งยา ส่งอาหาร โดยเฉพาะใน รพ.สนาม ที่ต้องดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก
“เทคโนโลยีหุ่นยนต์” เข้ามามีบทบาทมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 หลายโรงพยาบาล ได้นำหุ่นยนต์มาใช้ในการแพร่ระบาดตั้งแต่ในช่วงโควิดระลอกแรก เพื่อส่งยา ส่งอาหาร และพูดคุยกับผู้ป่วยติดเชื้อผ่านเทเลเมดิซีน ลดการติดเชื้อของบุคลากรด่านหน้า ปัจจุบัน เทคโนโลยีดังกล่าวถูกนำมาใช้ในรพ.สนาม เพื่อลดภาระบุคลากรที่ต้องดูแลผู้ป่วยหลายร้อยราย
ขณะนี้ รพ.สนามหลายแห่ง ทั้งของภาครัฐและเอกชน ได้นำหุ่นยนต์ไปเป็นตัวช่วยในการดูแล 'ผู้ป่วยโควิด-19' ไม่ว่าจะเป็น รพ.สนาม ย่านบางนาตราด กม.5 ขนาด 450 เตียง ซึ่งรับผู้ป่วยสีเขียว และสีเหลืองอ่อน มีการใช้หุ่นยนต์ส่งของ “ปิ่นโต” จำนวน 12 ตัว ทำหน้าที่รับส่งยา อาหาร เครื่องดื่ม และพัสดุจำเป็นแก่ผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์
ขณะเดียวกัน 'หุ่นยนต์ผู้ช่วยอัจฉริยะ' รุ่น 'เฮลท์ตี้บอท' โดย บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ จำกัด หรือ เอ็นเฮลท์ (N Health) ซึ่งถูกนำมาใช้ตั้งแต่การระบาดในระลอกแรก ให้บริการกับโรงพยาบาลในเครือกรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ บีดีเอ็มเอส อย่าง รพ.กรุงเทพ รพ.สมิติเวช
และในการระบาดระลอกนี้ ถูกนำไปช่วยภารกิจในการดูแลผู้ป่วยใน รพ.สนาม หลายแห่งทั้งรัฐและเอกชน อาทิ รพ.สนาม จ.สระแก้ว และ ฮอสพิเทล ของ ม.พายัพ ที่ทำร่วมกับ รพ.แมคคอร์มิค ปัจจุบัน มีการใช้ใน รพ.บุษราคัม , ศูนย์แรกรับส่งต่ออาคารนิมิบุตร และ รพ.สนามบีดีเอ็มเอส สนามกีฬากองทัพอากาศ (ธูปะเตมีย์) ซึ่งดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองจำนวน 100 เตียง โดยทีมแพทย์ของ รพ.ภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง
- 3 รุ่น เฮลท์ตี้บอท บุก 'รพ.สนาม'
โดยได้ส่งมอบหุ่นยนต์ผู้ช่วยอัจฉริยะ 3 รุ่น จำนวน 5 ตัว ได้แก่ หุ่นยนต์ผู้ช่วยอัจฉริยะ “รุ่นเฮลท์ตี้บอท” สำหรับส่งยาและทำเทเลเมดิซีน “รุ่นเฮลท์ตีบอท ที 1” สำหรับจัดส่งเวชภัณฑ์ ยา และส่งอาหารได้ “รุ่นเฮลท์ตี บ๊อกซ์” หุ่นยนต์สำหรับจัดส่งอาหารสำหรับคนไข้รับน้ำหนักได้ 60 กิโลกรัม สามารถเสิร์ฟได้ข้างเตียงผู้ป่วยสีเหลือง ส่วนผู้ป่วยสีเขียวจะคำนวณให้ไปจอดตามจุด รวมถึง “สะอาดบอท” (SARD-BOT) จุดสำหรับทำความสะอาดหุ่นยนต์อัตโนมัติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 'หุ่นยนต์ทางการแพทย์' สัญชาติไทย ตัวช่วยสำคัญสู้ 'โควิด 19'
- 'N Health' ส่งหุ่นยนต์ผู้ช่วยอัจฉริยะ ลุยภารกิจ รพ.สนาม
- หุ่นยนต์ปิ่นโตออกปฎิบัติการช่วยรพ.รับมือโควิด-19
- หุ่นยนต์ 'เฮลท์ตี้บอท' ช่วยแพทย์ลดความเสี่ยง
“วิฑูรย์ อุทัยกรณ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทางไกล บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ จำกัด หรือ เอ็นเฮลท์ (N Health) กล่าวว่า หุ่นยนต์อัจฉริยะดังกล่าวจะเข้าไปช่วยปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสนาม ร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสัมผัส รวมถึงใช้นำทางผู้ป่วย อันจะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระงาน ช่วยเพิ่มความปลอดภัย และช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
“หุ่นยนต์อัจฉริยะ มีประมาณไม่ต่ำกว่า 10 ตัว ซึ่งขณะนี้ถูกนำไปใช้งานทั้งหมด และอยู่ระหว่างการเร่งประกอบเพิ่มอย่างน้อยเดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 2 ตัว เนื่องจากเราพัฒนาซอฟต์แวร์เอง จึงเป็นเรื่องง่ายที่เราสามารถปรับได้ตามโจทย์ของผู้ใช้งาน การใช้งานในภาวะปกติหุ่นจะมีหน้าที่ส่งยากเป็นหลัก แต่พอต้องทำงานในรพ.สนาม ซึ่งเป็นพื้นที่ติดเชื้อ หุ่นเข้าไปทำหน้าที่ขนส่ง สื่อสาร เจ้าหน้าที่ไม่ต้องใส่ชุด PPE เข้าไป ทำให้ประหยัดชุด ลดโอกาสเสี่ยง
- สะอาดบอท ฆ่าเชื้อ UVC
หุ่นที่เข้าไปทำงานทุกครั้ง จะมีตัว สะอาดบอท เป็นสเตชั่นปิดเพื่อให้หุ่นยนต์เข้ามาจอดและฆ่าเชื้อใช้รังสี UVC ที่ผ่านการพัฒนาและคำนวนมาแล้วฆ่าเชื้อหุ่นทั้งหมด มีการเปลี่ยนระบบการทำงานเพื่อให้เหมาะกับประเด็นความปลอดภัยเป็นหลัก ช่วยในการทำงานของเจ้าหน้าที่ และยกระดับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ส่งยา ส่งอาหาร แทนทีมบุคลากรด่านหน้า เดินดูแลผู้ป่วยได้ถึงเตียงแทนแพทย์ โดยควบคุมจากหน้าจอ สามารถสื่อสาร คุยกับผู้ป่วยได้
ขั้นตอนการทำงานลดลง ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากร เช่น ชุด PPE ลดการขาดตลาด ลดค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ไปกว่าครึ่ง รวมถึงเวลาที่แพทย์และเจ้าหน้าที่สามารถทำงานเฉพาะทางได้มากขึ้น ดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น รวมถึงผู้ป่วยเอง ก็รู้สึกตื่นเต้น เพราะมีหุ่นยนต์เดินมาและสื่อสารได้ มีหน้าจอ และมีหน้าหมออยู่ในนั้น ช่วยในด้านจิตใจได้ระดับหนึ่ง
“หุ่นยนต์จะทำงานอัตโนมัติ โดยระบบ AI ทุกครั้งที่ทำงานเสร็จจะกลับมาที่ตำแหน่ง Home เป็นแท่นชาร์ตอัตโนมัติ และออกไปเมื่อมีคำสั่ง ดังนั้น หุ่นยนต์ตัวนี้ไม่ต้องการคนดูแล ไม่ต้องพาไปแท่นชาร์ต เพราะเขาดูแลตัวเองได้ แต่หากแบตใกล้หมดจริงๆ จะขึ้นเตือนเลยว่าขอกลับไปชาร์ตแบตเพื่อให้พร้อมใช้งาน”
- ทำงานง่าย 3 สเต็ป
วิฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า ในการนำ เฮลท์ตี้บอท ไปช่วยใน รพ.สนาม ต้องมีการเทรนด์บุคลากรแต่ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะการทำงานมีเพียง 3 สเต็ป คือ สำรวจพื้นที่การใช้งาน ทำแผนที่โดยพาหุ่นไปรู้จักพื้นที่ และ Setting การใช้งาน สามารถทำจบภายในวันเดียว และอนาคตอยู่ระหว่างการพัฒนาโปรแกรม โดยไม่ต้องเอาหุ่นยนต์ไปทำแผนที่ เพียงนำแปลนพื้นที่อัพโหลดใส่หุ่นและคำนวนเอง การใช้งานง่ายมาก โดยสั่งงานจากหน้าจอคอม
“ในเวลานี้ใครที่มีศักยภาพและความสามารถต้องช่วยกัน อย่างเราถนัดเรื่องหุ่นยนต์อัจฉริยะ จึงมองว่าระบบอัตโนมัติน่าจะตอบโจทย์ ไม่ต้องดูแล สามารถกลับมาแท่นชาร์ตเองได้ แต่หากมีปัญหาสามารถปิดและเปิดใหม่ รวมถึงมีทีมวิศกรที่สามารถรีโมตมาเช็กหุ่นยนต์ได้ ไม่จำเป็นต้องลงไปพื้นที่”
สำหรับบทบาทของหุ่นยนต์ต่ออุตสาหกรรมการแพทย์ในอนาคต “วิฑูรย์” มองว่า มีความจำเป็นแน่นอน งานที่เป็นงานรูทีน ที่สามารถแบ่งเบาภาระจากเจ้าหน้าที่เฉพาะทางได้ เช่น ขนส่งเลือด เอกสาร ยา ให้หุ่นยนต์ทำดีกว่าและบุคลากรทุกท่านจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น
- โควิด-19 ผลักดันเทคโนโลยี
เนื่องจากเราพัฒนาหุ่นยนต์มาตั้งแต่ปี 2019 ก่อนโควิดจะมา แต่พอโควิดมาเหมือนทุกอย่างถูกบีบมาให้นำทรัพยากรมาใช้เป็นการก้าวกระโดดของเทคโนโลยี มองว่าตอนนี้เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสได้ใช้ก็เห็นความสำคัญว่ามีประโยชน์และใช้งานได้จริง ดังนั้น อนาคตจะต้องถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เพราะตอนนี้ ไม่เพียงแค่ในรพ.เอกชนเท่านั้น แต่ รพ.รัฐ ก็นำหุ่นยนต์ไปใช้เช่นกัน ทุก รพ.สามารถเข้าถึงได้ เทคโนโลยีสูงขึ้น ต้นทุนถูกลง
“ปัจจุบัน มีการพัฒนาหุ่นยนต์เทเลเมดิซีนเฉพาะทาง และเพิ่มศักยภาพหุ่นยนต์ขนส่งอาหาร ส่งยา เช่น สามารถขึ้นลิฟต์เองได้ เรียกลิฟต์แบบไร้สาย สามารถสแกนภายในลิฟต์ว่าว่างหรือไม่ หุ่นไม่มีทางหลงชั้นแน่นอน ประเด็นสำคัญคือ สามารถโดยสารลิฟต์กับบุคคลทั่วไปได้ไม่จำเป็นต้องเป็นลิฟต์เฉพาะ ซึ่งขณะนี้มีติดตั้งแล้วที่ รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ มีทั้งหมด 3 ตัว อยู่ระหว่างพัฒนาเพิ่มอีก 2 ตัว และอยู่ระหว่างติดตั้งที่ รพ.วัฒนแพทย์ อ่าวนาง จ.กระบี่ ใช้ในการขนส่งแล็บ”
“ในช่วงวิกฤติโควิดที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า มีการล็อกดาวน์ มีเคอร์ฟิว แต่หุ่นยนต์สามารถทำงานได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง จึงจำเป็นต้องมีระบบเหล่านี้ เจ้าหน้าที่พยาบาล แพทย์ค่อนข้างตอบรับดี ออกเวรไปแล้ว ก็ยังมีหุ่นยนต์สามารถทำงานต่อได้ โดยมีเพียงคนที่คอยมอนิเตอร์” วิฑูรย์ กล่าว