เรื่องของ'ไก่บ้าน' ที่ไม่ได้มีแค่ไก่
เคยคำนวณไหมว่า ปีหนึ่งคุณกินไก่กี่ตัว มีโอกาสกิน "ไก่บ้าน" บ้างไหม แล้วทำไมชีวิตมีทางเลือกน้อยมาก และนี่คือเรื่องของ "ไก่" ที่ไม่ได้มีแค่ไก่
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก รายงานไว้ว่า ในแต่ละปีไก่กว่า 6 หมื่นล้านตัวทั่วโลกถูกเลี้ยงเพื่อการบริโภค โดย 2 ใน 3 ถูกเลี้ยงในระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และมีไก่จำนวนน้อยมากได้รับการเลี้ยงดูโดยคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์เป็นหัวใจสำคัญ
ว่ากันว่า 90% ของไก่ที่บริโภคเป็น ไก่เนื้อ โดยส่วนประกอบหลักของอาหารไก่ ก็คือ ข้าวโพด ซึ่งปลูกในพื้นที่ป่ากว่า 50 % และมีข้อมูลอีกว่า ถ้าไก่หนักหนึ่งกิโลกรัมจะกินข้าวโพดประมาณ 800 กรัม
นอกจากนี้อุตสาหกรรมไก่เนื้อ ยังมีทั้งเรื่องการฉีดวัคซีน ยาปฏิชีวนะ ยาเร่งการเติบโต ฯลฯ เพื่อทำให้ไก่เติบโตเร็ว อกโต น่องใหญ่
โครงการกินเปลี่ยนโลก ระบุเกณฑ์ที่ไก่จะเจริญเติบโตได้ดีไว้ว่า อัตราแลกเนื้อที่ 1.64-1.66 กก. ก็คือ ให้อาหารไก่ไป 1.64 กก.ไก่ต้องได้น้ำหนัก 1 กก.
นอกจากนี้ไก่เนื้อยังมีหลายสายพันธุ์ ทั้งพันธุ์อาเบอร์เอเคอร์ พันธุ์คอป พันธุ์รอส โดยไก่พวกนี้จะมีขนสีขาว เป็นสายพันธุ์ที่พัฒนามาให้โตเร็ว เลี้ยงแค่ 35 วัน ก็ได้น้ำหนักสองกิโลกรัมกว่าๆ
ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มกินเปลี่ยนโลก ได้จัดเสวนาออนไลน์เรื่อง “ใครว่าเป็นแค่เรื่องไก่ ตอนนี้เราล้วนเป็นผู้ประสบภัย COVID19 ” คุยกันเรื่อง เมนูอาหารจากไก่บ้านของเชฟหลายคน และเล่าถึงการเลี้ยงไก่ และ การกินไก่
กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากโครงการกินเปลี่ยนโลก เล่าถึง ที่มาที่ไปกระบวนการกินไก่และเลี้ยงไก่ว่า เนื่องจากมูลนิธิชีววิถี ร่วมกับ อ๊อกแฟมประเทศไทย ทำเรื่องห่วงโซ่อาหารยั่งยืนมานาน ล่าสุดเน้นเรื่องที่เกี่ยวกับไก่
"การเลือกว่า เราจะกินไก่แบบไหน มีส่วนทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมลดลง เพราะอาหารไก่มาจากข้าวโพด 80%มาจากการเพาะปลูกในพื้นที่สูงในภาคเหนือ และมีการเผาพื้นที่ เกิดควันส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ใช้วัตถุดิบที่ทำอาหารสัตว์จากการเผาพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ จึงสร้างกิจกรรมทางเลือกให้คนหันมาไก่ออร์แกนิค และไก่พืันบ้าน ฯลฯ
ถ้าเรากินไก่พื้นบ้าน ไก่ออร์แกนิค เราก็ไม่ต้องกินไก่ 29 กิโลกรัมต่อปี กินแค่ครึ่งเดียว ค่าใช้จ่ายพอๆ กัน แต่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อม มีส่วนในการสร้างความเป็นธรรมในห่วงโซ่อาหารมากขึ้น จึงอยากให้คนรู้จักไก่พื้นบ้านมากขึ้น ”
เลือกกินไก่แบบไหน ช่วยลดภาระโลก
ข้อมูลจากกลุ่มกินเปลี่ยนโลก อุตสาหกรรมไก่เนื้อใช้เวลาเลี้ยง 40-45 วัน แต่ละตัวจะมีน้ำหนักเฉลี่ย 2.5 กิโลกรัม เลี้ยงในโรงเรือนขนาดใหญ่กว่าหมื่นตัว แน่นและแออัด
การเลี้ยงลักษณะนี้ผูกกับบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งทำทั้งกระบวนการ ตั้งแต่พันธุ์ไก่ อาหาร วัคซีน ยารักษาโรค พร้อมจับไปเชือดแปรรูปขายเสร็จสรรพ
อาหารที่บริษัทจัดหามาก็จะเป็นสูตรหนึ่ง สูตรสอง สูตรสาม เปลี่ยนไปตามอายุไก่ ซึ่งไก่เนื้อตัวขาวๆ จะอกโต น่องใหญ่ แต่เวลาวางขายจะแยกชิ้นส่วนแล้วเป็น อก สะโพก น่อง ปีก
ส่วนไก่ไข่ปลดระวาง เวลาวางขายในตลาดจะดูเหมือนไก่บ้าน หนังหนาวาว ๆ ออกเหลืองๆ ส่วนใหญ่เป็นแม่ไก่ไข่อายุเกินสิบแปดเดือนถึงสองปีที่ไม่ค่อยจะไข่แล้ว ปลดประจำการมาเชือดขาย
ไก่ประเภทนี้ เนื้อเหนียวกว่าไก่บ้าน เหมาะสำหรับคนฟันแข็งแรง หรือทำเมนูต้มตุ๋นนานๆ บางทีก็มาในรูปแบบไก่บ้านต้มน้ำปลา สิ่งที่แตกต่างระหว่างไก่บ้านกับไก่ไข่ปลดระวาง นอกจากตัวโตๆ อวบๆ เนื้อเยอะๆ แล้วราคายังไม่แพง
ส่วนไก่บ้าน ก็คือ ไก่พันธุ์พื้นเมือง มีอยู่ 4 พันธุ์ใหญ่ๆ คือ ไก่อูหรือไก่ชน ไก่แจ้ ไก่ตะเภา และไก่ลูกผสมหรือไก่กลายพันธุ์ ผสมสองสามสายพันธุ์ แล้วแต่เกษตรกรแต่ละพื้้นที่
ไก่แบบนี้ในท้องตลาดจะมีสองสามแบบ ไก่บ้านที่เลี้ยงแบบไก่เนื้อ คนเลี้ยงก็จะบำรุงอาหารให้เพียงพอ เช่น อาหารข้น : ข้าวโพดบด ผสมถั่วเหลือง ข้าว เปลือกไข่ ปลาป่น ผสมกับอาหารหยาบ เช่น หญ้าอิสราเอล หยวกหมัก เป็นต้น ผสมกับปล่อยไก่ให้คุ้ยเขี่ยหาอาหารเอง ได้ออกกำลังกายไม่แออัด
ไก่พวกนี้จะเลี้ยงกันประมาณ 120 วัน ก็จับขายได้ น้ำหนักเฉลี่ยประมาณตัวละ 1.2 -1.5 กก.
ส่วนอีกประเภทเป็นไก่บ้านเลี้ยงปล่อยกึ่งธรรมชาติ คือ ปล่อยให้ไก่หาอาหารเอง หว่านรำ หว่านข้าวเปลือก เศษอาหารไปตามเรื่อง ไก่พวกนี้ก็จะโตช้า กว่าจะมีน้ำหนักพอได้กินอาจเกินห้าเดือน เนื้อน้อยกว่าและอาจเหนียวบ้าง
ไก่บ้านเนื้อเหนียวแค่ไหน
การเลี้ยงไก่บ้านต้องใช้ทั้งความใส่ใจและความปราณีต จึงไม่สามารถทำเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
เกียรติศักดิ์ ฉัตร์ดี เจ้าของเกียรติไก่บ้าน บอกว่า หลายคนกินไก่บ้านแล้วบอกว่าเนื้อเหนี่ยว เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับอายุผู้บริโภค ไก่บ้านที่เนื้อไม่เหนียวจะมีการปรับปรุงสายพันธุ์
“ผมเองเลี้ยงไก่สายพันธุ์พม่าผสมสายพันธุ์พื้นบ้าน เลี้ยง120 วัน น้ำหนักเฉลี่ย 1.3-1.5 กิโลกรัม ระยะเวลาสี่เดือนไก่ตัวเมียจะน้ำหนักตัวจะน้อยกว่าไก่ตัวผู้”
กระบวนการเลี้ยงไก่บ้านของ เกียรติศักดิ์ จะผลิตอาหารไก่เอง มีทั้งข้าวโพดพันธุ์พื้นเมือง ถั่วเหลือง หญ้าหวานอิสราเอล ทำเป็นอาหารเสริม และข้าวพันธุ์สันป่าตอง
"ผมเลี้ยงไก่ไม่เยอะ มีพื้นที่ให้ไก่เดินเล่น มีร่องน้ำให้ไก่เล่น มีแมลงให้จับกินอย่างมีความสุข ผมไม่ต้องให้ยาไก่ เพราะมันไม่ป่วย สายพันธุ์ที่ผมเลี้ยงเคยเลี้ยงในหมู่บ้านมาร้อยกว่าปี มีการปรับสภาพและมีภูมิคุ้มกัน
เคยลองเลี้ยงไก่กลุ่มหนึ่งฉีดวัคซีน อีกกลุ่มไม่ฉีดวัคซีน ผลที่ออกมาไม่แตกต่างกัน 4-5 ปีที่ผ่านมา จึงไม่ใช้วัคซีนหรือยาเลย ผมเลี้ยงประมาณ 500-600 ตัว ส่งตามออเดอร์ไม่เกิน 50 ตัวต่อเดือน เพราะมีพื้นที่ปลูกพืช เลี้ยงไก่แค่สามไร่ พื้นที่ผมเลี้ยงได้ไม่เกิน 800 ตัวต่อปี
ผมให้กินไก่กินหยวกหมักด้วย ช่วยเรื่องลำไส้ เพราะส่วนใหญ่ไก่มักเป็นโรคเกี่ยวกับลำไส้และการหายใจ ก็เลยให้กินพวกจุลินทรีย์ อาหารสัตว์จะมีปลาป่นเพิ่มปริมาณโปรตีนแค่ 5%
และเคยมีคนถามว่าทำไมไม่เอาไก่พื้นบ้านพันธุ์นี้ไปให้เพื่อนที่อื่นเลี้ยง เราพบว่า ไก่แต่ละสายพันธุ์เหมาะกับบางพื้นที่ เคยเอาลูกไก่ไปให้เพื่อนบ้านเลี้ยงต่างพื้นที่พบว่าอ่อนแอลง แต่ละสายพันธุ์มีความต้องการอาหารต่างกัน"
ธุรกิจเล็กๆ ของเกียรติศักดิ์ ทำแบบพอเพียงพอกิน มีกำไรไม่มาก
"ผู้บริโภคต้องได้กินอาหารที่เป็นธรรมและเข้าถึงได้ ผมขายไก่บ้านกิโลกรัมละ 210 บาท มีต้นทุนอาหารกิโลกรัมละ 90-100 บาท และมีต้นทุนแรงงานผม ภรรยา พ่อและแม่ รวมถึงอื่นๆ อีก"
.........................
ฟาร์มเล็กๆ ไก่บ้าน
-แทนคุณออร์แกนิคฟาร์ม นครปฐม (เฟซบุ๊ก : แทนคุณ ออร์แกนิค)
-เกียรติไก่บ้าน เชียงใหม่ (เฟซบุ๊ก : เกียรติไก่บ้าน /โทร : 085 709 8035 )
-เพชรอันนาฟาร์ม จ.นครสวรรค์ (โทร/ไลน์ 0816884443)
-ไก่บ้านคุณสายฝนจ.บึงกาฬ เบอร์ 085-2681288 เฟซบุ๊ก :ตลาดบ้านป่า peasant market