เปิดผลวิจัย'วัคซีนโควิด'สู้'เดลตา'จริงแบบเป็นๆ
กรมวิทย์เปิดผลวิจัยระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนไขว้-บูสเตอร์ พบสูงกว่าสูตรปกติ 3-10เท่า ส่วนสู้'เดลตา'ตัวเป็นๆจัดการได้ 50 % ภูมิสูตรไขว้สูสีกับแอสตร้าฯ 2 เข็ม ขณะที่บูสเข็ม 3ด้วยแอสตร้าฯ พุ่งสูงขึ้นกว่า 10 เท่า ส่วนบูสไฟเซอร์รู้อีก1เดือน
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 19 สิงหาคม 2564 ในการแถลงข่าว ประเด็น ภูมิคุ้มกันเมื่อฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ โดยนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยมีโปรแกรมการฉีดวัคซีนในประเทศไทย โดยการฉีดวัคซีน ซิโนแวค 2 เข็ม ห่างกัน 3สัปดาห์ จากนั้นมีการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มห่างกัน 8-12 สัปดาห์ ระหว่างที่ดำเนินการมามีข้อมูลว่าถ้ามีการฉีดวัคซีนไขว้เป็นวัคซีนต่างรูปแบบหรือแพลตฟอร์ม เช่น ชนิดเชื้อตาย และไวรัลแว็กเตอร์ ภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงมากน้อยแค่ไหนอย่างไร
สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงร่วมกับศิริราช ได้ทำการวิจัยภูมิคุ้มกันวัคซีนสลับและวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ต่อไวรัสสายพันธุ์เดลตา ซึ่งเป็นการวัดภูมิฯที่เรียกว่า Anti-S RBD เป็นภูมิฯโดยภาพรวม ที่ดำเนินการหลังจากมีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 หรือ 3 แล้ว 2 สัปดาห์ เพื่อดูว่าภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนขึ้นมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ภุมิฯที่ขึ้นเป็นค่าที่ตรวจที่ห้องปฏิบัติการ(ห้องแล็ป)ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อเปรียบเทียบระหว่างสูตรของการฉีดวัคซีน โดยมีอาสาสมัคร 125 รายเป็นชาย 61 หญิง 64 ราย อายุเฉลี่ย 40 ปี(18-60ปี)
ผลพบว่า การฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ไตเตอร์ภูมิคุ้มกันค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 117(58,204) แอสตร้าฯ 2 เข็ม ค่าเฉลี่ย 207(123,338) ฉีดซิโนแวคเข็มแรกและแอสตร้าฯเข็มที่ 2 อยู่ที่ 716(399,1127) ซึ่งจะเห็นว่าจะมีความกว้างของระดับภูมิอยู่เพราะแต่ละคนไม่ได้ภูมิขึ้นเท่ากันทุกคนขึ้นกับปฏิกิริยาแต่ละคนที่มีปัจจัยต่างๆมากมาย เพียงแต่ค่ากลางที่นำมาใช้ คือ 716 เพราะฉะนั้นสูงกว่า ซิโนแวค 2 เข็ม ประมาณ6 เท่ากว่า และสูงกว่าแอสตร้าฯ 2 เข็ม ประมาณ 3 เท่ากว่า และการฉีดบูสเตอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์ด้วยแอสตร้าฯเป็นเข็มที่ 3 หลังฉีดซิโนแวค 2 เข็ม อยู่ที่ 1,700 สูงกว่าซิโนแวค 2 เข็ม 10 เท่ากว่า
“เป็นสิ่งที่ยืนยันให้ความมั่นใจว่าภูมิที่ขึ้นมีมากพอ ที่จะป้องกันเชื้อขณะนี้ที่มีการกลายพันธุ์และต้องการภุมิสูง อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลของผู้ที่บูสเตอร์ด้วยไฟเซอร์ เนื่องจากประเทศไทยเพิ่งมีการฉีด และในอนาคตจะต้องมีการนำมาตรวจประเมินกันต่อไป หลังจากที่ฉีดครบ 2 เข็ม และฉีดเข็มที่ 3 แล้ว 14 สัปดาห์ คาดว่าอีกราว 1 เดือนจะทราบผล นอกจากนี้ ผลการติดตามผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนสลับชนิดแบบซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ ทั้งการฉีด 2 เข็มและแอสตร้าฯเป็นเข็มที่ 3 นั้น ผลข้างเคียง ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากการฉีดแอสตร้าฯ จะทำให้มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ง่วงซึม แสดงว่าที่มีการฉีดไปจำนวนมากพอสมควรไม่ได้มีอาการผิดปกติร้ายแรง หมายความว่าการฉีดสลับชนิดแบบนี้และฉีดบูสด้วยแอสตร้าฯนั้นมีความปลอดภัย”นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า กรมยังได้มีการวิจัยที่ต้องทำในห้องแล็ปที่มีความปลอดภัยที่ไบโอเซฟตีระดับ 3 คือ จัดการกับเชื้อไวรัสเป็นๆได้ ซึ่งกรมได้ดำเนินการทดสอบเรื่องนี้มาโดยตลอด ทำให้เห็นว่า เอาไวรัสเป็นๆทั้งสายพันธุ์เดลตา เบตา อัลฟา และดั้งเดิมที่ใช้ทำวัคซีนเอามาตรวจ ก็จะเห็นว่า ภูมิที่อยู่ในร่างกายสามารถจัดการเชื้อเหล่านั้นได้มากน้อยแค่ไหน
เรียกว่าวิธี Plaque Reduction Neutralization Test โดยจะอาน้ำเลือดหรือซีรั่มของผู้ที่ฉีดวัคซีนสูตรต่างๆ มาเจือจางลงไปเรื่อยๆและเพาะเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ต้องการทดสอบแล้วเอามาเจอกัน ซึ่งได้เจือจางจนกระทั่งระดับสุดท้ายที่จะทำให้ลดหรือกำจัดเชื้อไวรัสได้ครึ่งหนึ่ง หรือ 50 % ก็เป็นอันยุติเป็นตัวสุดท้ายที่เอามาแสดง ถ้าต่ำกว่านี้จะไม่รับแล้ว เช่น ถ้าไตเตอร์ภูมิเท่ากับ 40 แปลว่าเจือจางซีรั่มไป 40 เท่าแล้วยังกำจัดเชื้อไวรัสไปได้ 50 % เพราะฉะนั้น ค่านี้ยิ่งสูงจะยิ่งดี เพราะแม้เจือจางไปเป็นร้อยเท่า พันเท่า ยังกำจัดเชื้อไวรัสได้ครึ่งหนึ่งเช่นกัน
ผลสู้'เดลตา'จริงแบบเป็นๆ
งานวิจัยนี้เป็นการทดสอบกับเชื้อไวรัสเดลตาจริงๆที่ยังเป็นๆอยู่เป็นวิธีมาตรฐาน จะเห็นว่าในอาสาสมัครที่ตรวจซีรั่มแต่ละรายมีปฏิกิริยาตอบสนองและเกิดภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตาที่ขณะนี้ระบาดในประเทศไทย 90 % โดยงานวิจัยนี้เทียบเส้นการเจือจางที่ 10 เท่าซึ่งยังกำจัดไวรัสได้ 50 % เพราะฉะนั้น ถ้าเกินเส้น 10 เท่าขึ้นไปแสดงว่ายังต่อสู้กับไวรัสได้ แต่ถ้าเกินไปมาก แสดงว่าแม้เจือจางมากแล้วยังจัดการไวรัสได้ถือว่าวิเศษมาก และภูมิเหล่านี้โดยธรรมชาติเมื่อเวลาผ่านไปก็จะค่อยๆลดลงแต่ยังตอบไม่ได้ในงานวิจัยนี้ว่าใช้เวลานานเท่าไหร่
ผลที่เกิดขึ้น กรณีฉีด 2 เข็ม เมื่อฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ค่าเฉลี่ย 24.28 แสดงว่าใช้ได้ในการกำจัดเชื้อไวรัสในหลอดทดลอง ฉีดแอสตร้าฯและตามด้วยซิโนแวคเป็นเข็มที่ 2 ค่าเฉลี่ย 25.84 จะเห็นว่าไม่แตกต่างมากนักกับฉีดซิโนแวค 2 เข็มฉะนั้นการสลับสูตรแบบนี้ไม่ได้มีความหมายอะไร ส่วนฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็มค่าเฉลี่ย 76.52 หมายความว่าขนาดเจือจางไป 76 เท่าก็ยังสู้จัดการเดลตาได้ครึ่งหนึ่ง ขณะที่ฉีดสลับสูตร ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯเข็มที่ 2 เป็นมาตรการสำคัญที่ใช้อยู่ตอนนี้ ค่าเฉลี่ย 78.64
“หมายความสูตรสลับนี้สูสีหรือเหนือว่าฉีดแบบแอสตร้าฯ 2 เข็มอยู่บ้างในการจัดการเดลตาได้ครึ่งหนึ่ง แต่หากดูภูมิภาพรวมก่อนหน้าจะพบว่าการฉีดสลับซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯขึ้นสูงกว่าฉีดแอสตร้าฯ 2เข็ม 3 เท่า แต่ในการจัดการเดลตาโดยเฉพาะ พอๆกัน เพราะฉะนั้นการฉีดสลับชนิดนั้น ภูมิขึ้นสู้เดลตาได้ดีมากพอควร แต่มีข้อได้เปรียบคือใช้เวลา 2 เข็มห่างกัน แค่ 3 สัปดาห์ จึงมีประโยชน์แง่ที่ภูมิขึ้นสูง และระยะเวลาภูมิขึ้นสูงเร็วขึ้น จากที่ฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม ต้องใช้เวลาฉีดก่างกันอย่างน้อย 8-12 สัปดาห์ ดังนั้น สูตรไขว้นี้ก็น่าจะเป็นสูตรที่ถูก “นพ.ศุภกิจกล่าว
กรณีฉีดบูสเตอร์เข็มที่ 3 เมื่อฉีดซิโนแวค 2 เข็ม แล้วตามด้วยซิโนฟาร์มแต่มีข้อจำกัดคือมีอาสาสมัครเพียง 14 ราย พบค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 61.27 ซึ่งอาจเป็นเพราะซิโนแวคและซิโนฟาร์มเป็นรูปแบบวัคซีนคล้ายกันคือเป็นชนิดเชื้อตาย อาจทำให้การกระตุ้นไม่ได้สูงปรี้ดปร้าดมากนัก
และการฉีดแอสตร้าฯเป็นเข็ม 3 พบว่าสู้กับเดลตาได้ดีมาก ค่าเฉลี่ย 271 หมายความว่าเจือจาง 271 เท่ายังสามารถจัดการเชื้อเดลตาได้ 50 % ซึ่งมากกว่าฉีดซิโนแวค 2 เข็มกว่า 10 เท่า ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดด้วยแอสตร้าฯได้มั่นใจว่า ขณะนี้ภูมิในร่างกายสามารถกำจัดเดลตาได้ดีมากทีเดียว ส่วนกรณีบูสเข็ม 3 ด้วยไฟเซอร์ยังไม่มีข้อมูล เพราะเพิ่งมีการฉีดจะต้องรอให้ฉีดแล้ว 2 สัปดาห์ก็จะมีการหาอาสาสมัครมาวิจัยต่อไป
นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า โดยสรุป 1.คนที่ฉีดสลับสูตร ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ จะให้ภูมิคุ้มกันต่อเดลตาดีพอๆกับการฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม แต่ข้อเด่นคือระยะเวลาภูมิขึ้นสั้นลง ใช้เวลา 5 สัปดาห์หลังฉีดเข็มแรก 2.ไม่แนะนำให้ฉีดแอสตร้าฯตามด้วยซิโนแวค เพราะว่าไม่ได้มีความแตกต่างกับการฉีดซิโนแวค 2 เข็มเดิม แต่ถ้าเหตุผลเรื่องการแพ้ไม่เป็นไร 3.การฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯหลังได้รับซิโนแวค 2 เข็มสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมากกับสายพันธุ์เดลตา และ4.การฉีดกระตุ้นด้วยซิโนฟาร์ม หลังได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มภูมิสูงขึ้นแต่ยังน้อยกว่ากระตุ้นด้วยวัคซีนต่างชนิด แต่จำนวนอาสาสมัครอาจจะมีแค่ 14 รายจะเพิ่มจำนวนอีก เพื่อให้มั่นใจมากขึ้น ส่วนการสู้สายพันธุ์เบตา ที่ระบาดในภาคใต้ค่อนข้างจำกัดวง ก็จะทำต่อไป เพื่อลองดูว่า บูสเข็ม 3 แล้วจัดการเชื้อเบตาได้แค่ไหน ขณะนี้มีข้อมูลอยู่บ้างแต่จำนวนยังน้อย ขอให้รออีกระยะจะนำผลมารายวาน
“งานวิจัยนี้แสดงว่าระดับภูมิทั่วไปที่สูงสอดคล้องกับภูมิที่จัดการกับเดลตาได้ครึ่งหนึ่งสูงด้วยเป็นไปในทิศทางเดียวกันเช่นนั้น แต่ก็ยังมีกรณีที่ฉีดไขว้ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯที่ภูมิทั่วไปขึ้นสูงกว่าแอสตร้าฯ 2 เข็มแต่ภูมิที่สู้เดลตากลับสูสีกัน แต่ข้อดีคือฉีดไขว้ใช้เวลาที่ภูมิขึ้นเร็วกว่า อย่างไรก็ตาม การที่ภูมิขึ้นมาแค่ไหน ภูมิคุ้มกันในน้ำเลือดนี้ ไม่ได้เป็นกลไกเดียวของร่างกาย ในการป้องกันตัวเองจากเชื้อโรค ยังมีอันอื่นที่งานวิจัยนี้ไม่ได้วัดอีก เพราะฉะนั้นภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนยังมีประโยชน์ ซึ่งในการใช้จริงแสดงว่าซิโนแวค 2เข็ม ยังป้องกันติดเชื้อได้ 72 % และป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ 98 % ซึ่งข้อมูลจากการใช้จริงเป็นการวัดประสิทธิผลและข้อมูลในห้องแล็ปเป็นการวัดประสิทธิภาพ ที่ต้องทำเพื่อประสานกัน”นพ.ศุภกิจกล่าว
ศึกษาวิธีฉีดเข้าผิวหนังแทนกล้ามเนื้อ
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกด้วยว่า ขณะนี้กำลังมีการวิจัยกรณีการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังแทนฉีดเข้ากล้ามเนื้อตามที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากประสบการณ์จากการฉีดวัคซีนชนิดอื่น เมื่อฉีดเข้าชั้นผิวหนังจะใช้วัคซีนเพียง 25 % กระตุ้นภูมิได้สูงกว่าฉีดเข้ากล้ามเนื้อที่ต้องใช้วัคซีน 100 % หากวิจัยนี้สำเร็จก็จะเพิ่มจำนวคนที่จะได้รับวัคซีนขึ้น 4-5เท่า โดยใช้วัคซีนจำนวนเท่าเดิม และจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารวัคซีนอย่างมาก แต่ต้องรอผลงานวิจัยเพราะการจะดำเนินการอะไรจะต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ต่อเรื่องนั้น ก็จะเร่งมือดำเนินการศึกษาต่อไป