เมื่อติดโควิด-19 จะรับ ATK- ยาฟรี @ ‘ร้านขายยา’ ได้อะไรบ้าง?

เมื่อติดโควิด-19 จะรับ ATK- ยาฟรี @ ‘ร้านขายยา’ ได้อะไรบ้าง?

ถึงแม้ว่าภาครัฐจะประกาศชัดเจนว่าจะไม่เห็นภาพของผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตที่บ้าน หรือตามท้องถนน แต่ในความเป็นจริงนั้น กลับพบอยู่ทุกวัน และปัญหาหลักที่ทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 ไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันถ่วงที 'ร้านขายยา'อาจจะเป็นหนึ่งทางออก

แม้จะมีมาตรการ Home Isolation (HI) หรือ Community Isolation (CI)แนวทางในการแก้ปัญหาเตียงเต็มในโรงพยาบาล ให้ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวแยกกันตัวที่บ้าน แยกกันตัวที่ชุมชน เนื่องด้วยไม่สามารถเข้าถึงยารักษาได้

ทั้งที่ทุกหน่วยงานทางการแพทย์ต่างยืนยันว่า หากผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับ ‘ยารักษา’ เร็วที่สุดจะช่วยบรรเทาอาการไม่ให้จากผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว กลายเป็นผู้ป่วยอาการหนักกลุ่มสีเหลือง หรือสีแดง แต่ด้วยระบบการจัดส่งยา  โดยเฉพาะ ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ ยาหลักในการต้านโควิด-19 กว่าจะถึงมือผู้ป่วยโควิด บางทีก็สายไปเสียแล้ว

  • ใช้ไรเดอร์ จัดส่งยาถึงผู้ป่วยโควิด

จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 6 สังกัด ที่ทางกรมการแพทย์จะจัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์ให้ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 ในกลุ่ม  HI และCI ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายยา เพื่อให้ถึงมือผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด

162962868010

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  กล่าวว่า สปสช ไม่ได้มีบทบาทในการกระจายยา แต่หน่วยบริการทั้งหมดต่างหากที่ต้องเป็นผู้จ่ายยาให้ผู้ป่วย แต่เนื่องจากหน่วยบริการหลายแห่ง ระบบการเบิกจ่ายไปถึงกรมการแพทย์ไปถึง สธ อาจจะยังไม่คล่องตัว หรือยังมีระบบราชการอยู่ สปสช. จึงช่วยประสานให้มันเกิดความคล่องแคล่วขึ้น เมื่อคล่องขึ้น สปสช. ก็จะส่งถ่ายหรือกระจายตรงนี้ไปยังหน่วยบริการ

สปสช.ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียว HI ยังมีผู้ติดเชื้อส่วนหนึ่งที่อยู่ระหว่างรอการลงทะเบียนกับหน่วยบริการ ทำให้ยังไม่ได้รับการดูแล หากมีการอาการขยับสู่กลุ่มอาการสีเหลืองและสีแดง และโทรมาที่สายด่วน สปสช. 1330 เมื่อเจ้าหน้าที่ประเมินอาการตามเกณฑ์และจะจัด ยาฟาวิพิราเวียร์ ให้กับผู้ติดเชื้อโดยเร็ว ซึ่งที่ผ่านมาใช้วิธีส่งยาให้ผู้ติดเชื้อหลายรูปแบบ อาทิ ส่งพัสดุไปรษณีย์ ส่งยาผ่านหน่วยงานต่าง ๆ หรือมีผู้มารับยาเพื่อส่งต่อให้กับผู้ติดเชื้อ เป็นต้น

162962869859

“บางครั้งการจัดส่งอาจเกิดความล่าช้าและไม่สะดวกกับผู้ติดเชื้อที่รอรับยา ล่าสุด สปสช. จึงได้รับความร่วมมือจากธนาคารออมสินจัดส่งไรเดอร์ (Rider) มาร่วมบริการส่งยาให้กับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ติดเชื้อได้รับยารักษาโดยสะดวกและรวดเร็วขึ้น ช่วยยับยั้งภาวะรุนแรงของโรคและการเสียชีวิตได้” นพ.จเด็จ กล่าว

  • สปสช.ซื้อ ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’เพิ่ม 27 ล้านเม็ด

นอกจากนั้น ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา สปสช. ได้ช่วยกระจายยาฟาวิพิราเวียร์ไปแล้วหลายแสนเม็ด และตอนนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 อีกจำนวนมากยังไม่ได้รับยา ซึ่งทางสธ. มีแผนจัดซื้อ ณ เดือน ก.ย. 2564 จำนวน 40 ล้านเม็ด ซึ่งคาดว่าอาจไม่เพียงพอกับปริมาณความต้องการใช้ยา

ในส่วนนี้ สปสช. จึงเสนอขอเตรียมงบประมาณเพื่อจัดซื้อไว้จำนวนไม่เกิน 27 ล้านเม็ด ในวงเงิน 891 ล้านบาท โดยจะเพิ่มรายการในแผนการจัดหา เพื่อให้เครือข่ายหน่วยบริการด้านยาและเวชภัณฑ์โรงพยาบาลราชวิถี จัดหาเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วนในปี 2564 และต่อเนื่องไปปี 2565

162962795422

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาปัญหาหลักของ ‘ยารักษาโควิด-19’ ตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องของการขาดแคลนเหมือนกับวัคซีน แต่เป็นเรื่องของการจัดส่งยาจากต้นทางไปถึงผู้ป่วยโควิด-19  มติบอร์ด สปสช. จึงได้มีแนวทางการให้ ‘ร้านขายยา’ เข้ามาเป็นจุดกระจายทั้งยา และชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ฟรี 8.5 ล้านชิ้นให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ ซึ่งทาง ‘สภาเภสัชกรรม’ ก็รับลูกเรื่องนี้ทันที

  • กระจาย ‘ATK’ ให้ร้านขายยาแจกจ่ายฟรี

ศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ร้านขายยาที่จะเป็นจุดกระจายชุดตรวจ ATK นั้นจะต้องเป็นร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ขย1) ที่มีเภสัชกรประจำตลอดเวลาทำการ และต้องเปิดทำการอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวันรวมไปถึงต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ด้วย  

ร้านขายยาประเภท ขย 1 ทั่วประเทศมีอยู่ประมาณหลักหมื่นร้าน โดยขณะนี้มี ร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 1,000 ร้าน และกำลังทยอยเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งก็จะพยายามประชาสัมพันธ์ให้ร้านขายยาเข้ามาร่วมโครงการ

162962874351

รศ.ภญ.จิราพร กล่าวต่อว่า สำหรับประชาชนที่จะได้รับชุดตรวจ ATK จะต้องเป็นประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น ครอบครัวมีผู้ติดเชื้อ หรือเดินทางไปในที่ที่มีผู้ติดเชื้อ รวมไปถึงผู้ที่มีอาการคล้าย โรคโควิด-19 เช่น ไอ มีไข้ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยงเราไม่ได้อยากให้ออกมาเดินกับผู้อื่น เนื่องจากเมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยงก็ควรจะต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้าน ฉะนั้น สปสช. จึงมีระบบสำหรับกลุ่มเสี่ยงเพื่อขึ้นทะเบียนก่อน

เมื่อขึ้นทะเบียนเสร็จสิ้น สปสช. จะแจกจ่ายรายชื่อไปตามร้านยาใกล้บ้าน หรือตามความจำนงของผู้ที่ได้ลงทะเบียนไว้ โดยร้านขายยาจะติดต่อไปยังกลุ่มเสี่ยงเพื่อซักถามอาการ หรือข้อมูลเพื่อยืนยันว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงจริงผ่านทางโทรศัพท์ หรือไลน์แอพพลิเคชั่น จากนั้นจะดำเนินการส่ง ชุดตรวจ ATK ไปให้ที่บ้าน พร้อมคำแนะนำและอธิบายให้เข้าใจถึงวิธีการ ตรวจโควิด-19 ด้วยตนเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: สปสช.เปิดเว็บไซต์ ป่วยโควิด ลงทะเบียน 'ดูแลที่บ้าน' -ชุมชน

                   สธ.-สปสช. จัดระบบรองรับการแจก 'ATK' ให้ ปชช.ตรวจโควิดด้วยตัวเอง

                   สภาเภสัชกรรม เตรียมแนวทางร้านยาแจก ATK ปชช. ตรวจเองที่บ้าน

  • ‘ร้านขายยา’ จ่ายยาให้ผู้ป่วยโควิด HI ได้

เช่นเดียวกับ การกระจายยา เพื่อให้เข้าถึงผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2564 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา แพร่ประกาศสภาเภสัชกรรม ที่ 56/2564 เรื่อง แนวทางการให้บริการยาฟาวิพิราเวียร์ และยาจำเป็นแก่ผู้ป่วยที่มีผลตรวจเป็นบวกด้วยชุดตรวจสำหรับโควิด-19 ประเภท Antigen Test Kits แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen Self-Test Kits) หรือ ATK โดยกำหนดขั้นตอนเภสัชกรชุมชน ประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิดหรือผู้สงสัยติดเชื้อเพื่อคัดกรองเบื้องต้นว่าควรได้รับการตรวจ และเป็นผู้จ่าย ATK

รวมถึงประกาศรายการยาสำหรับ Home Isolation ประกอบด้วยรายการยาจำเป็นสำหรับการรักษาตนเองตามอาการ และ ยาต้านโควิด-19 ตามแนวทางที่กรมการแพทย์กำหนด ดังนี้

162962878288

1.ยาพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม สำหรับลดไข้ แก้ปวด จำนวน 30 เม็ด รับประทาน ครั้งละ 1 เม็ด ทุก 4 – 6 ชั่วโมง เวลามีไข้

2.ยาเด็กซ์โทรเมทอร์แฟน สำหรับแก้ไอแห้ง จำนวน 30 เม็ด รับประทาน ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารเช้า กลางวัน และเย็น

3.ยาอะเซทิลซีสทีน สำหรับละลายเสมหะ จำนวน 20 เม็ดหรือ 20 ซอง ละลายยา 1 เม็ด หรือ 1 ซอง ในน้ำ 1 แก้ว รับประทาน วันละ 1 ครั้ง หลังอาหารเช้า หรือ เย็น

4.ยาคลอเฟนนิรามีน 4 มิลลิกรัม สำหรับลดน้ำมูก จานวน 30 เม็ด รับประทาน ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง หลังอาหารเช้า

5.ผงเกลือแร่ ORS สำหรับท้องเสีย จำนวน 5 ซอง ละลายผงเกลือแร่ 1 ซองในน้ำ 1 แก้ว จิบแทนน้ำ เมื่อท้องเสีย น้ำเกลือแร่ไม่ควรเก็บเกิน 24 ชั่วโมง

6.ยาฟ้าทะลายโจร สำหรับลดไข้ แก้เจ็บคอและต้านเชื้อโควิด-19 จำนวน 60 เม็ด รับประทาน ครั้งละ 3 – 4 เม็ด วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน (โดยให้มีปริมาณของ Andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน)

7.ยาฟาวิพิราเวียร์ 200 มิลลิกรัม สำหรับต้านเชื้อโควิด-19 จำนวน 50 – 64 เม็ด โดยวันแรก รับประทาน ครั้งละ 9 เม็ด วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็น วันที่ 25 รับประทาน ครั้งละ 4 เม็ด วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็น ส่วนกรณีน้ำหนักตัว มากกว่า 90 กิโลกรัม วันแรก รับประทาน ครั้งละ 12 เม็ด วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็น วันที่ 25 รับประทาน ครั้งละ 5 เม็ด วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็น

8.รายการยาอื่น ๆ ตามแนวทางการรักษาโรคโควิด-19 ของกรมการแพทย์

กรณีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงขึ้นถึงขั้นที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ เภสัชกรชุมชนจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งต่อผู้ป่วยไปรักษายังสถานพยาบาลต่อไป

  • วิชาชีพเภสัชกรรม พร้อมให้บริการช่วยประเทศ

ทั้งนี้ ให้นายกสภาเภสัชกรรมเป็นผู้รักษาการตามประกาศนี้ กรณีมีปัญหาในการตีความหรือในกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้นายกสภาเภสัชกรรมเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ในกรณีที่นายกสภาเภสัชกรรมเห็นสมควรอาจเสนอให้คณะกรรมการสภาเภสัชกรรมเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด

เราจะได้ใช้วิชาชีพเภสัชกรรมในการให้บริการ เพื่อช่วย 162962881982 ประเทศในการแก้ปัญหาโรคระบาด เพราะเรามีความรู้เรื่องยาเราก็สามารถให้คำแนะนำการใช้ยา-ชุดตรวจที่ถูกต้อง เหมาะสม ทำให้ระบบเดินต่อไปได้ เพราะตรวจได้เร็วก็สามารถที่จะควบคุมการกระจายของโรคได้” รศ.ภญ.จิราพร กล่าว

 ทั้งนี้ ระหว่างรอชุดตรวจ ATK ที่ยังไม่มานั้น สปสช. พยายามที่จะประสานกับสภาเภสัชกรรม และ อย. เพื่อทำให้ระบบสามารถเดินได้ ในขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังเตรียมตัว-บริหารจัดการ ส่วนตัวเชื่อว่าเมื่อมีชุดตรวจมาถึงร้านขายยารวมถึงระบบต่างๆ ก็จะพร้อมและจะสามารถแยกคนที่ติดเชื้อออกจากคนที่ไม่ติดเชื้อ ทำให้การแพร่เชื้อลดลง

ศ.ภญ.จิราพร กล่าวต่อไปว่า ระหว่างรอชุดตรวจ ก็มีการเตรียมงานหลังบ้านให้เรียบร้อย เมื่อไรที่ชุดตรวจมา ก็จะสามารถบริหารจัดการได้ด้วยระบบที่โปร่งใส ฉะนั้น ก็จะมีระบบการขึ้นทะเบียน และระบบการป้อนข้อมูลก็จะทำให้ทราบว่าชุดตรวจใช้ไปเท่าไร มองว่าต้องทำทุกอย่างให้โปร่งใสและไม่มีข้อกังขากับประชาชน

  • ย้ำปชช.ดูแลป้องกันตนเอง ถึงภาครัฐจะช่วย

ศ.ภญ. จิราพร กล่าวด้วยว่าขณะนี้เท่าที่ทราบ มีร้านขายยาลงทะเบียนกับทางสปสช.ไปมากกว่า 1,500 แห่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี และอยากให้ร้านยาเข้าร่วมมากกว่านี้ เพราะนั่นหมายถึงการกระจายชุดตรวจ ATK และยาสู่ผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว  ซึ่งเมื่อทางร้านยาขึ้นทะเบียน และทางสปสช.ได้ชุดตรวจมากระจายให้ร้ายยาที่ขึ้นทะเบียนเรียบร้อยก็สามารถดำเนินการแจกจ่ายไปยังผู้ป่วยได้ทันที ซึ่งเภสัชกรมีองค์ความรู้ และสามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้อย่างดีเยี่ยม

“ร้านขายยาอยู่ใกล้บ้านประชาชน สามารถเข้าถึงง่าย และตอนนี้สปสช. พยายามใช้แอปพลิเคชั่น อย่างเป๋าตัง เพื่อให้ประชาชนได้รับแจกทางช่องทางดังกล่าว ซึ่งชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุดนี้ จะเป็นการแจกฟรีให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 ดังนั้น ไม่ต้องกังวลหากไปร้านขายยาที่เข้าร่วมขึ้นทะเบียน จะเห็นป้ายติดให้บริการชัดเจน เช่น ป้ายคลินิกชุมชนอบอุ่น หรือป้ายจากสปสช.”ศ.ภญ.จิราพร กล่าว

162962884290

การที่สภาเภสัชกรรม ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถึงแนวทางการให้บริการยาฟาวิพิราเวียร์ และยาจำเป็นแก่ผู้ป่วยที่มีผลตรวจเป็นบวกด้วยชุดตรวจสำหรับโควิด-19 ประเภท ATK นั้น เพื่อเป็นการประกาศให้ประชาชนรับทราย และเกิดความมั่นใจว่าผู้ป่วยทุกคนจะได้รับชุดตรวจ ATK และเข้าถึงยาได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงเป็นการป้องกันการแอบอ้าง หรือการนำชุดตรวจ ATKไปดำเนินการในแนวทางอื่นๆ ที่ไม่เหมาสมะ

“มาตรการให้ร้านขายยาเป็นจุดกระจายชุดตรวจ ATK และยาให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาการเข้าไม่ถึงยาของประชาชนได้ และจะลดอัตราการเจ็บป่วย ดังนั้น อยากฝากประชาชน ถึงภาครัฐจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือ แต่ทุกคนป้องกันตนเอง สวมหน้ากากอนามัย ไม่ใกล้ชิดกัน หมั่นล้างมือบ่อยๆ และฉีดวัคซีน ถ้าสงสัยว่ากลุ่มเสี่ยงก็พยายามกักตัว อย่าออกไปข้างนอก ขอให้ใช้บริการของรัฐ”ศ.ภญ.จิราพร กล่าว

  • ต้องได้รับ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ ภายใน 4 วัน

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าข้อมูลการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในประเทศไทย จากกรมการแพทย์ และคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆในกทม. รวมทั้งรพ.ในกทม. ได้รวบรวมข้อมูลเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมาจากคนไข้กว่า 400 คน พบว่า ผู้ติดเชื้อที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์เร็วภายใน 4 วันหลังเริ่มมีอาการ พบว่า ลดอาการรุนแรงได้ 28.8% ขณะที่ค่ามัธยฐานของระยะเวลาการเริ่มให้ยา จนถึงผู้ป่วยอาการดีขึ้น หากผู้ป่วยโรคปอดบวมรุนแรงใช้เวลา 17 วันดีขึ้น แต่หากปอดบวมไม่รุนแรงใช้เวลา 9 วัน ซึ่งกรณีนี้ทางรามาธิบดีศึกษา

162962879824

สำหรับ ยาฟาวิพิราเวียร์ ขณะนี้ทางองค์การเภสัชกรรมมีการสั่งจองและเตรียมผลิตเอง 20-30 ล้านเม็ด ซึ่งจะเริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งมีการติดตามศึกษาผล โดยจะทำเป็นบิ๊กดาต้า ที่ดูว่าผลของฟาวิพิราเวียร์ในรอบระบาดเดลตา เป็นอย่างไร ?

เมื่อพิจารณาการสั่งจอง และเตรียมการผลิต ยาฟาวิพิราเวียร์ ของประเทศไทย คงหวังได้ว่าการขาดแคลน ยาฟาวิพิราเวียร์ คงไม่มีทางการเกิดขึ้น แต่การจะจัดส่งยาให้ถึงแก่ผู้ป่วยโควิด-19 คงต้องติดตามกันต่อไปว่ามาตรการใหม่ๆ ที่กำลังดำเนินการนี้ จะช่วยได้มากน้อยขนาดไหน และหน่วยงานหลักในการส่งยาอย่าง กรมการแพทย์ โรงพยาบาลต่างๆ ต้องปรับระบบอย่างไร? เพื่อให้ยา เวชภัณฑ์ ระบบการบริการสาธารณสุขช่วยชีวิตผู้ป่วย ลดการสูญเสียได้