รู้จัก'กระท่อม'พืชบำบัดโรค ผลักดันสู่ 'พืชเศรษฐกิจ'ช่วยเกษตรกร

รู้จัก'กระท่อม'พืชบำบัดโรค ผลักดันสู่ 'พืชเศรษฐกิจ'ช่วยเกษตรกร

หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบ กฎหมายปลดล็อก 'กระท่อม' ออกจากยาเสพติดให้โทษ เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2564

โดยจะมีผลบังคับใช้ 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทำให้เรื่องราวของ กระท่อม กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งในฐานะพืชที่มีสรรพคุณทางยาในการรักษา บำบัดโรคต่างๆ

  • 24ส.ค.'กระท่อม' พืชไม่ผิดกฎหมาย

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 พ.ค.2564 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ.2564ใจความสำคัญ คือ โดยที่ปัจจุบันพืชกระท่อมเป็นยาเสพติด ให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แต่ในหลายประเทศมิได้กำหนดให้ พืชกระท่อม เป็นยาเสพติดให้โทษ

เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากลและบริบทของสังคมไทยในบางพื้นที่ ที่มีการบริโภคพืชกระท่อม ตามวิถีชาวบ้าน สมควรยกเลิกพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ซึ่งประกาศครั้งนี้ไม่ได้มีผลใช้ทันที แต่จะมีผลในวันที่ 24 ส.ค.2564 กระท่อมจะเป็นพืชไม่ผิดกฎหมาย

162989519127

กฎหมายฉบับดังกล่าว ได้กำหนดมาตรการกำกับดูแลการปลูกพืชกระท่อม การขาย การนำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่นกำหนดให้การปลูกพืชกระท่อม การขาย การนำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม เพื่อประโยชน์เชิงอุตสาหกรรม ต้องได้รับใบอนุญาตกำหนดคุณสมบัติและระเบียบเกี่ยวกับสถานที่ขาย นำเข้าหรือส่งออก พืชกระท่อม

กำหนดมาตรการป้องกันการใช้ใบกระท่อมในทางที่ผิด เช่น ห้ามขายใบกระท่อม น้ำต้มใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบแก่บุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท, ห้ามบริโภคใบกระท่อมหรือน้ำต้มใบกระท่อมที่ปรุงผสมกับยาเสพติดให้โทษ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท เป็นต้น

  • 'กระท่อม'มีฤทธิ์ระงับปวดใช้แทนมอร์ฟีน

'กระท่อม' เป็นพืชที่พบมากทางใต้ของประเทศไทย ไปจนถึงเขตชายแดง เป็นไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิยมเคี้ยวใบสด หรือ ต้มเป็นชา เพื่อกระตุ้นให้ทำงานได้โดยไม่เมื่อยล้า โดยเฉพาะกลุ่มทำสวน ทำนา ถึงจะเป็นพืชพื้นบ้าน แต่ถูกกำหนดว่าผิดกฎหมาย ห้ามนำมาใช้เป็นเวลานาน ที่ผ่านมาชาวสวนปาล์ม ชาวยางพารา ชาวไร่ชาวนา เกษตรกรได้มีการผลักดันให้มีการปลูกกระท่อมอย่างถูกกฎหมาย

ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นักวิจัยที่ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับพืชกระท่อมมาอย่างยาวนาน กล่าวว่ากระท่อม ในประเทศไทยมีการนำมาใช้เป็นยาแก้โรคบิด ท้องร่วง และปวดมวนท้อง และบางพื้นที่นำมาใช้บรรเทาโรคเบาหวานได้ ซึ่งจะมีสารสำคัญที่พบในใบกระท่อม ประกอบด้วย แอลคาลอยด์ (Alkaloid) ทั้งหมดประมาณร้อยละ 0.5 ในจำนวนนี้เป็น Mitragynine ร้อยละ 0.25 ที่เหลือเป็น Speciogynine Paynanthine Speciociliatine ตามลำดับ ซึ่งชนิดและปริมาณแอลคาลอยด์ที่พบแตกต่างกัน ตามสถานที่ และเวลาที่เก็บเกี่ยว

ในใบกระท่อม จะมีสารแอลคาลอยด์ Mitragynine ที่มีฤทธิ์ระงับอาการปวดเช่นเดียวกับมอร์ฟีน โดยมีความแรงต่ำกว่ามอร์ฟีนประมาณ 10 เท่า

162989516534

  • ข้อดีของ'กระท่อม' ดีกว่ามอร์ฟีน

ข้อดีของ 'กระท่อม' กว่ามอร์ฟีน คือ

  • กระท่อมไม่กดระบบทางเดินหายใจ ไม่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • พัฒนาการในการติดยาเกิดช้ากว่ามอร์ฟีนหลายปี
  • ไม่มีปัญหาเรื่องอาการอยากได้ยา (Craving) จึงไม่มีกรณีผู้ติดกระท่อม ก่อเหตุร้ายหรือพัวพันกับอาชญากรรมใดๆ
  • อาการขาดยาไม่ทรมานเท่ามอร์ฟีน และสามารถบำบัดได้ง่ายกว่ายากล่อมประสาท ระยะ 2-3 สัปดาห์
  • ขณะที่ผู้ติดมอร์ฟีนอาจต้องพึ่ง Mitragynine ซึ่งเป็นสารเสพติดเช่นเดียวกัน เป็นเวลานาน 3 เดือนขึ้นไป
  • ใช้บำบัดอาการติดฝิ่นหรือมอร์ฟีนได้
  • การควบคุมทางกฎหมาย ไม่มีสนธิสัญญาที่เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศห้ามการปลูกเหมือนฝิ่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ชาวบ้านเฮ! เริ่มวันนี้ พก 'พืชใบกระท่อม' รูดกินไม่ผิดกฎหมาย                   

                   'ส.ป.ก.' ดันสมุนไพร 'EEC' กัญชง - กัญชา - ฟ้าทะลายโจร

                   เตรียมลุย!'เส้นทางกัญชาทางการแพทย์'เพิ่มมูลค่า'ตลาดกัญชา'

  • กิน'กระท่อม' ไม่ถูกวิธีถึงตายได้

ปัจจุบันพบว่ามีการใช้กระท่อมในลักษณะนี้ในหลายประเทศทั่วโลก การใช้ของต่างประเทศพบว่า ใช้เป็นยารักษาอาการเรื้อรังต่างๆ เช่น ช่วยลดความดันโลหิต บรรเทาเบาหวาน แก้ไอ แก้ระบบย่อยอาหารไม่ปกติ เช่น ท้องเสีย บิดมีตัว ปวดท้องและกำจัดพยาธิในเด็ก

ใช้เป็นการกระตุ้นร่างกายให้ทำงานหนักได้และมีรายงานจากต่างประเทศกล่าวถึงการเริ่มศึกษาใบกระท่อมช่วย อาการซึมเศร้า โรควิตกกังวลและอื่นๆ อีกหลายโรคด้วย และข่าวว่าเพื่อนบ้านเราทั้งเวียดนามและเมียนมา กำลังปลูกกระท่อมกันมากมาย

162989551768

แต่ทั้งนี้ การบริโภคกระท่อม ก็ต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ต้องใช้ในปริมาณต่ำ ๆ จะออกฤทธิ์กระตุ้น ลดอาการเมื่อยล้า ทำงานได้นานขึ้น แต่ถ้าใช้ในปริมาณสูงจะมีฤทธิ์กล่อมประสาทและเสพติด ยิ่งถ้าเสพไปนาน ๆ ผู้เสพอาจมีอาการท้องผูก นอนไม่หลับ คลื่นไส้อาเจียน ผิวหนังคล้ำลง

บางรายที่เสพมากเกินไปอาจพบอาการแขนกระตุก อารมณ์ซึมเศร้าหรือไม่ก็ก้าวร้าว กระวนกระวาย ความดันสูง มีอาการทางจิต หวาดระแวง เห็นภาพหลอน พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง เมื่อหยุดเสพใบกระท่อมก็จะทำให้ร่างกายไม่มีแรง อ่อนเพลีย ทำงานไม่ได้ ปวดเมื่อยตัว

ดังนั้น ในประเทศไทย แม้จะมีการปลดล็อกกระท่อม แต่ใช่ว่าจะสามารถใช้ได้อย่างเสรี เพราะหากนำใบกระท่อมเป็นสารตั้งต้นสำคัญของยาเสพติด เช่น  สี่คูณร้อย โดยผสมน้ำกระท่อมต้มร่วมกับสารอื่นๆ เช่น ยาแก้ไอ ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่น ถือเป็นยาเสพติด ผิดกฎหมาย

  • ‘น้ำพุโมเดล’ ต้นแบบการจัดการกระท่อม

เมื่อทางรัฐบาลมีนโยบายที่จะ ปลดล็อก พืช กระท่อม ออกจากยาเสพติด ตำบลน้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี มี 6 หมู่บ้าน จำนวน 1,920 หลังคาเรือน ประชากร 5,643 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนยาง ปาล์มน้ำมัน ปลูกเงาะ ทุเรียน ลองกอง เลี้ยงสัตว์ ค้าขาย ฯลฯ เป็นพื้นที่หนึ่งที่ชาวบ้านนิยมปลูกพืชกระท่อมเพื่อบริโภคในครัวเรือนมายาวนาน เช่น ใช้ใบสดเคี้ยวกลืนครั้งละ 1-3 ใบ โดยรูดก้านใบออก ทำให้รู้สึกกระปี้กระเปร่า มีเรี่ยวแรงทำงานในไร่สวน

ทาง สงคราม บัวทอง กำนันตำบลน้ำพุ  ได้เข้าร่วมประชุมเรื่องนี้กับ สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด’(สพส.) สำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม ในช่วงปี 2559 โดย สพส.ต้องการหาพื้นที่ศึกษาและวิจัยเรื่องกระท่อมก่อนที่จะมีการปลดล็อก จึงได้เสนอให้ใช้พื้นที่ตำบลบ้านน้ำพุเป็นพื้นที่ศึกษา อีกทั้งชาวบ้านก็มีความพร้อมอยากจะให้มีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังว่ากระท่อมเป็นยาเสพติด หรือเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์

162989555975

โดยได้มีการจัดทำ ‘โครงการศึกษาวิจัยเพื่อสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลพืชกระท่อมพื้นที่นำร่องตำบลน้ำพุ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี’ ขึ้นมา ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 (จนถึงปัจจุบัน ) มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เข้าร่วมศึกษาวิจัยด้านผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาผลกระทบด้านสังคมและชุมชน

ทำให้เกิดการขึ้นทะเบียนกระท่อม 655 ครัวเรือน และติด QR-code 1,578 ต้น นอกจากนั้น ป.ป.ส.ได้มีการขยายผลพื้นที่นำร่องการขึ้นทะเบียนตามแนวทางการจัดระเบียบ กระท่อม ในพื้นที่ 135 หมู่บ้าน 19 ตำบล 10 จังหวัด เช่น ปทุมธานี ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ฯลฯ

ในขณะนี้ กระท่อม ยังเป็นแนวทางการศึกษาวิจัย รวมถึงนำร่องในพื้นที่ต่างๆ ยังไม่มีกระบวนการชัดเจนว่าจะนำไปสู่การใช้ทางยารักษาโรค หรือใช้ในอุตสาหกรรมใดบ้าง คงต้องติดตามต่อไป ว่า กระท่อมจะกลายเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจของไทยในการช่วยชาวเกษตรกรหรือไม่?