สรุปภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/64 สภาพัฒน์ ชี้หนี้ครัวเรือนพุ่งอีก

สรุปภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/64 สภาพัฒน์ ชี้หนี้ครัวเรือนพุ่งอีก

"สภาพัฒน์" เผยภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2564 มิติคุณภาพคน พบการจ้างงานเพิ่มขึ้น การเจ็บป่วยโรคเฝ้าระวังลดลง หนี้ครัวเรือนพุ่ง มิติความมั่นคงทางสังคมพบคดีอาญาเพิ่มขึ้น การร้องเรียน สคบ. ลดลง แต่ร้องเรียน กสทช. เพิ่มขึ้น การบริโภคเหล้า/บุหรี่ลดลง

หลังจากที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้นำเสนอรายงาน ภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ของปี 2564 ไปเมื่อวานนี้ (25 ส.ค.) พบว่ามีความเคลื่อนไหวสำคัญๆ เกิดขึ้นหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติคุณภาพคน, มิติความมั่นคงทางสังคม, มิติด้านความเป็นอยู่และพฤติกรรม, การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงหัวข้อ "ประเทศไทยกับความพร้อมของ Work From Home ในวิกฤติโควิดระบาด

รายงานชิ้นนี้มีรายละเอียดค่อนข้างยาวมาก แต่เพื่อการทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จึงขอสรุปเฉพาะประเด็นสำคัญๆ มาให้ทราบกัน 10 ประเด็น ดังนี้

1. อัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2.0%

รายงานระบุว่า ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ โดยไตรมาส 2/2564 การจ้างงาน เฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น

  • การจ้างงานในภาคเกษตรกรรม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.4
  • การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.8

นอกจากนี้ การจ้างงานสาขาอาชีพต่างๆ (นอกภาคการเกษตร) ก็วัดผลพบว่าบางสาขามีการจ้างงานที่ขยายตัวสูงขึ้น แต่บางสาขาการจ้างงานก็หดตัวลง ดังนี้ 

  • สาขาก่อสร้าง ขยายตัวร้อยละ 5.1
  • สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 5.4
  • สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า ขยายตัวร้อยละ 7.1
  • สาขาการผลิต หดตัวร้อยละ 2.2
  • สาขาการขายส่ง/ขายปลีก หดตัวร้อยละ 1.4 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

2. อัตราว่างงาน เด็กจบใหม่ว่างงานเพิ่มขึ้น 10.04%

สำหรับไตรมาส 2/2564 พบว่าในภาพรวมอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 18.9 คิดเป็นผู้ว่างงาน 7.3 แสนคน แบ่งเป็น 

  • ผู้ไม่เคยทำงานมาก่อน (ผู้จบการศึกษาใหม่) 2.9 แสนคน ว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.04
  • ผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน มีจำนวน 4.4 แสนคน ว่างงานลดลงร้อยละ 8.38

เมื่อพิจารณาระยะเวลาของการว่างงาน พบว่าผู้ว่างงานมีแนวโน้มว่างงานนานขึ้น คือนานมากกว่า 12 เดือน อีกทั้ง ผู้จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา พบมีอัตราการว่างงานสูงขึ้นเป็นร้อยละ 3.18 และ 3.44 ตามลำดับ ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้มีอัตราการว่างงานเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ 

  • การระบาดโควิด-19 รุนแรงมากขึ้น มาตรการควบคุมการระบาด ส่งผลต่อความสามารถในการหารายได้ของแรงงาน
  • การระบาดโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้
  • ลูกจ้างภาคเอกชนที่สามารถทำงานที่บ้านได้ (พื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด) มีเพียงร้อยละ 5.5 เท่านั้น 
  • การปรับตัวของแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายกลับสู่ภูมิลำเนา ส่งผลให้ผู้ว่างงานในแต่ละภูมิภาคมีจำนวนเพิ่มขึ้น

 

1629982999100

 

3. หนี้ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 4.6%

ไตรมาสนี้ "หนี้ครัวเรือน" ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยพบว่าหนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90.5 ต่อ GDP ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการเลื่อนและพักชำระหนี้ ที่ทำให้ยอดหนี้คงค้างไม่ลดลง

รวมทั้งครัวเรือนที่ไม่ได้รับผลกระทบ แต่ก็มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่คุณภาพสินเชื่อยังต้องเฝ้าระวัง โดยสัดส่วน NPLs ของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.92 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.84 ในไตรมาสก่อน และด้อยลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัย สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนเริ่มมีปัญหาในการหารายได้ หรือสถานะทางการเงินเปราะบางมากขึ้น 

4. การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวัง ลดลง 32.4%

โดยรวมในไตรมาส 2/2564 อัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวัง ลดลงร้อยละ 32.4 เป็นการลดลงในเกือบทุกโรค ได้แก่

  • ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ลดลงร้อยละ 85.4
  • ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ ลดลงร้อยละ 54.8
  • ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ ลดลงร้อยละ 4.9
  • แต่โรคมือ เท้า ปาก ในเด็ก ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว
  • ต้องเฝ้าระวังผลกระทบด้าน "สุขภาพจิต" ของประชาชน จากสถานการณ์การระบาดของโควิด ที่ยังคงยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น ทั้งภาวะเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้า และเสี่ยงฆ่าตัวตาย

5. การบริโภคเหล้า/บุหรี่ ลดลง 2.4%

ถัดมาเป็นรายงานด้านการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ พบว่าในไตรมาส 2/2564 คนไทยมีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ลดลง ร้อยละ 2.4 โดยการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงร้อยละ 2.9 และการบริโภคบุหรี่ ลดลงร้อยละ 1.6

โดยเฉพาะช่วง COVID-19 ที่ทุกคนต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่บ้าน และปริมาณการสูบบุหรี่ต่อวันในกลุ่มแรงงานยังสูง โดยการสูบบุหรี่ในช่วงการระบาด COVID-19 ยังทำให้เกิดความเสี่ยงทั้งติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อโรคมากขึ้น

6. คดีอาญาเพิ่มขึ้น 11.5%

คดีอาญาจากคดียาเสพติดและคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 โดยแบ่งเป็น

  • คดียาเสพติด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.3
  • คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.5
  • แต่คดีชีวิตร่างกายและเพศ ลดลง ร้อยละ 8.9 

ขณะที่ในไตรมาส 2/2564 สถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี ค.ศ. 2021 (TIP Report 2021) ของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ได้ปรับลดระดับประเทศไทยให้อยู่ ระดับ Tier 2 (Watch List) คือ ประเทศที่ต้องถูกจับตามอง 

7. อัตราการเกิดอุบัติเหตุทางบก เพิ่มขึ้น 21.5%

ไตรมาส 2/2564 มีการรับแจ้งการเกิดอุบัติเหตุทางบกเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.5 เทียบจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนผู้เสียชีวิต ลดลงร้อยละ 1.3 ส่วนจำนวนผู้บาดเจ็บก็ลดลงร้อยละ 22.1

โดยสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุยังคงมาจาก การขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 23 และขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดร้อยละ 21.5 นอกจากนี้ กลุ่มคนเดินเท้าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการสัญจรทางถนน โดยในปี 2561-2563 มีการรับแจ้งคดีคนเดินเท้าประสบ อุบัติเหตุเฉลี่ยวันละ 8 คดี

8. การร้องเรียน สคบ. ลดลง แต่ร้องเรียน กสทช. เพิ่มขึ้น

สำหรับการร้องเรียนผ่าน สคบ. นั้น พบว่าไตรมาสนี้ประชาชนแจ้งร้องเรียนสินค้าและบริการ ลดลงร้อยละ 20.1 จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน โดยเป็นการร้องเรียนในสินค้าและบริการทั่วไปมากที่สุด รองลงมาเป็นอาคารชุด/คอนโดมิเนียม ขณะที่การร้องเรียนผ่าน กสทช. เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.7 โดยส่วนใหญ่เป็นประเด็นการคิดค่าบริการผิดพลาด

นอกจากนี้ ควรดำเนินการแก้ไขปัญหาการเรียกเก็บ 5 อัตราค่าไฟที่สูงเกินไปของหอพัก ห้องเช่า หรืออพาร์ตเมนต์อย่างจริงจัง ในช่วง work from Home โดยผู้เช่ากลุ่มนี้ ยังไม่ได้สิทธิประโยชน์จากมาตรการลดไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 ของภาครัฐ

9. ความสามารถในการแข่งขัน ไทยอันดับดีขึ้น!

ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน IMD ปี 2564 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 28 จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ปรับตัวดีขึ้น 1 อันดับ จากปี 2563 โดยปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะด้านการศึกษาอยู่ใน อันดับที่ 56 ส่งผลต่อผลิตภาพของประเทศในการแข่งขัน

ส่วนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี ที่เป็นปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาทักษะในโลกยุคใหม่ ไทยถูกจัดอยู่ใน อันดับที่ 37 ซึ่งยังคงต้องได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง มีผลการสำรวจการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของคนไทย พบว่า พ.ศ. 2563 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า

  • คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ติดอินเทอร์เน็ตในบ้าน เพราะคิดว่าไม่มีความจำเป็น ร้อยละ 54.4
  • คนไทยไม่มีความรู้/ทักษะในการใช้อินเตอร์เน็ต ร้อยละ 28.9
  • คนไทยไม่สามารถเข้าถึง (ไม่มีบริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่) ร้อยละ 6.5

10. ประเทศไทยกับการ Work from home

Work from home เป็นมาตรการหนึ่งในการลดการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้การทำงานที่บ้าน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากในอดีตค่อนข้างมาก จากการศึกษาของ McKinsey & Company ถึงศักยภาพของการทำงานนอกสถานที่ พบว่าอาชีพที่ Work from home แล้วมีศักยภาพ (Productivity) ได้แก่

  • อาชีพการเงินและอาชีพด้านประกัน มีศักยภาพสูงที่สุด
  • อาชีพการบริหารจัดการ วิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี มีศักยภาพรองลงมา
  • อาชีพเกษตรกรรม มีศักยภาพต่ำที่สุด

การทำงานที่บ้านมีทั้งข้อดีและข้อจำกัด จากการสำรวจของ Global Workplace Analytics และ Owl Labs พบว่า

  • ร้อยละ 75 ของพนักงาน มีความกดดัน/ความเครียดลดลง
  • ร้อยละ 76 ของพนักงาน ไม่คิดจะเปลี่ยนงาน เพราะสามารถทำงานที่บ้านอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
  • ร้อยละ 24 ของพนักงาน รู้สึกว่างานมีประสิทธิผล และมีความสุขในการทำงาน

ในกรณีประเทศไทย จากการสำรวจของสวนดุสิตโพลเรื่อง “พฤติกรรมของคนไทยกับการทำงานที่บ้าน (Work From Home)” ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า

  • คนไทยมีการทำงานที่บ้าน ร้อยละ 43
  • ทำงานทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ร้อยละ 34
  • ข้อดี คือ ช่วยลดการแพร่ระบาดโควิด-19 ประหยัดค่าเดินทาง และเป็นการให้ความร่วมมือกับภาครัฐ
  • ข้อเสีย คือ มีค่าใช้จ่ายที่บ้านเพิ่มขึ้น อุปกรณ์เครื่องมือไม่สะดวก สื่อสาร/ติดต่อล่าช้า
  • ผู้ประกอบการ ร้อยละ 20 ของบริษัทในปัจจุบัน มีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้าน

--------------------------------

ที่มา :

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

nesdc.go.th