กสร. เสริมความรู้ 'พนักงานตรวจแรงงาน' แก้ปัญหาแรงงานหญิงถูกละเมิด
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมมือ ILO มุ่งเสริมสร้างศักยภาพพนักงานตรวจแรงงาน ให้มีความรู้ ความสามารถ พร้อมรับมือกับอาชญากรรมรูปแบบใหม่ พุ่งเป้าแก้ไขปัญหา 'แรงงานหญิงข้ามชาติ' แรงงานทำงานที่บ้าน และแรงงานบังคับ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวในฐานะโฆษกกรมและประธานเปิดการอบรมพนักงานตรวจแรงงาน จัดโดยความร่วมมือระหว่างองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยให้ความสำคัญแก่แรงงานข้ามชาติหญิง ลูกจ้างทำงานบ้าน แรงงานบังคับ และความรุนแรงและการคุกคาม ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ต้องพึ่งพา 'แรงงานข้ามชาติ'
ซึ่งต้องยอมรับว่าแรงงานข้ามชาติมีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากแรงงานในประเทศมีจำนวนไม่เพียงพอ จึงมีความต้องการแรงงานข้ามชาติมากขึ้น ในขณะที่ระบบการนำเข้าแรงงานข้ามชาติไม่สามารถตอบสนองผู้ประกอบการได้ทันท่วงที ก่อให้เกิดปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานข้ามชาติ การค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงาน
โดยปัญหาดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันเพราะคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแสวงหาประโยชน์ โดยเฉพาะกลุ่ม แรงงานหญิงข้ามชาติ ถือเป็นกลุ่มเปราะบางซึ่งเสี่ยงต่อการถูกละเมิด ถูกกระทำรุนแรง ถูกคุกคาม และเลือกปฏิบัติในการทำงาน กระทรวงแรงงาน ภายใต้การนำของนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีเป้าหมายในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดไปจากประเทศไทย
ได้มอบหมายให้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ทำหน้าที่ในการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อปกป้องคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม ด้วยการพัฒนาศักยภาพพนักงานตรวจแรงงาน ให้มีความรู้ ความสามารถ มีความพร้อมรับมือกับอาชญากรรมในรูปแบบใหม่ อาทิ ปัญหาการปฏิบัติต่อแรงงานหญิงข้ามชาติ การค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มสมรรถนะให้พนักงานตรวจแรงงานในฐานะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โฆษก กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดอบรมในครั้งนี้ กรมได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งหมด 5 รุ่น รุ่นละ 50 คน รวมจำนวน 250 คน โดยมุ่งหวังพัฒนากระบวนการทำงานของพนักงานตรวจแรงงาน เพื่อขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ในทุกมิติ และส่งผลให้แรงงานข้ามชาติได้รับการคุ้มครองจากความรุนแรง การคุกคาม มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานต่อไป