เช็กรายชื่อ 'ATK' 45 ยี่ห้อ ที่อย. อนุมัติ เตรียมพร้อม 'คลายล็อกดาวน์ 1 ก.ย.'
หลังจากที่ ศบค. มีมติ 'คลายล็อกดาวน์ 1 ก.ย.' โดยกิจการกิจกรรมที่ได้รับอนุญาตให้เปิดบริการได้ ต้องใช้แนวทาง COVID-Free Setting ในการควบคุมการระบาด ATK แบบตรวจด้วยตัวเอง ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญเพื่อให้เดินหน้าเศรษฐกิจได้
หลังจากที่มีการประกาศ 'คลายล็อกดาวน์ 1 ก.ย.' ซึ่งมีกิจการ กิจกรรมบางประเภทที่ได้รับการผ่อนคลาย อาทิ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ซึ่งเปิดได้ถึงเวลา 20.00 น. ร้านเสริมสวย ร้านนวด เป็นได้เฉพาะนวดเท้า คลินิกเสริมความงาม เปิดจำหน่ายสินค้าเท่านั้น และต้องนัดหมายล่วงหน้า ร้านเสริมสวย และร้านนวด (นวดได้เฉพาะเท้า) ที่อยู่นอกห้างด้วย
ทั้งนี้ กิจการ กิจกรรมที่ได้รับการ คลายล็อก ยังคงต้องคุมมาตรการอย่างเข้มงวด โดยใช้แนวปฏิบัติ COVID-Free Setting เพื่อแนวปฎิบัติของมาตรการองค์กรด้วยหลัก COVID-Free Setting protocol ต้องประกอบด้วย
COVID-Free Environment : จะต้องดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ต้องมีการระบายอาการ สุขอนามัยที่เหมาะสม สะอาดปลอดภัย และต้องเว้นระยะห่าง
COVID-Free Personnel : มาตรการในส่วนของผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ พนักงาน จะต้องมีการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ และตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ ซึ่งจะมีการเร่งรัดให้ทุกคนได้รับวัคซีนครอบคลุม 2 เข็มมากที่สุด
COVID-Free Customer : ลูกค้า ผู้ใช้บริการเข้าร้านไหน ต้องร่วมมือกับมาตรการตามร้านนั้นๆ และลูกต้องมี Green Card (วัคซีนครบตามเกณฑ์) Yellow Card (เคยติดเชื้อ หรือ ATK เป็นลบภายใน 7 วัน)
ซึ่งล่าสุด นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ออกมาย้ำว่า มาตรการที่ออกไป ในเดือน ก.ย. เป็นมาตรการในการขอความร่วมมือกับพี่น้องประชาชน ขณะนี้มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เช่น สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมศูนย์การค้า ที่มีการหารือร่วมกันกับ สธ. เป็นความร่วมมือทั้งสองฝ่าย แม้เราจะไม่ได้บังคับแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยืนยันว่าจะทำตามมาตรการนี้
เช่น การตรวจหาเชื้ออย่างง่าย ATK มาตรการนี้จะต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนและการตรวจที่มากพอ หากมาตรการนี้เป็นมาตรการเชิงบังคับ อาจจะไม่สะดวกต่อพี่น้องประชาชน ดังนั้น ในเดือน ก.ย. ก็จะเป็นมาตรการในเชิงขอความร่วมมือมากกว่า แต่หากคุ้นกับมาตรการเหล่านี้แล้ว มีการฉีดวัคซีน หรือ ตรวจ ATK ที่มากพอ ซึ่งคาดว่าจะประมาณ ต.ค. นั้นอาจจะเป็นจุดมาตรฐานที่ทุกหน่วยงานร่วมกันทำและประชาชนให้ความร่วมมือ
อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงแรก มาตรการที่ออกมาจะยังไม่ใช่ภาคบังคับ แต่เป็นการขอความร่วมมือ แต่ก็เห็นแล้วว่าแนวโน้มการใช้ ATK ยังเป็นสิ่งจำเป็นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการ 'คลายล็อกดาวน์ 1 ก.ย.' ที่จะถึงนี้ เพื่อให้การควบคุมการระบาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับเดินหน้าเศรษฐกิจ และใช้ชีวิตวิถีใหม่ได้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด
- ATK ได้รับอนุญาตจาก อย. 45 รายการ
สำหรับรายชื่อชุดตรวจสำหรับ COVID-19 ประเภท Rapid Test Antigen หรือ Antigen Test Kit แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen Test Self-Test Kits) ที่ได้รับการอนุญาตให้ผลิต/นำเข้า จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 26 ส.ค. 64 พบว่ามีทั้งหมดกว่า 45 รายการ ดังนี้ --- > เช็กที่นี่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- แนวทางการกระจาย ATK 8.5 ล้านชุด
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 8/2564 (วาระพิเศษ) เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา ได้อนุมัติจัดซื้อชุดตรวจโควิดกว่า 8.5 ล้านชุด วงเงิน 1,014 ล้านบาท เพื่อจัดหาชุดตรวจ Antigen Test Kit ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงใช้ตรวจเอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สำหรับแนวทางการกระจายชุดตรวจ ATK เพื่อบริการประชาชนในพื้นที่ "นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ" ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข เผยเมื่อต้นเดือนสิงหาคมว่า ปัจจุบัน ได้มีการแบ่งระดับพื้นที่ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด 36 จังหวัด และ พื้นที่ควบคุม 11 จังหวัด โดยแบ่งพื้นที่ 3 ส่วน และดูตามจำนวนประชากรของแต่ละจังหวัดในการจัดสรร และ 8.5 ล้านชุด เป็นครั้งแรกในการจัดสรร และอยากให้แต่ละจังหวัดเตรียมบริหารจัดการ
- หลักการกระจาย ATK
ทั้งนี้ หลักการกระจาย ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ได้แก่
1. สำรองคงคลังเพื่อจัดสรรตามสถานการณ์จำนวน 1.5 ล้านชุด
2. จัดสรรให้กทม. จำนวน 1 ล้านชุด
3. จัดสรรให้กับจังหวัดที่เหลือ 76 จังหวัด จำนวน 6 ล้านชุด
4. จัดลำดับการจัดส่งโดยเรียงจากกลุ่มพื้นที่สีแดงเข้ม
"เป็นการจัดสรรครั้งแรก แต่ก็อยากให้ทุกจังหวัดมีความพร้อมในการบริหารจัดการในส่วนของ ATKที่จะลงไป โดยกระบวนการส่งมอบจะส่งมอบครั้งละ 1 ล้านชุด และส่งครั้งสุดท้าย 1.5 ล้านชุด ซึ่งจะเก็บไว้สำรอง หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงจะจัดสรรให้ทันที" นพ.กรกฤช กล่าว
- กรอบการจัดสรร 76 จังหวัด
สำหรับกรอบการจัดสรรใน 76 จังหวัด ได้แก่
1. จากการคำนวณขั้นต้น หากประชากรไม่มาก และผู้ป่วยไม่มาก จะได้ขั้นต่ำประมาณ จังหวัดละ 40,000 ชุด
2. จัดสรรในพื้นที่สีแดงเข้มก่อน
3. จำนวนประชากร น้อยกว่า 5 แสนคน 40,000 ชุด , 5 แสน - 8 แสนคน 60,000 ชุด , 8 แสน – 1 ล้านคน 70,000 ชุด , 1 ล้าน – 1.3 ล้านคน 80,000 ชุด และ มากกว่า 1.3 ล้านคน 90,000 ชุด
- แผนการจัดสรรภาพรวม
การจัดสรร หลักๆ จะมี 8 รอบ โดย 7 รอบแรก แบ่งเป็น รอบที่ 1-2 จัดสรรให้กับพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด จำนวน 2 ล้านชุด , รอบที่ 3 – 6 พื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม และพื้นที่สีแดง 30 จังหวัด จำนวน 4 ล้านชุด , รอบที่ 7 เพิ่มเติมจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม (กทม.) จังหวัดพื้นที่สีแดง 6 จังหวัด และจังหวัดพื้นที่สีส้ม 11 จังหวัด 1 ล้านชุด ทั้งนี้ หากเป็นไปตามคาด ATK จะมาทุกวัน วันละ 1 ล้านชุด และวันสุดท้าย จะมา 1.5 ล้านชุด สำหรับสำรองเพื่อจัดสรรตามสถานการณ์
- แผนการจัดสรร ATK รายจังหวัด
นพ.กรกฤช กล่าวต่อไปว่า จากแผนการจัดสรร ATK เบื้องต้นในรายจังหวัด หากจังหวัดใดไม่เพียงพอ จะเร่งนำที่สำรอง 1.5 แสนชุด จัดสรรให้ในส่วนที่ขาดหรือมีความจำเป็นเร่งด่วน ขณะที่จังหวัดที่ได้จำนวน ATK น้อย คือจังหวัดที่มีขนาดเล็ก เช่น กระบี่ น่าน ซึ่งแม้จะดูมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแต่ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น เพราะฉะนั้น ในระยะแรกขอจัดสรรแบบนี้ไปก่อน