‘เรียนออนไลน์’ WFH เสี่ยงภาวะ Computer Vision Syndrome มากขึ้น
สื่อนอกเผย จักษุแพทย์พบผู้ป่วยเข้ารักษาอาการทางสายตาในยุคโควิด-19 เพิ่มขึ้น 20% ด้านกรมการแพทย์ ชี้ work from home และ "เรียนออนไลน์" ทำให้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กไทยเกิดอาการ Computer Vision Syndrome มากขึ้น
ในยุคโควิดระบาดแบบนี้ ทั้งเด็กนักเรียนทั้งผู้ใหญ่วัยทำงาน ต่างก็ต้องปรับตัวเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ หลักๆ เลย คงหนีไม่พ้นเรื่องการ "เรียนออนไลน์" และการทำงานที่บ้านแบบ Work From Home และนั่นนำไปสู่ปัญหาด้าน "สายตา" ที่เรียกว่า Computer Vision Syndrome มากขึ้น
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมารู้จักสาเหตุและอาการของภาวะ Computer Vision Syndrome พร้อมรู้วิธีแก้ไขและปรับพฤติกรรมการใช้งานสายตาขณะเรียน/ทำงานหน้าจอคอมฯ สมาร์ทโฟน และแท็ปเล็ท ก่อนที่สายตาจะมีปัญหา เพราะโควิด-19 น่าจะอยู่กับเราอีกนาน
1. คนยุคโควิด ติดหนึบกับหน้าจอมากเกินเวลา
นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้มีความจำเป็นต้องทำงานแบบ Work from Home มีผลให้ชีวิตส่วนตัวและงานถูกรวมเข้าด้วยกัน จนอาจทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาทำงานเกินเวลา ส่วนเด็กๆ ก็ "เรียนออนไลน์" ผ่านหน้าจอนานขึ้น
โดยอาจจะใช้เวลาเกือบทั้งวันจ้องแต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงแท็บเล็ต และสมาร์ทโฟนทำให้ต้องใช้สายตาในการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
หากแบ่งเวลาการทำงานหรือเวลาเรียนออนไลน์ไม่เหมาะสม ก็จะส่งผลต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะดวงตาที่ต้องรับภาระจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือจอมือถือเป็นเวลานานๆ จึงอาจเป็นปัญหาต่อดวงตาที่พบจากการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดตา ตาแห้ง เคืองตา ตามัว หากเกิดอาการเหล่านี้ ควรพบจักษุแพทย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
2. แพทย์ต่างประเทศ ชี้ ผู้คนมีปัญหาสายตาเพิ่มขึ้น 20%
จักษุแพทย์ในต่างประเทศ ก็เริ่มพบเห็นปัญหาเหล่านี้มากขึ้นเช่นกัน โดยสื่อต่างประเทศอย่าง channelnewsasia.com รายงานว่า ดร.เวสลีย์ ชง จักษุแพทย์ประจำศูนย์จักษุแห่งชาติสิงคโปร์ พูดถึงประเด็นการ Work From Home ในช่วงโควิดว่า เมื่อผู้คนทำงานที่บ้าน ทำให้มีพฤติกรรมจ้องหน้าจอมากขึ้นกว่าเดิม
สภาพแวดล้อมการทำงานจากที่บ้าน อาจไม่ได้รับการปรับให้เหมาะสมตามหลักสรีรศาสตร์ และการทำงานกับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานก็อาจส่งผลต่อสายตาได้
ด้าน ดร.เดวิด ชาน ศัลยแพทย์ที่ปรึกษาอาวุโสของ Atlas Eye Specialist Centre กล่าวว่า เมื่อทำงานที่บ้าน ขอบเขตระหว่างความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานอาจไม่ชัดเจน ซึ่งทำให้เกิด 'การทำงานล่วงเวลา' ส่งผลกระทบต่อสุขภาพดวงตาอย่างมาก
โดยเฉพาะที่ศูนย์ของเขา พบว่ามีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาอาการทางสายตาเพิ่มขึ้น 20% (ระหว่างเดือนมิถุนายน 2563 ถึงพฤษภาคม 2564) อาการที่พบส่วนใหญ่ของผู่ป่วย คือ อาการตาล้า ตาแห้ง และตาโฟกัสไม่ได้ เป็นต้น
3. สาเหตุและอาการ Computer Vision Syndrome
นายแพทย์เกรียงไกร นามไธสง ผอ.รพ.เมตตาประชารักษ์ วัดไร่ขิง (สถาบันผลิตจักษุแพทย์ และจักษุแพทย์เฉพาะทาง) ให้ข้อมูลไว้ว่า ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ แทบเล็ท สมาร์ตโฟน เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เมื่อใช้งานไปนานๆ หลายชั่วโมงติดต่อกัน อาจทำให้หลายคนเกิดภาวะ Computer Vision Syndrome โดยมักจะมีอาการดังนี้
ปวดเมื่อยตา ตาแห้ง ตาล้า แสบตา เคืองตา ตาพร่ามัว โฟกัสได้ช้าลง ตาสู้แสงไม่ได้ ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะ บางครั้งมีอาการปวดหลัง ปวดไหล่ หรือปวดต้นคอร่วมด้วย และส่งผลต่อการนอน ทำให้นอนไม่หลับ
หากมีอาการที่กล่าวข้างต้น ร่วมกับการใช้งานคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานในแต่ละวัน ก็เป็นสาเหตุหลักในการเกิดภาวะดังกล่าวได้ แม้ว่ากลุ่มอาการนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อดวงตาหรือการมองเห็น แต่มักก่อให้เกิดความไม่สบายตา และเป็นปัญหารบกวนการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันได้
ด้านแพทย์หญิงกนกทิพย์ มันตโชติ จักษุแพทย์ชำนาญการ ก็ให้ข้อมูลในทำนองเดียวกัน โดยระบุว่า ภาวะ Computer Vision Syndrome คือ กลุ่มอาการทางตา ที่เกิดจากการใช้สายตากับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน มีการศึกษาพบว่าประมาณ 90% ของผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน มักเคยมีอาการเหล่านี้
4. วิธีแก้ไขภาวะ Computer Vision Syndrome
พญ.กนกทิพย์ ยังมีคำแนะนำเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีป้องกันหรือหลีกเลี่ยงภาวะ Computer Vision Syndrome ดังนี้
- กะพริบตาให้บ่อยขึ้น
การนั่งจ้องหน้าจอนาน ๆ ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน จะทำให้อัตราการกะพริบตาลดลงจาก 20-22 ครั้งต่อนาที เหลือเพียง 6-8 ครั้งต่อนาทีเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้ตาแห้งได้ ดังนั้นจึงควรกะพริบตาให้บ่อยขึ้น หรืออาจใช้น้ำตาเทียมเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา
- ปรับความสว่างให้เหมาะสม
ปรับแสงสว่างในห้องให้เหมาะสม โดยลดแสงสว่างจากภายนอกห้อง หรือแสงจากในห้องทำงานที่สว่างมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดแสงสะท้อนที่จอคอมพิวเตอร์ ทำให้ไม่สบายตาได้ และปรับเพิ่มความแตกต่างของสีระหว่างตัวอักษรกับพื้นจอภาพ เพื่อให้อ่านง่าย และปรับความสว่างของหน้าจอให้สบายตา
- พักสายตา โดยยึดหลัก “20-20-20”
พักสายตาทุกๆ ชั่วโมง ตามหลัก “20-20-20” คือ การละสายตาจากหน้าจอ โดยการทำงานจ้องหน้าจอทุกๆ 20 นาที ให้มองออกไปไกลระยะ 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาทีต่อครั้ง จะช่วยลดอาการตาล้าได้
- ปรับระดับการมองจอให้เหมาะสม
ปรับระดับการมองจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม โดยจุดศูนย์กลางของจอคอมพิวเตอร์ควรห่างจากตาประมาณ 20-28 นิ้ว และต่ำลงจากระดับสายตาประมาณ 4-5 นิ้ว
- ใส่แว่นแก้ไขสายตาที่เหมาะสม
เนื่องจากการมีสายตาที่ผิดปกติ แล้วต้องเพ่งหน้าจอนานๆ อาจทำให้ปวดกระบอกตาได้ ดังนั้น ในสถานการณ์ที่ต้องทำงานที่บ้าน หรือ "เรียนออนไลน์" เป็นเวลานานๆ แบบนี้ คนไทยจึงควรการจัดตารางการทำงาน จัดตารางเรียน และแบ่งเวลาชีวิตส่วนตัวให้เหมาะสม จึงเป็นทางออกที่จะส่งผลดีต่อสุขภาพดวงตามากที่สุด
---------------------------
อ้างอิง :