เตรียมทยอยปิดศูนย์ดูแลผู้ป่วยโควิด19ในกทม.

เตรียมทยอยปิดศูนย์ดูแลผู้ป่วยโควิด19ในกทม.

สธ.เผยทยอยปิดศูนย์ดูแลผู้ป่วยโควิด19ในกทม. หลังสัญญาณติดเชื้อดีขึ้น

       เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 6 ก.ย. 2564 ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ประเด็น “แนวทางการรักษาโรคโควิด19 และการบริหารจัดการเตียง”  นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์เตียงทั่วประเทศยังมีความตึงตัวที่ กทม. และจังหวัดโดยรอบ ส่วนภาคอีสานมีผู้ป่วยครองเตียงเพิ่มบางส่วน แต่จุดที่มีปัญหาคือ กทม.และปริมณฑล จากจำนวนผู้ป่วยครองเตียง 4.3 หมื่นกว่ารายทั้งในรพ. และฮอสพิเทล(Hospitel) เป็นผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยราว 75%  กลุ่มสีเหลืองราว  20 % และสีแดง ผู้ป่วยอาการรุนแรง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 3.13%  ซึ่งแม้จะมีสายพันธุ์เดลตาเข้ามาแต่ตัวเลขจะอยู่ประมาณนี้  ทั้งนี้ พื้นที่กทม.และปริมณฑล ผู้ป่วยเสียชีวิตและใช้เครื่องช่วยหายใจ แนวโน้มตัวเลขลดลง

      ผู้ป่วยแยกกักที่บ้าน(Home Isolation) สะสมกว่า 9 หมื่นราย หายแล้ว 4 หมื่นราย และยังอยู่ในระบบราว 5 หมื่นราย  โดยผู้ป่วยแยกกักที่บ้าน จากเดิมเคยสูงถึงหลักหลายพันรายต่อวัน ขณะนี้เหลือที่ 387 ราย ซึ่งช่วงหลังจะไม่เกิน 500 ราย  โดยผู้ป่วยที่แยกกักที่บ้าน และอาการแย่ลงต้องส่งต่อมาที่ รพ. เฉลี่ย 7-8% อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อที่แยกกักที่บ้านหากมีอาการแย่ลงและแพทย์ พยาบาลแนะนำให้เข้ารักษาตัวในรพ. โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ออกซิเจนในเลือดลด ขอให้ทำตามคำแนะนำ  ตอนนี้เตียงสีเหลืองใน รพ. หรือฮอสพิเทลว่าง  อ่านข่าว-ด่วน! ยอด 'โควิด-19' วันนี้ พบติดเชื้อเพิ่ม 13,988 ราย เสียชีวิต 187 ราย ไม่รวม ATK อีก 2,404 ราย

     

    

สำหรับศูนย์พักคอยในชุมชน(Community Isolation) เตียงว่างมากกว่าครองเตียง โดยเปิดดำเนินการ 60 แห่งประมาณ 7,397 เตียง ว่าง 5,804 เตียง ครองเตียง 1,593 เตียง ผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยวันละ 100 ราย สะสม 15,956 ราย  ส่วนศูนย์พักคอยที่ทางกทม. ได้ยกระดับขึ้นมาเหมือนกับ รพ.สนามประจำกลุ่มเขต เรียกว่า CI Plus อีก 8 แห่งเพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองได้ 1,660 เตียง ครองเตียง 584 เตียง ว่าง 1,076 เตียง

       นอกจากนี้  ศูนย์แรกรับและส่งต่ออาคารนิมิบุตร กระทรวงสาธารณสุข โดยเปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.64 พบว่าขึ้นสูงสุดในช่วงเดือน ก.ค.2564 จำนวน 350 เตียง ปลายเดือนส.ค.เริ่มลดลงแล้ว  ปัจจุบันมีผู้เดินทางไปคัดกรองที่ศูนย์ฯ ราว 30-40 ราย มียอดคงค้าง 9 รายเท่านั้น เพราะส่งต่อออกไปได้ และมีการวางแผนคาดการจะมีการปิดตัวในวันที่ 30 ก.ย.2564 โดยจะย้ายไปที่ รพ.สนามที่ รพ.เลิดสิน รองรับผู้ป่วยกลุ่มเหลืองและแดง ประมาณ 200 เตียง บวกกับการเป็นศูนย์แรกรับและส่งต่อด้วย  เหล่านี้เป็นตัวชี้วัดยืนยันได้ว่าสถานการณ์ของ กทม.และปริมณฑล ค่อนข้างดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับ 1 เดือนที่ผ่านมา 

และรพ.บุษราคัม ที่ขยายเตียงสูงสุด 3 พันกว่าเตียง ตอนนี้เหลือเปิด 2,200 เตียง ยังมีเตียงว่าง 1,376 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียง 800 กว่าราย โดยสัญญากับอิมแพ็คเมืองทองธานี จะหมดสิ้นเดือน ต.ค.2564 ทั้งนี้ หลังจากที่ผ่อนคลายมาตรการบางส่วน จะมีการประเมินสถานการณ์ปลายเดือน ก.ย. อีกครั้ง เพื่อดูว่าจำนวนผู้ป่วยกลับพุ่งขึ้นอีกหรือไม่ และจะมีการประเมินเป็นระยะ เตรียมการตลอดเวลา  รวมถึง ฮอสพิเทลสังกัดกรมการแพทย์ที่มีอยู่ 4 แห่ง จะพิจารณาทยอยปิดและเหลิอไว้ราว 2 แห่ง ยืนยันว่า ตอนนี้การบริหารจัดการเตียงรวมสีแดงแล้ว ค่อนข้างจะสบายขึ้นแล้ว ผู้ป่วยที่ต้องการเข้า รพ. แม้แต่สีแดง ภายใน 24 ชั่วโมงก็หาเตียงได้แล้ว

      “การระบาดรอบใหม่ จะเฝ้าดูประมาณสิ้นเดือนก.ย. ต่อ เดือน ต.ค.  นอกจากนั้น ได้พูดคุยเตรียมการกับทุกภาคีเครือข่ายว่า เตียงสีเหลืองและแดง ในรพ.ทุกสังกัด จะยังคงไว้ก่อน เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. กำลังประมาณคุณภาพ HI / CI ว่าดูแลตามมาตรฐานที่วางไว้หรือไม่ เพราะเรามีการขยายดูแล HI ไปในระดับคลินิค ซึ่งเราต้องคงคุณภาพไว้”นพ.สมศักดิ์กล่าว