เปิดขบวนการ“ขายเสียว”ผ่านแอพพลิเคชั่น Onlyfan

เปิดขบวนการ“ขายเสียว”ผ่านแอพพลิเคชั่น Onlyfan

จุดประสงค์หลักแต่เดิมของแอพพลิเคชั่น “Onlyfan” จะเน้นไปที่การแสดงออกทางความสามารถ ซึ่งเริ่มต้นมาจากสหรัฐฯ แต่ปัจจุบันกลับพบว่า มีคนนำแอปฯนี้มาใช้เกี่ยวกับสื่อลามกอนาจาร

ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จับตาขบวนการ “ขายเสียว” ผ่านแอพพลิเคชั่น “Onlyfan” พร้อมเตือนเยาวชนอาจถูกหลอกให้ร่วมขบวนการผลิตคลิปวิดีโอเนื้อหาล่อแหลมอนาจาร

พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.)เปิดเผยกับ “ข่าวข้นคนข่าว” เนชั่นทีวี ว่า ตลอดช่วงเวลา 5 ปีที่ “Onlyfan” เข้ามาเป็นที่นิยมในประเทศไทย จะมีการนำเสนอเนื้อหาที่ล่อแหลมและเพศสัมพันธ์มากขึ้นเรื่อยๆ และยังมีจำนวนสมาชิกเยอะขึ้น ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ คลับเฮ้าส์ และแอปพลิเคชั่น “เอ็มไลฟ์” โดยมีลักษณะในการสร้างกลุ่ม และเปิดรับสมาชิกเพื่อซื้อคูปอง เข้าไปรับชมเนื้อหา

จุดประสงค์หลักแต่เดิมของ “Onlyfan” จะเน้นไปที่การแสดงออกทางความสามารถ ซึ่งเริ่มต้นมาจากสหรัฐฯ แต่ปัจจุบันกลับพบว่า มีคนนำแอปฯนี้มาใช้เกี่ยวกับสื่อลามกอนาจาร ซึ่งสมาชิกที่เข้าร่วม “Onlyfan” ทั่วโลก ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 130 ล้านคน และมีรายได้เฉลี่ยมากถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก

และในประเทศไทยพบว่า มียูทูปเบอร์บางคนได้ไปสัมภาษณ์หญิงสาวที่ทำเนื้อหาใน “Onlyfan” ที่มีเนื้อหาล่อแหลม รวมถึงจำนวนรายได้จำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องไม่สมควร ไม่ต่างกับการเชิญชวนให้เยาวชนกระทำตาม ซึ่งทางตำรวจจับตากลุ่มคนกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด โดยในอดีตเคยมีการจับกุมการกระทำในลักษณะนี้จากแอปฯ “เอ็มไลฟ์” ที่มีการค้าประเวณีให้กับผู้ชม

พล.ต.ท.กรไชย บอกอีกว่า การทำคลิปวิดีโอเนื้อหาล่อแหลมผ่านแอปฯ “Onlyfan” เข้าข่ายความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และหากครอบครองสื่อลามกอนาจาร จะมีโทษจำคุก 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา

 "พฤติกรรมภาพวีดีโอมันบ่งบอกอยู่แล้วว่าเป็นความผิด คือลามกอนาจารการเปลือยส่วนที่เป็นหน้าอกอวัยวะลับ อวัยวะเพศ มันเป็นความผิดอยู่แล้วโดยตัวของมันเอง ท่านจะบอกว่าท่านไม่รู้ ตำรวจท่านมาจับได้ยังไงท่านไม่รู้เรื่อง มันไม่ใช่นะ การส่งสื่อลามกการร่วมเพศร่วมประเวณีไปให้กับใครก็ตาม ถ้าบุคคลนั้นเอาไปเผยแพร่และมีการแจ้งความ ก็ถือว่าคุณเป็นคนสืบ เพราะฉะนั้นความผิดมันเกิดขึ้น แต่มีผู้หญิงบางคนก็แค่แสนเดียวถูกปรับ เขาได้มามันมากกว่า ผมว่ากำลังเป็นค่านิยมที่ผิด คุณมองเงินเป็นใหญ่ แต่คุณไม่มองวัฒนธรรมของประเทศไทยซึ่ง เรามีวัฒนธรรมที่ดีมาตลอด เรากำลังจะสร้างให้เด็กเล็กๆซึ่งมีอายุน้อยๆไปเสพสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งกองประชาการเราจะต้องจับตาดู เป็นพิเศษ"  

ผบช.สอท. บอกอีกว่า สถานการณ์ตอนนี้ ยังมีความกังวลที่อาจจะมีผู้ที่ถูกหลอกจากกลุ่มมิจฉาชีพ โดยการหลอกให้สมัครสมาชิกหรือขายคลิปต่างๆ รวมถึงอาจจะมีการหลอกให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปร่วมขบวนการสร้างเนื้อหาอนาจาร แม้จะเป็นการยินยอม ก็จะต้องถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับข้อหาค้ามนุษย์ด้วย

เปิดใจหนุ่มใช้ “Onlyfan”

เรื่องการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง “Onlyfan” แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรในบ้านเรา (เพราะเริ่มเข้ามานิยมในไทยประมาณ 5 ปีแล้ว) แต่เจ้า “Onlyfan” ในตอนนี้กลับกลายเป็นช่องทางที่ทำให้ธุรกิจค้าประเวณีใช้เป็นอีกหนึ่งช่องทางหลักในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งทางทีมข่าวได้พูดคุยกับพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ที่เคยใช้ช่องทางนี้ในการ “นัดดื่มน้ำชาสยิว” กับหญิงสาวที่ทำการค้าประเวณี

“ทีมข่าวข้นคนข่าว” ได้รับข้อมูลจากหนุ่มออฟฟิศรายนี้ เปิดเผยว่า ตัวเขาเริ่มใช้บริการ “Onlyfan” ได้ประมาณ 2 ปีแล้ว ซึ่งมีการให้บริการทั้งทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น โดยจะเข้าไปดูหญิงสาวที่สร้างเนื้อหาและคลิปวิดีโอชวนสยิว ไม่ว่าจะเป็นการสวมชุดคอสเพลย์เซ็กซี่ หรือคลิปการร่วมรักกันระหว่างหญิงสาวคนนั้นกับแฟนหนุ่ม หรือแม้แต่หนุ่มคนอื่นที่อาจจะถูกเชิญมาร่วมหลับนอนด้วย แต่การเข้าชมคลิปเหล่านี้จะต้องมีการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต ซึ่งสนนราคาตั้งแต่ก 500 บาท (ราคาโปรโมชั่น) ไปจนถึง 2,500 บาทขึ้นไป รวมถึงการนัดเจอกันตามสถานที่ต่างๆ หรือที่เรียกว่า “นัดกินน้ำชา” และจะมีการร่วมหลักนอนกันอีกด้วย

หนุ่มผู้ใช้บริการ “Onlyfan” รายนี้ บอกอีกว่า เขาเคยใช้บริการ “นัดกินน้ำชา” กับหญิงสาว ซึ่งการนัดกินน้ำชานี้ ก็ไม่ต่างอะไรจากการนัดกันเพื่อจัดปาร์ตี้เซ็กส์หมู่ โดยจะมีการเรียกเงินค่าบริการดื่มน้ำชาสุดสยิวนี้ด้วย

5 ปัจจัยใช้โซเชียลฯ “ขายเสียวแลกเงิน”

คดีการจับกุมสามีภรรยา เจ้าของคลิปอนาจารที่ก่อเหตุในพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของคนบางกลุ่มที่อาศัยช่องว่างบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อนำเสนอคลิปที่มีเนื้อหาในเชิงอนาจารแลกกับการจำหน่ายคลิปให้กับกลุ่มแฟนคลับที่ต้องจ่ายเงินเข้ามาดู

พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร นักวิชาการด้านเทคโนโลยีสื่อสาร ให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นนี้ ซึ่งจำแนกออกเป็น 5 ข้อ คือ

1.แพลตฟอร์มและแอพพลิเคชั่นที่เกิดขึ้นทุกวันราวกับดอกเห็ด เป็นช่องทางให้คนบางกลุ่มสามารถนำเนื้อหาที่ตัวเองอยากเผยแพร่เข้าสู่แพลตฟอร์มและแอพพลิเคชั่นต่างๆได้โดยแทบไม่มีข้อจำกัด ทั้งเนื้อหาที่เป็นประโยชน์และเนื้อหาล่อแหลม ซึ่งผิดต่อบทกฏหมายและศีลธรรม รวมถึงกติกาที่ผู้คนยอมรับ

2.การสร้างคลิปที่เกิดขึ้น สะท้อนว่าไม่ใช่ความพลั้งเผลอ แต่เป็นความจงใจโดยตรง ซึ่งผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ควรจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมายไทย

3.แม้โซเชียลมีเดีย จะมีกฏระเบียบของแพลตฟอร์ม รวมทั้งแอพพลิเคชั่นต่างๆ จะมีกติกาบังคับให้ผู้ใช้งานจะต้องปฏิบัติตาม รวมถึงการบังคับใช้กฏหมายในแต่ละประเทศ แต่เมื่อกลับมาดูในโลกแห่งความเป็นจริง ก็ยังมีผู้ใช้โซเชียลมีเดีย “นอกแถว” มักจะนำโซเชียลมีเดียไปทำมาหากินแบบผิดกฎหมาย เพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตนเสมอ

4.ค่าตอบแทนจากการเผยแพร่คลิป ถือเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ผู้คนก้าวข้ามความยับยั้งชั่งใจไปอย่างง่ายดาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยับยั้งชั่งใจบนโลกออนไลน์ที่คนมักจะมองข้ามและละเมิดอยู่เสมอ

และ 5.จะคนเพียงบางกลุ่มเข้าใจว่าโซเชียลมีเดียคือ สื่อเสรีภาพที่ไร้ขีดจำกัด ซึ่งในความเป็นจริง โซเชียลมีเดีย คือ ช่องทางการนำเนื้อหาที่มีเสรีภาพในระดับหนึ่งภายใต้กฏเกณฑ์ของแพลตฟอร์ม และมีกติกามารยาทที่ไม่ได้เขียนระบุไว้ แต่ผู้ใช้จะต้องเป็นผู้ที่รับรู้เอง ทั้งกฎหมายและข้อบังคับต่างๆของแต่ละประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นกับสื่อมืออาชีพ หรือที่เรียกว่า “Main Stream Media” ซึ่งมีจริยธรรม การกำกับขอบเขต การตรวจสอบจากกองบรรณาธิการ และความรับผิดชอบของผู้ทำงานในสื่อนั้น