เปิดขั้นตอนฉีด "วัคซีนโควิด" รถ "BMV" เบ็ดเสร็จจุดเดียวถึงบ้าน
เช็คขั้นตอนใช้บริการ "รถฉีดวัคซีน" BMV ถึงบ้านเบ็ดเสร็จจุดเดียว กับภารกิจเป้าหมายระยะแรก "ผู้สูงอายุ-ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค-ผู้พิการ"
จากกรณี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ลงพื้นที่วัดเทพนารี เขตบางพลัด เพื่อตรวจหน่วยบริการฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ กทม. (BKK Mobile Vaccination Unit : BMV) ถือเป็นครั้งต่อการเพิ่มรูปแบบในระบบ "เคลื่อนที่" ให้บริการฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่กรุงเทพฯ
เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกรุงเทพฯ ขณะนี้ ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 3.1 แสนคน ทำให้หน่วยงาน กทม.ได้เร่งให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด นอกเหนือจากโครงการ "ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯปลอดภัย" เพื่อเจาะกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้เดินทางไปรับบริการฉีดวัคซีนทั้ง 25 แห่งทั่วกรุงเทพฯ
สำหรับโครงการ "หน่วยบริการฉีดวัคซีนเคลื่อนที่" BMV ครั้งนี้ มาจากการร่วมมืองระหว่าง กทม.กับภาคีเครือข่าย "เพจหมอแล็บแพนด้า" โดยเฉพาะได้รับการสนับสนุนรถบัส NGV จาก บริษัทสมาร์ทพลัส และ "จิรวัฒน์ จังหวัด" จากเพจโครงสร้างพื้นฐานประเทศไทย ซึ่งให้คำแนะนำในการปรับรูปแบบ "รถ BMV" ให้เหมาะสมกับการให้บริการฉีดวัคซีน
จุดประสงค์หลักของ "รถ BMV" เพื่อใช้เดินทางไปฉีดวีคซีนให้คนในกรุงเทพฯลงไปถึงระดับชุมชน เพื่อให้บริการได้เบ็ดเสร็จในจุดเดียว โดยมีการวางระบบภายในตัวรถอย่างครบวงจร ก่อนจะเปิดให้บริการเป็นทางการวันที่ 10 ก.ย.เป็นต้นไป
รูปแบบการฉีดวัคซีนเชิงรุกไม่ใช่แค่การเพิ่ม "รถ BMV" เท่านั้น แต่ "สำนักอนามัย" กทม.จะทยอยปรับรูปแบบ "รถบริการตรวจสุขภาพเคลื่อนที่" ซึ่งเคยปฏิบัติภารกิจให้การตรวจรักษาโรคทั่วไป หรือตรวจคัดกรองความเสี่ยงสุขภาพคนกรุงเทพฯ ให้เป็น "รถฉีดวัคซีนเคลื่อนที่" ในการบริการระยะต่อไป
สำหรับหน่วยบริการฉีดวัคซีนเคลื่อน BMV มี 3 จุดประสงค์ที่ กทม.ตั้งเป้าหมายไว้ ประกอบด้วย
1.เคลื่อนที่ได้รวดเร็ว เดินทางไปได้หลายแห่ง เข้าถึงประชาชนหลายกลุ่มและหลายชุมชน
2.ลดการเดินทางของประชาชน ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
3.ทุกขั้นตอนจบในรถคันเดียว ตั้งแต่การตรวจสอบประวัติ การฉีดวัคซีน และการออกใบนัด
โรดแมพที่ กทม.กำหนดไว้จะดำเนินการต่อเนื่องจนกว่าจะให้บริการวัคซีนแก่กลุ่มเป้าหมายได้ครบถ้วนมากที่สุด โดยศูนย์บริการสาธารสุขแต่ละพื้นที่ จะประสานกับ "สำนักงานเขต" สำรวจผู้ที่มีคุณสมบัติประชาชนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อประสานกลับมาที่ "หน่วย BMV" ในการจัดคิวเดินทางเข้าไปให้บริการในแต่ชุมชน โดยใน "ระยะแรก" กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้บริการ 4 กลุ่มหลัก
1.ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
2.ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค
3.ผู้พิการ
4.ผู้ที่ไม่สามารถเดินทางได้สะดวก
"กรุงเทพธุรกิจ" รวบรวมขั้นตอนการให้บริการฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ เบ็ดเสร็จจุดเดียวแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย
1.ผู้เข้ารับบริการต้องผ่านการคัดกรองเบื้องต้น และลงนามยินยอมรับบริการวัคซีน
2.ยืนยันตัวตนด้วยการเสียบบัตรประจำตัวประชาชนบริเวณทางขึ้นรถ โดยจะมีเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบข้อมูลจากจอแสดงบนผลด้านบนรถ
3.ให้ประชาชนขึ้นรับการฉีดวัคซีน
4.พักรอสังเกตอาการ 30 นาทีบริเวณด้านล่าง พร้อมรับใบนัดเข็ม 2
ข้ามมาที่ "อัพเดท" ยอดฉีดวัคซีน กทม.วันที่ 9 ก.ย.64 ขณะนี้มีผู้รับวัคซีนไปแล้ว 9,965,559 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 7,274,256 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 2,454,064 ราย และเข็มที่ 3 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์-เจ้าหน้าที่ด่านหน้า อีกจำนวน 177,707 ราย
หากแบ่งผู้รับวัคซีน 6 กลุ่ม จากทั้งหมด 3 เข็ม ประกอบด้วย
1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 603,282 โดส
2.ผู้ที่มีอายุ 60 ขึ้นไป 1,229,324 โดส
3.เจ้าหน้าที่ด่านหน้าผู้มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 275,943 โดส
4.หญิงตั้งครรภ์ 9,647 โดส
5.ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค 1,010,913 โดส
6.ประชาชนทั่วไป 6,836,450 โดส
ทั้งหมดเป็นภารกิจใหม่ กทม.ต่อแผนการเดินหน้าเร่งฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส "โควิด" ให้เร็วที่สุด บนเดิมพันชีวิตคนกรุงเทพฯ ในสถานการณ์การระบาดที่ยังไม่หยุดนิ่ง.