‘Long COVID’ อาการที่ต้องฟื้นฟู เมื่อหายจาก ‘โควิด-19’
อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ เมื่อติด“โควิด-19” รักษาหายแล้ว แต่รู้สึกยังไม่หายขาดเป็นปกติ ยังมีอาการที่เรียกว่า ‘Long COVID’ ทำให้หลายคนหงุดหงิด จึงต้องมีวิธีดูแลจัดการ
โรคระบาดติดเชื้อไวรัส โควิด-19 นับว่าเป็นโรคร้ายแรง ส่งผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว หลายคนที่ติดเชื้อโควิด-19 รักษาหายแล้ว แต่ทำไมยังรู้สึกเหมือนไม่หายดี
นั่นเพราะระหว่างติดเชื้อ ร่างกายมีการสร้าง antibody บางอย่างขึ้นมา เพื่อไปจับกับโปรตีนเซลล์ของอวัยวะบางส่วน และไปทำลายอวัยวะบางส่วน สร้างผลกระทบไปทั่วร่างกาย
Long COVID คืออะไร
ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดที่รักษาหายแล้ว บางรายไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม เพราะมีอาการ โควิดระยะยาว (Long COVID หรือ Long Hauler) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบาย บอกว่า อาการของผู้ป่วยโควิด มี 3 ระยะ
“จากผลการศึกษาของ The National Institute for Health and Care Excellence (NICE) ประเทศอังกฤษ อ้างอิง ณ วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2563 มีการแบ่งกลุ่มอาการของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน ได้แก่
• ระยะที่ 1 Acute COVID-19 : ระยะที่ผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อและมีอาการบ่งชี้ของโรคโควิด-19 ประมาณ 4 สัปดาห์
• ระยะที่ 2 Ongoing symptomatic COVID-19 : ระยะที่ผู้ป่วยมีอาการต่อเนื่องไปอีก 4-12 สัปดาห์
• ระยะที่ 3 Post-acute COVID-19 : ระยะที่ผู้ป่วยยังมีอาการบ่งชี้ของโรคโควิด-19 ในช่วงระหว่างที่พบเชื้อ หรือหลังจากการพบเชื้อ โดยยังคงมีอาการต่อเนื่องยาวนานกว่า 12 สัปดาห์
ข้อมูลผู้ป่วย 186,000 ราย ในประเทศอังกฤษ พบว่า 1 ใน 5 จะมีอาการโรคโควิด-19 ต่อเนื่องถึง 12 สัปดาห์ โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่ อ่อนเพลีย, ไอ, ปวดศีรษะ
และมีผู้ป่วยราว 9.9 % ที่มีอาการอยู่หลังจาก 12 สัปดาห์ไปแล้ว เช่นเดียวกับรายงานการศึกษาทางการแพทย์จากหลายประเทศ ที่ติดตามผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงจนถึงกลุ่มอาการหนักต้องเข้ารักษาในรพ.โรงพยาบาล พบว่า
หลังจากผู้ป่วยหายแล้ว อวัยวะบางส่วน มีความเสียหาย หรือ ถูกทำลายอย่างถาวร เช่น อาการปอดบวม หรือ เนื้อปอดถูกทำลาย โดยระดับความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการเข้ารับการรักษา และการกำจัดเชื้อโควิดในร่างกายว่าประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด
นอกจากนี้เชื้อโควิดยังส่งผลให้ โรคประจำตัว ของผู้ป่วยที่มีอยู่เดิมเกิด อาการรุนแรงมากขึ้น หลังหายจากโควิด-19 แล้ว เช่น โรคหัวใจ, โรคไต, ภาวะสมองเสื่อม
คล้ายคลึงกับภาวะที่เกิดขึ้นตามหลังการติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ ที่เรียกว่า ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome) อาจมีความแปรปรวนของระบบภูมิคุ้มกันโดยที่อาจมีไวรัสซ่อนหลบอยู่ เป็นต้น
ใครคือ กลุ่มเสี่ยง
ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงในการเกิด Long COVID ได้มากกว่ากลุ่มอื่น คือ ผู้สูงอายุ, ผู้ที่มีภาวะอ้วน, ผู้ที่มีโรคประจำตัว, ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ
ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนัก หรือผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ก็สามารถมีโอกาสเกิดอาการ Long COVID ได้เช่นเดียวกัน แต่จะไม่พบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันจากการรับวัคซีน
อาการ Long COVID มีอะไรบ้าง
มีตั้งแต่ ปวดหัว, มึนงง, ไม่สดชื่น, ความจำสั้น, สมาธิสั้น, แสบตา, คันตา, น้ำตาไหล, คัดจมูก, จมูกไม่ได้กลิ่น, การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป, หรือ พบอาการชาที่ลิ้นในบางราย, มีอาการไอ, หอบเหนื่อย, หายใจไม่ทัน, ใจสั่น, เจ็บแน่นหน้าอก, หายใจลำบาก, มีไข้, ปวดท้อง, อาหารไม่ย่อย, ปวดข้อ, กล้ามเนื้อลีบ, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, มีภาวะสมองล้า, นอนไม่หลับ, ความดันโลหิตสูง,วิตกกังวล, ซึมเศร้า
โดย 10 อาการ ที่พบมากสุด คือ เหนื่อยล้า, หายใจไม่อิ่ม, ปวดกล้ามเนื้อ, ไอ, ปวดหัว, เจ็บข้อต่อ, เจ็บหน้าอก, การรับรู้กลิ่นเปลี่ยนไป, ท้องร่วง, การรับรสเปลี่ยนไป
ภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ลิ่มเลือดอุดตัน, มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด, ไตวายเฉียบพลัน, ตับอักเสบเฉียบพลัน, ปัญหาทางระบบประสาท, ติดเชื้อในกระแสเลือด
ส่วน ผลข้างเคียง จากการนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ได้แก่ กล้ามเนื้ออ่อนแรง, เครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD), ทำให้จิตตก, ซึมเศร้า, ติดเตียง, แผลกดทับ, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
ถ้าได้ผู้ป่วยได้รับยารักษาอาการข้างเคียงในกลุ่ม สเตียรอยด์ ก็อาจจะมีอาการแสบกระเพาะ, กรดไหลย้อน, ค่าน้ำตาลไม่คงที่, เบาหวาน
ภาวะแทรกซ้อนของโควิด เกิดขึ้นได้ในระยะ 1-1 เดือนครึ่ง มีตั้งแต่ อาการหอบเหนื่อย, เพลีย, พบพังผืดที่ปอด, พบความผิดปกติที่ปอด, เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน, พบความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด, ภาวะติดเชื้อ, เกิดการอักเสบภายในอวัยวะสำคัญ ซึ่งพบได้น้อย แต่ก็เกิดขึ้นได้ การรักษาให้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
มีข้อสังเกตว่า อาการของ Long COVID พบในผู้ป่วยนอกประมาณ 35 % และผู้ป่วยใน ที่รักษาในโรงพยาบาล 87% โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจยาวนานถึง 3 เดือนขึ้นไป
รักษาโควิดหายแล้ว ต้องทำอย่างไร
รศ.พญ. พรรณพิศ สุวรรณกูล มีคำแนะนำว่า ไม่ควรออกกำลังกายมากเกินไป หรือหนักจนเหนื่อยเกินไป
“Long COVID เป็นภาวะหรืออาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโควิด-19 หลังจากได้รับเชื้อนาน 4 สัปดาห์ไปจนถึง 12 สัปดาห์ขึ้นไป อาการที่พบมีหลากหลายและแตกต่างกัน
โดยส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยโควิด-19 ที่เชื้อลงปอดและมีโรคเรื้อรังร่วมด้วย และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
สำหรับคนที่หายป่วยจากโควิด-19 ยังไม่แนะนำให้ออกกำลังกายมากเกินไปหรือออกกำลังกายจนเหนื่อยเกินไป
ควรปรับให้เป็นการออกกำลังแบบเบา ๆ เช่น เคยวิ่งอาจปรับเป็นเดินก่อน เป็นต้น เพื่อให้ปอดไม่ทำงานหนักจนเกินไปและร่างกายค่อย ๆ ฟื้นตัวและปรับตัวกลับสู่สภาวะที่แข็งแรง
ผู้ที่หายจากโควิด-19 แพทย์แนะนำให้สังเกตตัวเองอย่างละเอียด ประเมินร่างกายตนเองอยู่เสมอ และฟื้นฟูร่างกายอย่างถูกต้อง หากมีอาการที่รบกวนการใช้ชีวิตต้องรีบพบแพทย์เพื่อรักษาทันที อย่าปล่อยทิ้งไว้จนรุนแรงและเรื้อรัง”