3 แนวทาง 2 ระยะ "ท่องเที่ยวปลอดภัย" รับ "High season" ปลายปี
"ศบค." เตรียมความพร้อมรับ ฤดูกาลท่องเที่ยว "High season" ช่วงไตรมาส 4 ของปี เตรียมพิจารณา 3 แนวทาง พื้นที่ มาตรการควบคุม และขีดความสามารถในการรักษาหากพบผู้ติดเชื้อ เริ่มทดสอบระยะ 1 เดือน ต.ค. นี้
วันนี้ (15 ก.ย. 64) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวถึง ประเด็นข้อซักถามของกลุ่มการท่องเที่ยวถึงความชัดเจนเรื่องการเปิดประเทศเตรียมความพร้อมฤดูกาลท่องเที่ยว โดยระบุว่า ผอ.ศบค. ในฐานะนายกรัฐมนตรี มีการสั่งการว่า ให้มองไปถึงในช่วงฤดูการท่องเที่ยวในไตรมาส 4 ของทุกปี หรือที่คุ้นเคยว่าไฮซีซั่น จะต้องมีการเตรียมอย่างไร เพราะหากต้องอยู่กับโควิดไปเรื่อยๆ จำเป็นต้องปรับตัว ได้ให้นโยบายเป็นข้อสั่งการว่า ให้เตรียมความพร้อม สำหรับนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติเพื่อจะได้ท่องเที่ยวในช่วงของไฮซีซั่นไตรมาส 4 ของปีนี้ ได้แก่
1 ดูพื้นที่ ต้องเกิดพื้นที่นำร่อง ท่องเที่ยวปลอดภัยจากโควิด-19 COVID Free Tourist Area Sandbox เช่นเดียวกับ Phuket Sandbox ที่ทำมาก่อนหน้านี้ ดังนั้น ที่อื่นสามารถเปิดได้หรือไม่ โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพิจารณา หากพื้นที่เป็นเกาะ ก็จะสามารถทำ 7+7 แบบที่เคยทำมา หรือพื้นที่ที่มีสนามบินก็จะสามารถตรวจผู้ที่มาได้อย่างชัดเจน
2. ต้องกำหนดมาตรการในการป้องกัน ควบคุมโควิด ในพื้นที่นั้นๆ และต้องได้รับการเห็นชอบในการดำเนินการ ต้องดูความพร้อมพี่น้องประชาชนในพื้นที่ว่าพร้อมหรือไม่ หากตัวเลขการติดเชื้อ ไม่มากสามารถควบคุมได้ จำนวนการฉีดวัคซีนที่มีเหมาะสมเพียงพอ
3. ขีดความสามารถในการรักษา มีเตียง แพทย์ พยาบาลในพื้นที่เพียงพอหรือไม่ หากการระบาดเกิดขึ้นจะสามารถควบคุมโรค หรือ นำผู้ป่วยเข้าไปนอนรักษาใน รพ. ได้เพียงพอ
ทั้งนี้ ได้มอบให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงสาธารณสุขได้ทำการพูดคุย และให้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและกระทรวงมหาดไทย กำหนดในส่วนของพื้นที่ อาจจะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 พื้นที่นำร่อง 1 ต.ค. 64 เป็นต้นไป ในสถานที่ที่มีความพร้อมอยู่แล้วสามารถทดลองดำเนินการได้เลย เช่น ภูเก็ต สมุย
ระยะที่ 2 อาจเป็นพื้นที่อื่นๆ ราวๆ ช่วง 15 ต.ค. หรือ 1 พ.ย. 64 หาพื้นที่ที่มีความพร้อม แหล่งท่องเที่ยว ภูเขา ทะเล ในภาคตะวันออก ภาคเหนือ จะต้องหาพื้นที่ที่พร้อมและดำเนินการต่อไป
- 76 วัน ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
ภาพรวม ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ข้อมูล ณ วันที่ 14 ก.ย. 64 จำนวนคืนของผู้พัก ยอดจอง ก.ค. - ก.ย. 64 จำนวน 524,221 คืน จำนวนนักท่องเที่ยว 1 ก.ค. - 14 ก.ย. 64 จำนวน 32,005 คน คัดกรอง พบติดเชื้อ 91 คน คิดเป็น 0.28%
- เที่ยวบินสะสม 359 เที่ยวบิน
สำหรับเที่ยวบินที่เดินทางมายัง ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ สะสมกว่า 359 เที่ยวบิน จำนวนผู้เดินทางสะสม 32,005 คน โดย ประเทศต้นทางที่เดินทางเข้ามามากที่สุด อันดับ 1 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เดินทางเข้ามากว่า 5,668 คน
- นำร่อง 7+7 จำนวนคืนเข้าพัก 7,135 คืน
สำหรับ ในพื้นที่นำร่อง 7+7 ได้แก่ สุราษฎร์ธานี พังงา และกระบี่ มีจำนวนคืนเข้าพักรวมกว่า 7,135 คืน แบ่งเป็น
สุราษฎร์ธานี 3,936 คืน
พังงา 1,936 คืน
กระบี่ 1,263 คืน
“รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดได้มีการพูดคุยเข้ามาผ่านทางวิดีโอคอลเฟอร์เรนท์ระบุว่า ยังรับมือไหว ถึงแม้จะมีผู้ป่วย และเข้าอยู่ในรพ. แต่ส่วนใหญ่ 90% อาการไม่มาก อยู่ในกลุ่มสีเขียว สีเหลือง สีส้ม 4% และ แดง 6% ลักษณะนี้ ศักยภาพในการรักษายังรองรับได้” โฆษก ศบค. กล่าว