กรมชลประทาน เดินหน้าเตรียมโครงการเติมน้ำภูมิพล
กรมชลประทาน เดินหน้าเตรียมโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล ด้านอดีตนายกสมาคมชาวนา และเกษตรกรไทย เผยขาดน้ำทำชาวนาไร้ทางทำกิน
เมื่อวันที่ 16 ก.ย.64 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานมีมติเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมานั้น จากนี้กรมชลประทานก็จะเริ่มดำเนินการตามขั้นตอนการเตรียมความพร้อมของโครงการเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ(กนช.) เพื่อพิจารณาต่อไปคาดว่าจะสามารถทำรายละเอียดเสนอได้ประมาณปลายปี 2565
ทั้งนี้ ขั้นตอนการดำเนินการประกอบด้วย การลงสำรวจพื้นที่โครงการเพื่อกำหนดขอบเขตการขอใช้พื้นที่ และทำเรื่องเสนอต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)เพื่อขอใช้พื้นที่ทั้งของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช(อช.) ตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องเมื่อแล้วเสร็จขั้นตอนนี้จึงจะเสนอ กนช.เพื่อพิจารณาและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการ
รองอธิบดีกรมชลฯ กล่าวว่า การดำเนินการกรมชลฯ จะนำข้อสังเกตของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมมาประกอบ อาทิ การปลูกป่าทดแทนในพื้นที่เดิมหรือพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ขอใช้ประโยชน์ การปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA อย่างเคร่งครัด การส่งเสริมเกษตรกรฤดูแล้งในพื้นที่การเกษตร 1.6 ล้านไร่ ที่เป็นพื้นที่รับประโยชน์ โดยการปลูกพืชที่เพิ่มมูลค่า หรือพืชหลากหลายมากกว่าการทำนาข้าวเพื่อเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน เป็นต้น
นายสุเทพ คงมาก อดีตนายกสมาคมชาวนา และเกษตรกรไทย กล่าวว่า ดีใจที่โครงการนี้ผ่านกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ เพราะต่อสู้ในเรื่องการเพิ่มน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลกันมานาน เนื่องจากทุกภาคส่วนรู้ว่าน้ำคือสิ่งสำคัญ และฝนไม่ได้ตกตามฤดูกาล หรือตกมากเหมือนเมื่อก่อนมีความแปรปรวนของสภาพอากาศ จึงเห็นว่าเป็นโครงการสำคัญที่รัฐจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังเพราะเกษตรกรไม่สามารถทำอะไรได้หากขาดน้ำ และไม่ใช่เฉพาะการเกษตร ทุกสาขาอาชีพก็ต้องการใช้น้ำ ซึ่งในส่วนของเครือข่ายชาวนาได้ร่วมงานกับมหาวิทยาลัยนเรศวรในการลงพื้นที่ และร่วมในเวทีการรับฟังความเห็นของโครงการ
นายสุเทพ กล่าวว่า เกษตรกรพร้อมปรับตัวเพื่อเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือนซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรในลุ่มภาคกลาง ได้มีการจับมือกันระหว่างเครือข่ายชาวนาและเกษตรกรร่วมกันในการพัฒนาอาชีพ การปลูกพืชหลังนา เช่น เครือข่ายผู้ปลูกผักอินทรีย์ที่คลองหลวง จ.อยุธยา จนส่งสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ เครือข่ายเกษตรกรกำแพงเพชรปลูกข้าวพื้นนุ่ม กข.79 โดยร่วมกับสมาคมโรงสีข้าว และสมาคมผู้ส่งออกข้าว ในการพัฒนาการปลูกข้าวคุณภาพ เครือข่ายชัยนาทปลูกถั่วเขียว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเกษตรกรชาวนาไทยมีการจับมือ และการปรับตัวในการปลูกพืชอื่นเป็นอาชีพเสริม แต่เกษตรกรจะไม่สามารถทำอะไรได้เลยหากขาดน้ำ