"ทีมกรุ๊ป" เผย ฝนตกหนักปีนี้ ไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมปี 2554

"ทีมกรุ๊ป" เผย ฝนตกหนักปีนี้ ไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมปี 2554

"ชวลิต จันทรรัตน์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่งฯ หรือ "ทีมกรุ๊ป" ชี้ ฝนตกหนักปีนี้ ไม่ซ้ำรอย "น้ำท่วม" ปี 2554 แม้พบว่าปลายฤดูฝนนี้จะมีฝนตกมากกว่าปีปกติประมาณ 5-10% แต่จะไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่แต่อย่างใด

สถานการณ์​ฝนตกหนักในหลายพื้นที่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา อาจทำให้หลายคนกังวลว่า ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 จะเกิด "น้ำท่วม" เหมือนในอดีตเมื่อปี 2554 หรือไม่? ล่าสุดวันนี้ (18 ก.ย.64) นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ "ทีมกรุ๊ป" ได้เปิดเผยข้อมูลเชิงวิเคราะห์ ระบุว่า

ปลายฤดูฝนนี้ ไทยมีฝนตกมากกว่าปีปกติประมาณ 5-10% แต่ไม่มีน้ำท่วมใหญ่แต่อย่างใด และจะไม่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในพื้นที่หลักทั้ง 12 จุด

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สรุปข้อมูลจากบทวิเคราะห์มาให้ทราบดังนี้

1. ปลายปี 2564 ไทยมีน้ำท่วมบางพื้นที่เท่านั้น

ฝนที่จะตกในเดือนกันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายน ในปี 2564 จะมีปริมาณปกติหรือมากกว่าปีปกติเล็กน้อย จะมีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่ที่มีสิ่งกีดขวางทางน้ำเป็นบางพื้นที่เท่านั้น ไม่ได้เกิดน้ำท่วมเป็นพื้นที่ในวงกว้างเหมือนปี 2554 แต่อย่างใด

ในปี 2564 มีโอกาส 60% ที่จะเกิดปรากฏการณ์ "ลานินญ่า" (ฝนมากน้ำมาก) อาจจะเกิดขึ้นได้ในเดือนกันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนจะตกในภาคกลางและภาคอีสานตอนล่าง อีกทั้ง มีโอกาส 70% ที่จะมีฝนตกมากในเดือนพฤศจิการยน 2564 - มกราคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ฝนจะตกมากขึ้นในภาคใต้

แม้จะดูเหมือนปีนี้มีปริมาณน้ำมาก แต่หากเปรียบเทียบกับในต่างประเทศ ปีนี้ไทยจะไม่มีน้ำท่วมรุนแรงเหมือนที่เกิดในประเทศจีน, ญี่ปุ่น, เยอรมนี,  เบลเยียม, เนเธอร์แลนด์ หรือเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ดังที่เห็นในช่วงที่ผ่านมา

"ทีมกรุ๊ป" เผย ฝนตกหนักปีนี้ ไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมปี 2554

 

2. กรณีนิคมบางปู น้ำท่วมเพราะระบายไม่ทัน

กรณีน้ำท่วมในพื้นที่ "นิคมอุตสาหกรรมบางปู" เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมานั้น สาเหตุหลักเกิดจากระบบการระบายน้ำของตัวนิคมที่ระบายน้ำไม่ทัน รวมถึงการดูแลบำรุงรักษาระบบระบายน้ำของพื้นที่นิคมเองยังไม่ดีพอ เมื่อมีฝนตกในปริมาณ 114 ม.ม.ต่อวัน จึงทำให้ระบายน้ำจากในพื้นที่นิคมไม่ทัน (ประมาณ 4,400 ไร่)

3. กลางปีฝนน้อย ปลายปีฝนอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม - กลางเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่ามีฝนตกน้อยกว่าปกติ แต่ในช่วงหลังวันแม่เป็นต้นมา สภาพอากาศก็เข้าสู่เกณฑ์ปกติของฤดูฝน ทำให้มีฝนตกมากขึ้นกว่าช่วง 2 เดือนก่อน (ทำให้รู้สึกว่าฝนตกมากผิดปกติ ทั้งๆ ที่ในความจริงคือ ฝนตกในเกณฑ์ปกติ)

โดยในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาตะวันออก มีปริมาณฝนเข้าเกณฑ์ปกติเหมือนปีที่แล้ว ถัดมาในเดือนกันยายน 2564 ก็มีฝนตกในเกณฑ์ปกติเช่นกัน ส่วนเดือนตุลาคม 2564 จะมีฝนตกมากกว่าปีปกติเล็กน้อย

4. "ภาวะโลกร้อน" ไม่กระทบไทย

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไทยไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในปีนี้ นั่นคือ อิทธิพลของ "ภาวะโลกร้อน" โดยภาวะดังกล่าวมักจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประเทศที่อยู่ใกล้ขั้วโลก แต่เนื่องจากประเทศไทยอยู่ห่างจากขั้วโลกและใกล้เส้นศูนย์สูตร อิทธิพลของภาวะโลกร้อนจึงส่งผลกระทบไม่มาก  

5. ประเทศไทยมีเกราะกำบังอย่างดี

ประเทศไทยตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีเกราะกำบังไว้ดี ทางตะวันออกมีเวียดนาม กัมพูชา และลาวบังอยู่ ส่วนทางตะวันตกก็มีพม่าบังอยู่ ดังนั้น การจะเกิดฝนตกรุนแรงในไทยนั้น มีโอกาสเกิดได้ไม่มาก ขณะที่เวียดนามและพม่าซึ่งอยู่ติดกับทะเลหลวง จึงทำให้มีพายุฝนรุนแรงกว่าไทย

6. แม้ปีนี้ไม่มีน้ำท่วมใหญ่ แต่ต้องเฝ้าระวัง!

สำหรับบางพื้นที่ที่ยังไม่ได้ก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม และระบบระบายน้ำตามแผน (มีงบประมาณไม่เพียงพอ และยังไม่เห็นความสำคัญของการจัดสรรเงินงบประมาณมาใช้ในการก่อสร้างให้เพียงพอ) ก็ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยต้องเตรียมขุดลอกสิ่งปฏิกูลและวัชพืช ออกจากท่อระบายและคูคลอง รวมถึงควรเตรียมเครื่องสูบน้ำไว้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วย

ข้อแนะนำ : ทุกพื้นที่ต้องทำการบำรุงรักษา "ระบบระบายน้ำ" ที่มีอยู่แล้ว ให้มีประสิทธิภาพ และเตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุ ที่จะเกิดน้ำท่วมขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ หรือพื้นที่ที่มีสิ่งกีดขวางทางน้ำ เป็นต้น

"ทีมกรุ๊ป" เผย ฝนตกหนักปีนี้ ไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมปี 2554

7. กรุงเทพฯ 12 จุดเสี่ยง ยังบริหารจัดการได้

สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่ามีจุดอ่อน 12 จุด ที่เสี่ยง เมื่อมีฝนตกลงมาในปริมาณมากเป็นเวลานาน ก็จะเกิดน้ำท่วมขัง ระบายไม่ทัน (ดังแสดงในภาพข้างต้น) 

หากเป็นระบบของกรมชลประทานและ กทม. จะมีการดูแลบำรุงรักษาระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ใช้งานได้ดีเสมอ ในภาพรวม พื้นที่ กทม. ยังสามารถบริหารจัดการได้