นิปาห์ไวรัส "โรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน" ไม่มียา ไม่มีวัคซีน

นิปาห์ไวรัส "โรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน" ไม่มียา ไม่มีวัคซีน

ปัจจุบัน "โรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน" ไม่ได้มีเพียงแค่ "โควิด-19" เท่านั้น แต่ยังมี "โรคติดต่อร้ายแรง" ไม่ว่าจะจากสุกร ค้างคาว เช่น “เชื้อนิปาห์ไวรัส” ที่ปัจจุบันยังไม่มียาและวัคซีนป้องกัน

ขณะที่ทั่วโลกกำลังต่อสู้กับการระบาดของ "โควิด-19" กลับพบอุบัติการณ์ความน่ากลัวไม่แพ้กันหรืออาจจะมากกว่าอย่าง "ไวรัสนิปาห์" ซึ่งล่าสุด พบในประเทศ อินเดีย เป็นสาเหตุให้เด็กชายวัย 12 ปี ในรัฐเกรละ ทางตอนใต้ของอินเดียเสียชีวิต นับเป็น โรคติดต่อร้ายแรง ที่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตถึง 70% นอกจากนี้ ปัจจุบันไม่มีวัคซีน และยาในการรักษา

 

ข้อมูลจาก ฝ่ายไวรัสระบบประสาทและระบบไหลเวียนโลหิต สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เชื้อก่อโรค “เชื้อนิปาห์ไวรัส” (Nipah virus) จัดอยู่ใน Family paramyxoviridae , Genus Henipavirus มีลักษณะคล้าย กับเฮนดราไวรัส (Hendra virus) เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไข้สมองอักเสบนิปาห์ (Encephalitis nipah virus) ซึ่งเป็น โรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน โดยมีสุกรเป็นแหล่งเพาะโรค และมีค้างคาวเป็นแหล่งรังโรค

 

  • การติดต่อและการระบาด

 

นิปาห์ไวรัส ก่อให้เกิดโรคได้ทั้งในคนและในสัตว์ โดยการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย ปัสสาวะ ของสัตว์ที่เป็นโรค พบการระบาดครั้งแรกในประเทศมาเลเซีย ในปี พ.ศ. 2541-2542 ยังไม่มีรายงานการระบาดในประเทศไทย

 

  • ระยะฟักตัว

 

โดยเฉลี่ยประมาณ 1-2 สัปดาห์

 

  • อาการของโรคในผู้ป่วย

อาการในผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นอาการของโรคไข้สมองอักเสบ อาการเริ่มด้วยไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ บางรายอาจมีอาการทางระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย ตามด้วยอาการซึม สับสน ชัก โคมา และเสียชีวิต ซึ่งอัตราป่วยตายด้วยโรคไข้สมองอักเสบนิปาห์ในคนประมาณร้อยละ 40

อ่านข่าว : ตัตวงจรคลัสเตอร์โรงงานแปรรูปสุกร เมืองโคราช ระดมตรวจเชื้อเชิงรุก-กักตัวเสี่ยงสูง

  • การรักษา

 

ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนที่ใช้ในการรักษาการติดเชื้อนิปาห์ไวรัสในคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รักษาตามอาการ การใช้ยาต้านไวรัส Ribavirin ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อนิปาห์ไวรัส สามารถลดความรุนแรงของโรคได้

 

  • การควบคุมและป้องกันโรค

 

ให้ใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้อโดยใช้หลักสุขาภิบาลทั่วไป โดยเน้นที่การล้างมือทุกครั้งด้วยสบู่ เมื่อสัมผัสกับสัตว์ เนื้อสัตว์ ชากสัตว์ และห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ดิบๆ สุกๆ ชำระล้างเครื่องใช้ต่างๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น คลอรีนไอโอดีน เดทตอล เป็นต้น

 

ถ้าพบสัตว์ป่วยด้วยกลุ่มอาการไข้สมองอักเสบให้ทำลายสัตว์ป่วย หรือสัตว์ร่วมฝูง แล้วทำลายซากโดยการเผาทำลายหรือฝัง ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์จากจุดเกิดโรคในรัศมี 2 กิโลเมตร

 

  • การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ

 

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข มีความพร้อมในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ สามารถทำได้ 2 วิธี คือ

1. วิธีทาง Serology ด้วยเทคนิค ELISA : สามารถปฏิบัติการได้ในห้องปฏิบัติการระดับ 2

- ELISA IgM : ตรวจหาแอนติบอดีชนิด IgM เพื่อบ่งซี้ภาวะการติดเชื้อ

- ELISA IgG : ตรวจหาแอนติบอดีชนิด IgG เพื่อดูร่องรอยการติดเชื้อมาก่อน

 

วิธีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจ

 

- เจาะเลือดจากผู้ป่วยประมาณ 3-5 มิลลิลิตร ทิ้งให้เลือดแข็งตัวที่อุณหภูมิห้อง ดูดน้ำเหลืองที่แยกตัว ออกจากลิ่มเลือดไม่น้อยกว่า 100 ไมโครลิตร หรือปั่นตะกอนเม็ดเลือดเก็บส่วนน้ำเหลืองนำไป ทดสอบทันที หรือเก็บที่ 28 องศา ได้ไม่เกิน 3 วัน หากนานกว่านั้นให้เก็บแช่แข็งไว้ที่ -20 องศา

- เจาะน้ำไขสันหลังปริมาตรไม่น้อยกว่า 100 ไมโครลิตร

2. วิธีทาง Molecular ด้วยเทคนิค RT-PCR และ Real Time PCR : สามารถปฏิบัติการได้ในห้องปฏิบัติการระดับ 2 และระดับ 3

 

วิธีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจ

 

- เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ เช่น สมอง ปอด ไต ม้าม แช่ใน normal saline

- เก็บตัวอย่างน้ำลายไม่น้อยกว่า 2 มิลลิลิตร

- เก็บตัวอย่างปัสสาวะไม่น้อยกว่า 20 มิลลิลิตร

- เก็บตัวอย่าง Throat swab หรือ Nasal swab ใน VTM 2 มิลลิลิตร

- เก็บตัวอย่างน้ำไขสันหลังปริมาตรไม่น้อยกว่า 300 ไมโครลิตร

 

ข้อจำกัดในการเก็บตัวอย่าง

 

- ควรเก็บตัวอย่างส่งตรวจ 2 ชนิดตัวอย่างขึ้นไป

 

  • การส่งสิ่งส่งตรวจและข้อควรระวัง

 

- ตัวอย่างที่ส่งตรวจต้องติดฉลาก ชื่อ นามสกุล ผู้ป่วย ชนิดของสิ่งส่งตรวจ วันที่เก็บตัวอย่าง ให้ชัดเจน

 

- นำหลอด ตัวอย่างบรรจุในถุงพลาสติกกันน้ำ มัดถุงให้แน่น ใส่ในภาชนะเก็บความเย็นที่บรรจุน้ำแข็ง รีบนำส่งห้องปฏิบัติการทันที พร้อมแบบนำส่งตัวอย่าง ซึ่งได้กรอกประวัติ อาการและรายละเอียดอื่น ๆ ครบถ้วน

 

- ถ้าไม่สามารถนำส่งได้ทันทีให้เก็บไว้ในตู้เย็นอุณหภูมิไม่เกิน 2-8 องศา ไม่เกิน 3 วัน ถ้านานกว่านั้นควรเก็บไว้ที่ -20 องศา

 

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดทำการตรวจ ในวันและเวลาทำการ จันทร์ - ศุกร์ เวลาราชการ 08.30 - 16.30 น.

 

อ้างอิง : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์