ครูยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19อีก 2-4 แสนคน
สพฐ.ระบุครูฉีดวัคซีนโควิด-19แล้ว 70 % เร่งฉีดอีก 2-4 แสนคนให้ครบ 100 % ส่วนผู้ปกครงยังไม่ได้ฉีดประสานสสจ.ได้ กรมอนามัยเผยเด็กติดโควิด-19ราว 10 % อัตราเสียชีวิตค่อนข้างน้อยอยู่ที่ 0.03 %
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 ก.ย.2564 ในการแถลงข่าว ศบค. ศธ. พบสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย “3 ภาคีร่วมใจเพื่อเปิดเรียนปลอดภัยกับวัคซีนเด็ก” นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า พื้นที่ในประเทศไทย ไม่ได้เป็นสีแดงเข้มทั้งหมด มีบางอำเภอ ตำบล หมู่บ้านเท่านั้น จึงมีการหารือถึงวิธีการในการเปิดเรียนแบบออนไซต์ พบว่าน่าจะเริ่มได้หากมี 2 มาตรการหลัก คือ 1.หาวิธีการฉีดวัคซีนให้นักเรียนและครู ให้มีภูมิคุ้มกันในการติดเชื้อ
และ2.ประเมินสถานศึกษาให้มีความพร้อมและปลอดภัย จากแนวคิดนี้ได้ทดลองลงมือปฏิบัติโดยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นำร่องโครงการ sandbox safety zone in school (sss) การจัดการเรียนการสอนแบบปิด ในโรงเรียนนานาชาติและราชประชานุเคราะห์ ทดลองมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งโรงเรียนสามารถเปิดเรียนได้ จึงมีความเห็นพร้อมใจกันว่าถ้าจะให้เด็กได้เรียนออนไซต์ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด บวกกับวัคซีนไฟเซอร์เข้าประเทศไทยในปลายเดือนก.ย. จึงออกแบบเริ่มฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนน่าจะเริ่มฉีดได้ในวันที่ 4 ต.ค.นี้
“ครูฉีดแล้ว 70 % ถึงวันนั้นที่เปิดเรียนครูก็น่าจะฉีด 100 %ได้ถ้าสมัครใจ ส่วนนักเรียนโดยรวมจะดูแลนักเรียนตั้งแต่ก่อน ขณะฉีด และหลังการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) มีกระบวนการในการดำเนินการ แม้แต่จะเปิดโรงเรียน ไม่ได้แปลว่านักเรียนทุกคนต้องมาโรงเรียนเลย ถ้าผู้ปกครองยังไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัยอยากเรียนที่บ้านก็อนุโลมให้เรียนที่บ้านได้ และการมาเรียนไม่ได้มีรูปแบบเดียว อาจจะเรียนวันเว้นวัน หรือเรียน 3 วันอีก 2 วันหยุด ก็ขึ้นกับมาตรการที่โรงเรียนร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ประเมินสถานการณ์ของโรงเรียนนั้น แต่ในการคาดหวังของรมว.ศึกษาธิการและ สพฐ.ต้องการให้เปิดสอนออนไซต์โดยเร็ว ให้นักเรียนได้เรียนกับเพื่อนอย่างมีความสุข”นายอัมพรกล่าว
นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การดำเนินการในโรงเรียนประจำ
โดยคัดกรองคนเข้ามาในโรงเรียน ครูต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 85 % โรงเรียนมีเซฟตี้โซน มีโซน1-3 ซึ่งสามารถดำเนินการได้แม้ว่าอยู่ในโรงเรียนที่จำกัด เพียงแต่มีระยะพื้นที่อย่างชัดเจน เพราะถ้ามีการติดเชื้อในครู หรือนักเรียนไม่สามารถแพร่กระจายในวงกว้างให้นักเรียนกลุ่มอื่น และการทำกิจกรรมต้องเป็นกลุ่มเล็ก small bubble และการเดินทางต้องเป็นซีล แทร็ก สามารถเดินทางจากบ้านมาที่โรงเรียนได้อย่างปลอดภัย เป็นมาตรการหลักๆ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีหลายแห่งที่ดำเนินการแบบนี้แล้วสามารถดักจับ โดยการคัดกรอง พบผู้ติดเชื้อและส่งเข้าสู่กระบวนการรักษา และการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทิภาพ ถือเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จให้สถานประกอบการอื่น นำไปใช้ในเรื่องของการทำแซนด์บอกซ์ เซฟตี้โซน
ส่วนโรงเรียนไปกลับ วางมาตรการตั้งแต่การคัดกรอง วัคซีนครูพื้นที่สีแดง สีแดงเข้มต้องเข้มข้นมากยิ่งขึ้น วัคซีนของเด็กมีแผนนำเข้ามาฉีดนักเรียน 12 ปีขึ้นไปในต้นต.ค. ซึ่งมีการจัดหาวัคซีนอย่างเพียงพอ และการจัดกิจกรรมในโรงเรียนจะต้องเป็นลดความเสี่ยงให้มากที่สุด และมีการตรวจประเมินโดยคณะกรรมกาารตรวจประเมินในพื้นที่
นพ.สราวุฒิ กล่าวอีกว่า การนำวัคซีนเข้ามาใช้ในเด็กของประเทศไทยนั้น ขณะนี้ทั่วโลกวัคซีนที่ใช้ในกลุ่มเด็กมีข้อมูลเพียงบางส่วน หลายประเทศ อเมริกา ยุโรป อังกฤษ รวมถึงประเทศไทยอนุมัติให้ใช้วัคซีนชนิดmRNA โดยช่วงเดือนที่ผ่านมามีการให้กลุ่มเด็กเสี่ยง 7 โรคหลัก เพราะถ้าติดเชื้อแล้วจะมีความรุนแรงมากกว่าเด็กปกติ โดยปกติเด็ก 12-19 ปี พบว่าอัตราการติดเชื้อ10 % เมื่อเทียบกับของผู้ใหญ่ ความรุนแรง และทำให้เสียชีวิตค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่อยู่ที่ 0.03 % อัตรการตายน้อยมาก ส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตเกิดจากโรคประจำตัวด้วยเป็นข้อมูลที่ตรงกันทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย
สำหรับความปลอดภัยของวัคซีนผ่านการพิจารณาของคณะผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ และโรคติดเชื้อ เห็นพ้องต้องกันว่า เด็ก 16-18 ปีขึ้นไป จำเป็นต้องได้รับวัคซีนในกลุ่มเหล่านี้ มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง มีบางส่วนที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเกิดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กชายมากกว่าผู้หญิง และเกิดในโดสที่ 2 มากกว่าโดสที่ 1 สิ่งเหล่านี้ต่างประเทศและประเทศไทยจะเจอน้อย ในไทยจาก 1 ล้านคนเจอ 1 คน และอาการไม่รุนรแรงสามารถรักษาให้หายได้
ส่วนวัคซีนตัวอื่นที่จะใช้ในประเทศ ในต่างประเทศ เช่น จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรต ได้มีการใช้วัคซีนเชื้อตายทั้งซิโนแวค และซิโนฟาร์ม ในต่างประเทศได้รับการอนุมัติให้ใช้ในบางประเทศที่กล่าวข้างต้น ส่วนของประเทศไทยที่มีการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มเป็นการศึกษาวิจัย ส่วนของอย.ล่าสุดยังไม่อนุมัติให้ใช้ในเด็กเนื่องจากยังไม่มีการทดลองในระยะที่ 3 ที่แสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยได้ คงต้องรอข้อมูลอีกส่วนหนึ่งถึงจะเห็นความปอลดภัยจึงจะนำมาใช้กับเด็กทั่วไปในประเทศไทย
“ครูที่ยังไม่ได้รับวัคซีน โดยเฉพาะพื้นที่สีแดง สีแดงเข้มประมาณ 2-4 แสนคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน มีนโยบายสธ.และศธ.ว่าจะพยายามที่จะต้องให้ได้รับวัคซีนได้ครบ เพื่อความปลอดภัยของเด็กและผู้ปกครองด้วย ส่วนผู้ปกครงนักเรียนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ให้แจ้งสสจ.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับวัคซีน เพราะมีนโยบายให้กลุ่มผู้ปกครองได้รับวัคซีนด้วย”นพ.สราวุฒิกล่าว
นพ.สราวุฒิ กล่าวด้วยว่า มีสถานประกอบการ กิจกรรมหลายแห่งได้ดำเนินการเปิดต้องทำมาตรการให้เข้มข้น ในเรื่องโควิด ฟรีโซน ซึ่งสถานศึกษาสามารถการันตีได้ว่าโควิดฟรีโซนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มาตรการในโรงเรียนค่อนข้างมั่นใจมากกว่า เพราะครูทำตามอย่างเคร่งครัดและนักเรียนทำตามมาตรการที่จัดไว้ ความเสี่ยงจะลดลง แต่จะไม่ให้ติดเลยเป็นไปไม่ได้ หลายที่แม้ทำมาตรการดีขึ้นแล้ว ให้วัคซีนต็มที่และสามารถติดได้ แต่ความรุนแรงลดลงและไม่แพร่ระบาดวงกว้าง