รู้ก่อนฉีดเข็ม 3 วัคซีนโควิด-19 บูสเตอร์โดส
24 ก.ย. 2564 เป็นวันดีเดย์ฉีดเข็ม 3 วัคซีนโควิด-19เป็นบูสเตอร์โดสให้กับผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มช่วงมี.ค.-พ.ค. ใครได้สิทธิระยะแรกและอาการข้างเคียงเป็นอย่างไร
ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564ว่า การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของไวรัส covid-19 ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง การกระตุ้นภูมิต้านทานให้สูงขึ้นจึงมีความจำเป็น
การฉีดวัคซีน มี การให้เบื้องต้น และ กระตุ้น เช่น ไวรัสตับอักเสบบี จะให้เบื้องต้น 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน และกระตุ้นเข็มที่ 3 อีก 6 เดือนต่อมา ทำนองเดียวกัน วัคซีน covid 19 ถ้ามีการกระตุ้นเข็ม 3 ภูมิต้านทานจะสูงขึ้นมาก
การให้วัคซีนเบื้องต้น 2 เข็ม เช่นเชื้อตาย เปรียบเสมือนให้ร่างกายรู้จักเหมือนการติดเชื้อ เมื่อกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิด virus vector หรือ mRNA กระตุ้นภูมิต้านทานได้สูงมาก
อ่านข่าว : "วัคซีนเชื้อตาย" ฝีมือคนไทย เฟส 1 ตรวจแอนติบอดีต่อสไปรค์ได้ 100%
งานวิจัยที่ศูนย์เชี่ยวชาญไวรัส จุฬา แสดงให้เห็น ใน preprint https://www.medrxiv.org/.../2021.09.16.21263692v1.full.pdf
การกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย AstraZeneca หลังจากได้รับ Sinovac มาแล้ว 2 เข็ม ภูมิต้านทานสูงมาก และขัดขวางสายพันธุ์เดลต้าในการทดลอง และ มีระดับภูมิต้านทาน IgA ในเลือดสูงกว่าการให้เบื้องต้นอย่างมาก
การตรวจในห้องปฏิบัติการ ภูมิที่สูงขึ้นสามารถขัดขวางสายพันธุ์ไวรัสเดลต้าได้ หลายประเทศมีการให้วัคซีนฉีดเข็ม 3 กันแล้ว ประเทศไทยให้เข็ม 3 ด้วยวัคซีนตามคุณสมบัติและการศึกษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรค
กลุ่มเป้าหมายฉีดเข็ม 3ระยะแรก
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ อนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เห็นว่า คนที่ฉีดครบก่อนภูมิคุ้มกันขึ้นก่อน และค่อยๆ ตกลง จะฉีดตามลำดับการฉีดครบของวัคซีน เช่น มี.ค.-พ.ค. เพราะภูมิคุ้มกันตกแล้วก็จัดมาฉีดก่อน และจะใช้วัคซีนแอสตร้าฯในการฉีดบูสเตอร์
“หากกลุ่มนี้ฉีดครบแล้วก็เป็นกลุ่มที่ฉีดในเดือน มิ.ย.ต่อไป เพราะคนเพิ่งฉีดครบ 2 เข็มภูมิคุ้มกันยังสูงอยู่ โอกาสติดเชื้อป่วยหนักรุนแรงน้อยกว่า”นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ของประชาชน ยังเป็นความสมัครใจ จะเป็นการฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.2564 ก็จะเริ่มจากกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ก่อน ก็จะทยอยรับวัคซีนได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นการฉีดในโรงพยาบาลที่รักษาอยู่แล้ว
ฉีดเข็ม 3 กลุ่มอื่นๆ
ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดสหลังจากช่วงเวลาดังกล่าว ก็จะมีการให้ฉีดเข็ม 3 ในระยะๆต่อๆไป โดยหลักการจะห่างจากเข็มที่ 2 ราว 4-6 เดือน
ดังนั้น รพ.จะติดตามมาฉีดได้หรือหากประชาชนที่รับซิโนแวค 2 เข็มในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. แล้วต้องการฉีดเข็ม 3 ก็สามารถติดต่อรพ.ที่รักษาโรคอยู่แล้ว ,รพ.ใกล้บ้าน หรือรพ.ที่เคยรับวัคซีนได้ หากมีวัคซีนก็ฉีดได้ แต่หากยังไม่พร้อม ประชาชนก็สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ไว้ก่อนได้ ทั้งนี้ ระบบติดตามก็เป็นไปได้ทั้งการส่งข้อความในเบอร์มือถือ ระบบหมอพร้อม จึงขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ในผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วแต่เกิดติดโควิด-19ก่อนครบ 14 วันหลังฉีดเข็มที่ 2 โดยให้ฉีดเข็ม 3 ในช่วง 1-3เดือนหลังจากตรวจพบเชื้อ และหายดี รวมทั้งพ้นระยะกักตัวหรือหากเกิน 3 เดือนให้วัคซีนโดยเร็ว
กรณีคนฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) กล่าวว่า หากแนวทางการวิชาการทางการแพทย์ให้ความเห็นว่าถึงเวลาที่คนกลุ่มนี้จะต้องได้รับการฉีดเข็ม3บูสเตอร์โดส สธ.ก็พร้อมให้บริการ
อาการข้างเคียงฉีดเข็ม 3
ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 5 ก.ย.2564 ระบุว่า อาการข้างเคียงวัคซีนกรณีการฉีดเข็ม 3 หรือบูสเตอร์โดส
กรณีสูตรเข็ม1-2เป็นซิโนแวคและฉีดเข็ม3เป็นแอสตร้าฯ อาการข้างเคียงวัคซีน ที่ต้องรักษาเป็นผู้ป่วยใน 88 ราย ไข้ 23.86% ปวดศีรษะ 28.41 % อาเจียน 18.18% ปวดกล้ามเนื้อ 18.18 %คลื่นไส้ 22.73 % ผู้ป่วยนอก 205 ราย ไข้ 22.44 % ปวดศีรษะ 20.49 % เวียนศีรษะ19.02 % ปวดกล้ามเนื้อ 19.51 % คลื่นไส้ 14.63 % โดยมีรายงานผู้เสียชีวิต 3 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนแต่เป็นเหตุการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน 2 ราย และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล 1 ราย
กรณีการฉีดเข็ม 3 หรือบูสเตอร์โดส สูตรเข็ม1-2เป็นซิโนแวคและเข็ม3เป็นไฟเซอร์ ผู้ป่วยใน 18 ราย ไข้ 33.33% ปวดศีรษะ 27.78 % อาเจียน 27.78% คลื่นไส้ 27.78 % เวียนศีรษะ 22.22% ผู้ป่วยนอก 98 ราย ไข้ 16.33 % ปวดศีรษะ 15.31% ผื่น 13.27% เวียนศีรษะ13.27 % คลื่นไส้ 18.37 % โดยมีรายงานผู้เสียชีวิต 3 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาว่า ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน 1 ราย และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล 2 ราย