ไอเดีย "เมนูอาหาร-สมุนไพร" ทำง่าย อร่อย ถูกหลักโภชนาการ เสริมภูมิคุ้มกัน
“การดูแลสุขภาพ” มีความสำคัญอย่างมากในยุคที่มีทั้งโรคระบาดอย่างโควิด-19 และสภาพอากาศที่มีทั้งฝนตก อากาศร้อนสลับกันไปมาก แถมเกิดน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย
ด้วยการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น การดูแล ป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคต่างๆ จึงจำเป็นอย่างมาก และ “อาหาร” เป็นอีกหนึ่งวิธีง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถเลือกรับประทานให้ถูกหลักโภชนาการ และสุขอนามัยที่ดี
- โภชนาการแก้ไขปัญหาสาธารณสุข
“สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข” หน่วยงานที่ได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมโภชนาการสำหรับคนทุกกลุ่มวัย การเลือกกกินอาหารครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอ เหมาะสม ปลอดภัย โดยนอกจากส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชน และผู้ประกอบการร้านอาหาร ในการพัฒนาเมนูอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการแล้ว ล่าสุด ได้มีการเปิด “ครัวอนามัย(DOH Kitchen) สาธิตอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งจะร่วมกับภาคีเครือข่ายสาธิตการทำอาหารเพื่อสุขภาพ ทุกวันศุกร์ผ่านเฟสบุ๊ค สำนักโภชนาการ
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเปิดงาน “ครัวอนามัย (DOH Kitchen) สาธิตอาหารเพื่อสุขภาพ”ว่ากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุน อาหารเพื่อสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ความสะอาด ปลอดภัย และความอร่อย โดยดำเนินการควบคู่กับเรื่องของโภชนาการ เพราะโภชนาการสามารถแก้ไขปัญหาสาธารณสุขได้ อาทิ เรื่องโรคคอพอก ที่มีการส่งเสริมให้ใช้เกลือไอโอดีนในการประกอบอาหาร จนทำให้ภาวะคอพอก ในปัจจุบันแทบจะไม่มีเกิดขึ้น
- คนไทยกินน้ำตาลมากกว่าวันละ25ช้อนชา
“การนำความรู้ด้านโภชนาการเพื่อให้ประชาชน และผู้ประกอบการร้านอาหาร ผ่าน ครัวอนามัย สาธิตอาหารเพื่อสุขภาพ จะเป็นแหล่งเรียนรู้ในการส่งเสริมสุขภาพด้านโภชนาการทุกกลุ่มวัย เป็นการทำอาหารอร่อย ทำได้ง่าย และได้สุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถนำสูตรอาหารที่พัฒนาเมนูสุขภาพลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้ และได้รับการยอมรับ ถูกหลักตามโภชนาการ”นพ.สุวรรณชัย กล่าว
ทั้งนี้จากฐานข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่า คนไทยกินน้ำตาล มากถึงวันละ 25 ช้อนชา ซึ่งมากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ไม่เกินวันละ 6 ช้อนชากว่า 4 เท่า และมากกว่าครึ่งของปริมาณน้ำตาลที่ได้รับมาจากเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมน้ำตาล
สอดคล้องกับรายงานของสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ปี 2562 พบวัยทำงาน 1 ใน 3 มีการกินผักได้ตามปริมาณที่แนะนำและมีการเติมเครื่องปรุงรสเค็มทุกครั้งเมื่อกินอาหาร ร้อยละ 10.1 และร้อยละ 16.9 มีการดื่มเครื่องดื่มรสหวานทุกวัน
- โภชนาการ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน
ดร.พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า วิถีปัจจุบันการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้คนวัยทำงานเลือกกินอาหารที่มีความสะดวก รวดเร็ว อาหารสำเร็จรูปจากร้านสะดวกซื้อ อาหารนอกบ้านมากขึ้น รวมถึงการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการอาหารรสหวานจัด มันจัด เค็มจัด และทานผักผลไม้ไม่เพียงพอ
นิยมดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานจัด ทำให้เป็นสาเหตุโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไข้มันในเลือดสูง โรคไขมันโลหิต และโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเสียชีวิตหากติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้น การรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ลดหวาน มัน เค็ม จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและป้องกันโรคต่างๆได้
“ประชาชนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในการรับประทานอาหาร ต้องทานให้ครบ 5 หมู่ และถูกหลักโภชนาการ ซึ่งนอกจากจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันแล้ว ยังสามารถช่วยป้องกันโรคต่างๆ ได้อีกด้วย เพราะการรับประทานอาหาร ทานดีมีคุณค่าต่อร่างกายแต่หากทานไม่ถูกหลักก็มีโทษต่อร่างกายเช่นเดียวกัน”ดร.พญ.สายพิณ กล่าว
- เมนูอาหารสุขภาพป้องกันโรค
ด้าน โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ได้มีการจัดทำ คู่มืออาหารสมุนไพร เสริมภูมิคุ้มกัน โดยรวบรวมหลักฐานทางวิชาการเกี่ยวกับสมุนไพรและตำรับอาหารสมุนไพร ที่มีหลักฐานวิชาการสนับสนุนใน 3 กลไก คือ การ เสริมภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบ และต้านไวรัส ชนิดต่างๆ ซึ่งเมนูอาหารสุขภาพเหล่านี้ นอกจากมีสารอาหารหลัก 5 หมู่แล้ว ยังสามารถทำได้ง่ายๆ อย่าง ไข่เจียวหอมใหญ่ ที่จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน โดยสูตรนี้ จะใช้ไข่ไก่ ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน และหอมใหญ่ มีสารเคอซิทิน ช่วยป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ และมีฤทธิ์ในการป้องกันการอักเสบ
ผัดหวานผัดไข่ โดยใช้ไข่ไก่ แหล่งโปรตีนที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและวิตามินเอ และผักหวาน วิตามินเอสูง ใบมีรสหวานเย็น ปรุงเป็นยาเขียว แก้ไข้ พบฤทธิ์ต้านการอักเสบ และกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือ เมนูยอดนิยมของคนไทยต่างชาติ อย่าง ต้มยำกุ้ง ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ ต้านไวรัส ซึ่งสูตรนี้ มีไก่ กุ้ง มีโปรตีน ใช้สร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันต่างๆ เครื่องเทศ ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ต้านไวรัส ต้านการอักเสบ ช่วยย่อย มะนาว ความเปรี้ยว ละลายเสมหะ ช่วยย่อย มีสารต้านไวรัส
- เครื่องดื่มสมุนไพรช่วยต้านโควิด-19
ดร.วนะพร ทองโฉม นักวิชาการโภชนาการ กลุ่มสาขาวิชาโภชนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิด กล่าวว่างานวิจัยสมุนไพรไทยที่หลากหลาย ทำให้คนไทยหันมาสนใจศึกษาหาข้อมูลสรรพคุณสมุนไพรไทยมากขึ้น เพราะอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่ง
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาค้นคว้าจนพบว่าสารสกัดที่ได้จากกระชายขาว ได้แก่ แพนดูราทินเอ และพิโนสโตรบิน สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสโควิด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถึงอย่างนั้นการค้นคว้านี้ยังคงอยู่ภายใต้การทดลอง เพื่อพัฒนาให้มีความปลอดภัยมากขึ้น หากต้องนำมาใช้กับผู้ป่วยจริง ๆ
“เมนูน้ำต้มแก่นฝางแดง ซึ่งสามารถแก้อาหารไอ และแก้หวัด หรือน้ำกระชายปั่น บำรุงร่างกาย เพิ่มความสดชื่น น้ำสมุนไพรเหล่านี้สามารถนำมาปรุงแต่งเป็นเครื่องดื่มผสมน้ำผึ้ง น้ำมะนาว แต่ทั้งนี้ก็ต้องระหว่างในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน ต้องดูปริมาณระดับน้ำตาลในเลือดร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารเพื่อคุณต่อร่างกายนั้น ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้คุณค่าทางอาหารที่ครบถ้วน ออกกำาลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ เชื่อได้ว่าเมื่อร่างกายเราแข็งแรง เราก็จะมีภูมิคุ้มกันทีดีได้อย่างแน่นอน” ดร.วนะพร กล่าว