เปิดข้อสงสัย "น้ำท่วมใหญ่" กทม. ? เทียบปัจจัยมหาอุทกภัย 54
ปัจจัยชี้วัดสำคัญน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับมหาอุทกภัยปี 54 หรือไม่ อยู่ที่ปริมาณระบายน้ำ จากเขื่อนหลัก ระดับน้ำเจ้าพระยา ไปจนถึงสถานการณ์พายุเข้าประเทศไทย
สถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง จากอิทธิพลของพายุ "เตี้ยนหมู่" ขณะนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำหลายฝ่ายกำลังรวบรวมข้อมูล เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มของภาวะน้ำท่วม จะเกิดขึ้นเช่นเดียวกับมหาอุทกภัยในปี 2554 หรือไม่
โดยเฉพาะหน่วยงาน กทม.ยังเฝ้าระวังมวลน้ำจากภาคกลาง ที่ไหลผ่านเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำสำคัญที่เคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปลายปี 2554 มาวันนี้ผ่านมา 10 ปีจากประสบการณ์และการเร่งพัฒนา "ระบบป้องกันน้ำท่วม" ทำให้ กทม.เร่งเตรียมความพร้อมแนวรับน้ำที่กำลังไหลเข้าสู่กรุงเทพฯ
จากภาวะศึก 3 ด้านที่ กทม.โฟกัสไปที่การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตั้งแต่ "น้ำเหนือ-น้ำหนุน-น้ำฝน" เป็นปัจจัยหลักกระทบต่อระดับน้ำภายในเมือง "กรุงเทพธุรกิจ" พาไปสำรวจแนวรับน้ำของกรุงเทพฯ 3 ด้าน ดังนี้
1.น้ำเหนือ ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำจะระบายออกทะเลโดยตรง
2.น้ำที่ผ่านมา "ฝั่งตะวันออก" กรุงเทพฯ จะมีคลองระพีพัฒน์ ทำหน้าที่รับน้ำด่านแรก จากนั้นน้ำจะถูกผันเข้าประตูระบายน้ำพระนารายณ์ ผ่านคลอง 13 ผ่านเขตหนองจอก ผ่านเขตมีนบุรี ผ่านเขตลาดกระบัง และไหลออกสู่ทะเลที่ จ.สมุทรปราการ
3.น้ำที่ผ่านมา "ฝั่งตะวันตก" กรุงเทพฯ จะมีแม่น้ำนครชัยศรี และแม่น้ำท่าจีนทำหน้าที่รับน้ำ โดยมีคลองมหาสวัสดิ์ คอยเชื่อมน้ำเข้าสู่ระบบ โดยในฝั่งตะวันตกมวลน้ำจะใช้เวลาไม่นานไหลผ่านไปสู่แม่น้ำท่าจีนก่อนออกสู่ทะเล
ชุมชนนอกแนวป้องกัน 358 ครัวเรือน
สำหรับแผนบริหารน้ำของ กทม.ในกรณี "น้ำเหนือ" ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีสถานีสูบน้ำ 190 แห่งทำงานร่วมกับบ่อสูบน้ำ 329 แห่ง และประตูระบายน้ำ 243 จุด เพื่อบล็อคน้ำไม่ให้เข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ขณะที่ "ฝั่งตะวันออก" จะบริหารมวลน้ำผ่านคลองประเวศ คลองแสนแสบ และเข้าอุโมงค์ระบายน้ำ เข้าสถานีสูบน้ำที่พระโขนง ส่วน "ฝั่งตะวันตก" จะระบายน้ำผ่านคลองทวีวัฒนาเรียบไปตัดคลองภาษีเจริญ เข้าสู่แก้มลิงสนามชัยที่คลองราชมนตรี โดยที่น้ำบางส่วนจะไหลสู่คลองดาวคะนอง คลองชักพระ และคลองบางกอกใหญ่
ขณะที่ "แนวป้องกัน" ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กทม.ได้ก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมถาวร ตั้งแต่คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ ปากคลองชักพระ และคลองพระโขนง ความยาวทั้งหมด 87.93 กิโลเมตร(กม.) กทม.ก่อสร้างแล้วเสร็จ 79.63 กม. ส่วนพื้นที่ที่เหลือ 8.30 กม.เป็นของเอกชนและหน่วยงานราชการอื่นที่ไม่สามารถเข้าไปได้
แต่ในกรุงเทพฯ ยังมีชุมชนที่อาศัย "นอกแนวป้องกันน้ำท่วม" 17 ชุมชน 358 ครัวเรือน หากมีน้ำหลากและน้ำทะเลหนุนสูง ในจุดนี้ กทม.ได้วางแนวกระสอบทรายเป็นแนวชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่
"ผู้ว่าฯกทม." พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง สั่งหน่วยงาน กทม.เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมตามแนวฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 จนถึงบางนา โดยควบคุมการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 97 สถานี และเตรียมเครื่องสูบน้ำสำรอง เรือผลักดันน้ำ และจัดเรียงกระสอบทรายริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์บริเวณนอกแนวป้องกัน และบริเวณแนวป้องกันมีระดับต่ำ ให้มีความสูง 2 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.)
ปัจจัยชี้วัดน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ
ทว่าปัจจัยชี้วัดสำคัญที่ กทม.ต้องมอนิเตอร์อยู่ที่ "ปริมาณระบายน้ำ" จากเขื่อนหลัก ตั้งแต่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ซึ่งปัจจุบัน(28 ก.ย.) อยู่ในเกณฑ์ระบายน้ำ 2,639 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) ยังแตกต่างกับการระบายน้ำในปี 2554 มีปริมาณน้ำมากถึง 3,700 ลบ.ม./วินาที
หรือหากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในปี 2560 ซึ่งมีปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานี C.29A อ.บางไทร อยู่ที่ 2,882 ลบ.ม./วินาที ซึ่งในปีนั้นไม่มีน้ำท่วมกรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันสถานีบางไทรมีปริมาณน้ำไหลวัดได้เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 28 ก.ย. เฉลี่ยอยู่ที่ 2,311 ลบ.ม./วินาที แต่เกณฑ์ของกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบกับมวลน้ำเจ้าพระยา ต้องมีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.29A ในอัตรา 3,500 ลบ.ม./วินาที ขึ้นไป
ที่สำคัญในปี 2554 ไทยได้รับอิทธิผลทางตรงและทางอ้อมจากพายุที่เคลื่อนตัวมากถึง 5 ลูก ได้แก่ ไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาดและนาลแก ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนและแม่น้ำสูงขึ้นตลอดทั้งปี แต่ในปี 2564 ยังมีเพียงพายุดีเปรสชัน "เตี้ยนหมู่" เข้ามาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายจังหวัดอีสานตอนบน
สำหรับตัวเลขสำคัญที่บ่งบอกว่าสถานการณ์ขณะนี้ ยังไม่เทียบกับปี 2554 อีกหนึ่งเกณฑ์ชี้วัดอยู่ที่ระดับน้ำเจ้าพระยาวัดได้เมื่อวันที่28 ก.ย.บริเวณปากคลองตลาดอยู่ที่ 1.45 ม.รทก. โดย ผู้ว่าฯอัศวินเปิดเผยว่าในจุดนี้เคยสูงถึง 2.30 ม.รทก.
"กรุงเทพธุรกิจ" ได้ข้อมูลสถิติระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสูงสุด จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 บริเวณตอนเหนือที่คลองบางเขนและคลองบางซื่อ ระดับน้ำสูงสุด 2.83 ม.รทก. บริเวณตอนกลางที่สะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ระดับน้ำสูงสุด 2.53 ม.รทก. และบริเวณตอนใต้ที่คลองพระโขนงและคลองบางนา ระดับน้ำสูงสุด 2.19 ม.รทก.
ไม่ใช่แค่นั้นจากประสบการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ทำให้หลายหน่วยงานได้ "กระชับ" ช่องทางการสื่อสารระหว่างกัน ตั้งแต่ กทม. กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา จังหวัดปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม) เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำให้เป็น "ชุดข้อมูล" เดียวกันต่อการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ
โดยเฉพาะ "ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันและแก้ไขน้ำท่วม" กทม. ก่อตั้งมาตั้งแต่ 7 ส.ค.2533 มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชม.เพื่ออัปเดตสถานการณ์น้ำในแม่น้ำ ปริมาณฝน และรายงานสถานการณ์ระดับน้ำในแนวแม่น้ำเจ้าพระยาทุก 1 ชั่วโมง โดยจะรายงานข้อมูลสำคัญผ่านเว็ปไซต์ เฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์
ทั้งหมดเป็นเส้นทางน้ำ ระบบป้องกันน้ำท่วม และแผนบริการจัดการของ กทม. ซึ่งยกระดับเตรียมพร้อมและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดภาคกลาง เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่กรุงเทพฯ เผชิญกับมหาอุทกภัยซ้ำรอยในปี 2554