"สัตวแพทย์" จุฬาฯ ไขทุกข้อควรรู้ “พิษสุนัขบ้า”
"สัตวแพทย์" จุฬาฯ ร่วมรณรงค์ วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก 28 ก.ย. ให้ความรู้ สร้างความตระหนักพิษภัย "โรคพิษสุนัขบ้า" จัดกิจกรรมฉีดวัคซีนให้นิสิตสัตวแพทย์จิตอาสา ที่ลงชุมชน ย้ำคนกลุ่มเสี่ยงควร "ฉีดวัคซีน" ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำ
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่ออันตรายถึงชีวิต เรียกได้ว่าเป็นโรคที่ติดแล้วเสียชีวิตเกือบทุกราย ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นการรักษาโรคที่ดีที่สุดในปัจจุบันองค์การอนามัยโลกจึงได้ประกาศให้ทุกวันที่ 28 กันยายนของทุกปี เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ได้ตระหนักรู้ถึงความรุนแรงและอันตรายของโรคพิษสุนัขบ้า รวมทั้งเห็นความสำคัญของการให้ความร่วมมือในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไป
“โรคโควิด-19 ที่อันตรายถึงชีวิตแล้ว โรคพิษสุนัขบ้าก็เป็นโรคที่อันตรายไม่แพ้กัน ถ้าทิ้งไว้จนเกิดอาการแล้วก็เสียชีวิตค่อนข้างแน่ แต่ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่แรกรับเชื้อก็มีทางรอด และที่สำคัญ โรคนี้ป้องกันได้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวย้ำ พร้อมเผยถึงโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่นิสิต สัตวแพทย์ จัดโดยชมรมต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้า คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อร่วมรณรงค์ป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า
- ชมรมดำเนินโครงการเป็น 2 กลุ่มหลัก
1. ฉีดวัคซีน ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับนิสิตสัตวแพทย์ ซึ่งจะต้องศึกษาภาคปฏิบัติการและมีการปฎิบัติงานอย่างใกล้ชิดกับสุนัขและแมว
2. กิจกรรมค่ายรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งนิสิตที่เข้าร่วมจะต้องได้รับการฝึกฝนเพิ่มทักษะและประสบการณ์เกี่ยวกับวิชาชีพ สัตวแพทย์ ทั้งเป็นการปลูกฝังให้นิสิตตระหนักถึงการเรียนรู้ในการทำหน้าที่จิตอาสาฉีดวัคซีนให้สุนัขและแมวในชุมชน รวมถึงให้ความรู้และข้อมูลที่จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในชุมชน
ผศ.น.สพ.ดร.ทิลดิสร์ อธิบายกิจกรรมและเป้าหมายโครงการ ซึ่งแม้การฉีดวัคซีนจะเน้นให้กับนิสิต แต่ก็ต้องการส่งสารไปถึงบุคคลกลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้ที่ต้องปฎิบัติงานใกล้ชิดกับสัตว์ ผู้ดูแลฟาร์มสุนัขและแมว รวมถึงผู้ปฎิบัติงานด้านการอาบน้ำตัดขนสัตว์ (อาจหมายรวมถึงบุรุษไปรษณีย์และพนักงานส่งเอกสาร) ฯลฯ ให้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำด้วย
นอกจากนี้ ชมรมต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้า และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ก็ยังเป็นหน่วยงานให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งการป้องกัน และวิธีการปฎิบัติตนหากถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะสุนัขและแมวกัดหรือข่วน เป็นต้น ทั้งนี้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อและช่องทางต่างๆ รวมถึงเพจเฟสบุ๊กของชมรมต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้า Facebook: CURabies club โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือเพื่อให้ประเทศไทยปลอดจากผู้เสียชีวิตจาก โรคพิษสุนัขบ้า
- โรคพิษสุนัขบ้าคืออะไร
โรคพิษสุนัขบ้าหรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Rabies เป็นโรคติดเชื้อทางระบบประสาท ที่เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies virus) ที่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ใน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว โค กระบือ หมู หนู กระต่าย ค้างคาว แพะ แต่ที่เรียกติดปากว่า “พิษสุนัขบ้า” เพราะพบโรคนี้ครั้งแรกในสุนัข และจากสถิติพบว่ากว่าร้อยละ 95 ของผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ในประเทศไทยเกิดจากสุนัข รองลงมาคือ แมว
เชื้อไวรัส Rabies ติดต่อเข้าสู่คนได้เมื่อถูกสุนัขหรือแมวที่มีเชื้อปะปนในน้ำลายกัด ข่วน หรือเลีย โดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผล รวมถึงเยื่อเมือก เช่น ชองปาก จมูกหรือตาได้ด้วย อย่างไรก็ตาม เคยพบกรณี ผู้ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจากการบริโภคเนื้อดิบที่มาจากโค กระบือที่ติดโรคพิษสุนัขบ้าอีกด้วย
- การแสดงออกของสัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้ามี 2 แบบ
1.แบบก้าวร้าว เป็นลักษณะอาการที่พบโดยส่วนใหญ่ สัตว์จะมีอาการดุร้าย กระวนกระวาย วิ่งไล่กัดคนหรือสัตว์ทุกชนิดที่ขวางหน้า นอกจากนี้ ยังสังเกตได้ชัดจากน้ำลายที่ไหลย้อยเนื่องจากเป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อขากรรไกร ตัวเกร็ง หางตก ต่อมาจะเกิดอาการอัมพาต ขาหมดแรง หมดสติและตายภายในไม่กี่วันจนถึง 2 สัปดาห์
2.แบบเซื่องซึม ประเภทนี้จะสังเกตได้ยากกว่า สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีอาการคล้ายเป็นโรคอื่นๆ เก็บตัวอยู่เงียบๆ ดูไม่มีอันตราย อาจกัดคนหรือสัตว์อื่นเมื่อถูกรบกวน จากนั้นจะเกิดอัมพาต และตายในที่สุด
- อาการในสัตว์
อาการของสุนัขที่ติดโรคพิษสุนัขบ้ามี 3 ระยะด้วยกัน ซึ่งหากพบในระยะแรกยังพอรักษาได้ แต่หากการดำเนินโรคไปถึงระยะที่ 2 และ 3 แล้ว เตรียมใจบอกลากันได้เลย
ระยะที่ 1 อารมณ์ อุปนิสัยของสัตว์เปลี่ยนไปจากเดิมไม่ว่าจะเป็นความก้าวร้าวหรือเซื่องซึม
ระยะที่ 2 เริ่มมีอาการทางประสาท หงุดหงิด กระวนกระวาย ทรงตัวไม่ได้ แสดงอาการแปลกๆ เช่น มีความพยายามกัดไม่เลือก ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของ เริ่มมีอาการอัมพาตบางส่วนของร่างกายในส่วนของกล้ามเนื้อคอและกล่องเสียง สังเกตได้ว่ามีลักษณะลิ้นห้อย น้ำลายไหล กลืนน้ำและอาหารไม่ได้
ระยะที่ 3 หรือระยะสุดท้าย จะเกิดการอัมพาตทั้งตัวอย่างรวดเร็ว และเสียชีวิตในที่สุด จากการอัมพาตของระบบประสาทและทางเดินหายใจ ระบบหายใจล้มเหลว รวมระยะเวลาเริ่มแสดงอาการจนตายประมาณ 10 วันเท่านั้น
- จริงหรือ? สัตว์ที่เป็นโรคนี้จะกลัวน้ำตามชื่อ “โรคกลัวน้ำ”
เรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิดเนื่องจากในอดีตอาจสังเกตเห็นสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าว่ามีอาการ กลัวน้ำ คือร้องและแสดงการทุรนทุรายเวลากินน้ำ จึงเรียกว่าเป็นโรคกลัวน้ำ แต่แท้ที่จริงแล้ว สัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าไม่ได้กลัวน้ำ แต่ไม่สามารถกลืนน้ำหรืออาหารได้ เนื่องจากเป็นการอัมพาตของกล้ามเนื้อคอ กล่องเสียง และหลอดอาหาร ทำให้เมื่อกินจะสำลักและเจ็บปวดมาก จึงมีอาการเหมือนกลัวน้ำ
- วิธีปฎิบัติตัวอย่างไร เมื่อถูกสุนัข-แมวกัดหรือข่วน
เมื่อถูกสุนัขหรือแมวกัดหรือข่วน ไม่ว่าสุนัขที่กัดเรานั้นจะเป็นสุนัขที่เรา “เลี้ยงเอง” “ของคนอื่น” หรือ “ไม่มีเจ้าของ” (สุนัขจรจัด) ก็ตาม ให้จำหลักการให้ขึ้นใจเลยว่า “ล้างแผล ใส่ยา ขังหมา หาหมอ” โดยรีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ เพื่อขจัดน้ำลายที่อาจมีเชื้อปะปนจากนั้น ใส่ยาฆ่าเชื้อ ซึ่งอาจเป็นทิงเจอร์ไอโอดีนหรือเบตาดีนก็ได้
หากเป็นสัตว์ที่ไม่รู้จักหรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่ฉีดพิษสุนัขบ้าแล้วก็อย่าเพิ่งวางใจ ให้ขังหรือกักบริเวณสัตว์ไว้เพื่อเฝ้าดูอาการประมาณ 2 สัปดาห์ หากสัตว์มีอาการผิดปกติหรือเสียชีวิตให้รีบแจ้งแพทย์ผู้รักษา เมื่อใส่ยาแล้วให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วนเพื่อฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าและป้องกันบาดทะยัก
ในกรณีที่ถูกสัตว์กัดเป็นแผลใหญ่และลึก หรือเป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดหล่อเลี้ยงอยู่จำนวนมาก เช่น บริเวณใบหน้าหรือใกล้สมอง แพทย์อาจจะพิจารณาฉีดอิมมูโนโกลบูลินเพื่อทำลายเชื้อไวรัสบริเวณบาดแผลให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แม้โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคอันตรายถึงตาย แต่ถ้าพบแพทย์โดยเร็วก็รอดได้
- การรักษาโรคพิษสุนัขบ้า
ในอดีตเราอาจเคยผวาเพราะได้ยินว่าวิธีการรักษาโรคพิษสุนัขบ้าที่จะต้องถูกฉีดวัคซีนรอบสะดือถึง 21 เข็ม ในปัจจุบัน การรักษาเป็นการฉีดวัคซีนเพียง 4-5 เข็มเท่านั้น (ในวันที่ 0, 3, 7,และ 28) และไม่ต้องฉีดรอบสะดืออีกด้วย ทั้งนี้โปรแกรมการฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าผิวหนัง รวมถึงต้องฉีดอิมมูโนโกลบูลินหรือไม่นั้น จะอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์
- "ฉีดวัคซีน" ป้องกันพิษสุนัขบ้าได้เมื่อไหร่
การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า โดยเจ้าของสัตว์เลี้ยงควรพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าเป็นประจำปีตามที่สัตวแพทย์นัดโดยฉีดได้ตั้งแต่สุนัขและแมวอายุที่มีอายุ 3 เดือนขึ้นไป และมีการกระตุ้นซ้ำเป็นประจำทุกปี นอกจากนั้น ผู้ที่มีความจำเป็นต้องสัมผัสเป็นประจำหรือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกกัด อาทิ สัตวแพทย์ช่างตัดขนและอาบน้ำสัตว์ผู้ดูแลฟาร์มสัตว์และบุคคลที่ต้องใกล้ชิดกับสัตว์เป็นประจำ (อาจรวมถึงหลายอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการถูกกัด เช่นบุรุษไปรษณีย์ หรือผู้ส่งเอกสารตามบ้าน) ก็ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเช่นเดียวกัน (แต่เป็นคนละชนิดกับที่ให้ในสัตว์เลี้ยง)
รับวัคซีนพิษสุนัขบ้า ในช่วง "โควิด-19" ได้หรือไม่
การรับวัคซีนพิษสุนัขบ้าในกรณีถูกสุนัขกัด ในช่วงที่มีการนัดหมายฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้นเป็นเรื่องที่สามารถทำคู่ขนานกันไปได้โดยไม่จำเป็นต้องเว้นระยะเวลา เพียงแต่ให้ฉีดคนละจุดกันเท่านั้น เนื่องจากเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิตทั้งคู่ ดังนั้น หากจำเป็นต้องฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะมีผลกับ "วัคซีนโควิด-19" แต่อย่างใด ผศ.น.สพ.ดร.ทิลดิสร์ กล่าวเตือนทิ้งท้ายว่า “ระมัดระวังและป้องกันตัวจากโควิด-19 แล้ว ก็อย่าลืมป้องกันตัวจากโรคพิษสุนัขบ้าด้วย เพราะเป็นโรคที่อันตรายเช่นกัน”
- ปี 61 เสียชีวิต 18 ราย
สถิติของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561 มีสูงถึง18 ราย มีจำนวนสัตว์ติดเชื้อที่ให้ผลบวกต่อโรคพิษสุนัขบ้าสูงถึง 1,476 ตัวอย่างซึ่งสูงสุดในรอบ 10 ปีเลยทีเดียว แต่ในปี 2563 พบผู้เสียชีวิตลดลงเหลือเพียง 3 ราย มีจำนวนสัตว์ติดเชื้อ 236 ตัวอย่าง
ซึ่งในปีนี้ข้อมูลถึงเดือนสิงหาคม 2564 มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากพิษสุนัขบ้า 3 รายและมีจำนวนสัตว์ติดเชื้อ 128 ตัวอย่าง ซึ่งคาดอัตราการติดเชื้อที่น้อยลงนี้ อาจเป็นผลจากการที่ผู้คนกักตัวอยู่ที่บ้าน ไม่ค่อยออกไปพบเจอสัตว์ที่อาจจะเป็นโรค
อย่างไรก็ตาม การรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนเข้าใจวิธีการป้องกันและรักษาโรคพิษสุนัขบ้าเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อรักษาชีวิตสัตว์และผู้คนจากโรคร้ายที่คงยังไม่หมดไปจากประเทศไทยง่ายๆ เนื่องจากสุนัขจรจัด (ซึ่งเป็นสัตว์นำโรคหลัก) ในประเทศไทยยังมีจำนวนมาก การควบคุมการประชากรสุนัขจรจัด รวมถึงการ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัขจรจัดที่ระแวงและหวาดกลัวคนนั้นก็ทำได้ยาก
นอกจากนี้ หลายจังหวัดก็ยังมีพื้นที่ป่าที่เป็นแหล่งหลบซ่อนของสุนัขจรจัดได้ อีกทั้งพรมแดนของประเทศไทยนั้นติดต่อกับหลายประเทศ ดังนั้นแนวทางการควบคุมการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้านั้นจึงไม่ประสบความสำเร็จได้โดยลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือในระดับภูมิภาคอีกด้วย