“กรุงเทพฯ” เมืองหลวง “Outdoor Space” สุดย่ำแย่
จาก 50 เมืองทั่วโลก "กรุงเทพฯ" เมืองหลวงประเทศไทย ถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มี "Outdoor Space" แย่ที่สุด นอกจากนั้นยังมีประชากรที่ทำงานหนักมากเกินไป (Overworked) สูงติดอันดับ 3 บ่งบอกถึงคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ที่ไม่พึงประสงค์เท่าใดนัก
เว็บไซต์ getkisi เผยการจัดอันดับเมืองที่มี Work-life balance ดีที่สุดปี 2564 จาก 50 เมืองทั่วโลก โดยรวบรวมคะแนนจาก 4 ส่วน ซึ่งแต่ละส่วนก็มีหลากหลายองค์ประกอบที่นำมาวัดผล
คะแนนทั้ง 4 ส่วน ประกอบด้วย การทำงานหนัก (Work Intensity) สภาพสังคมและสถาบัน (Society and Institutions) ความน่าอยู่ของเมือง (City Livability) และสุดท้าย ผลกระทบจากโควิด (Covid Impact)
ซึ่ง “กรุงเทพฯ” มีคะแนนรวมเพียง 51.3 ได้ตำแหน่งรองอันดับหนึ่งเมืองที่มี Work-life Balance ยอดแย่ เป็นรองเมืองหลวงประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง “กัวลาลัมเปอร์” ที่มีเพียง 50 คะแนน
อย่างไรก็ตาม การจัดอันดับในครั้งนี้ “กรุงเทพฯ” ก็ไม่พลาดที่จะคว้าอันดับสุดท้ายของสาขา Outdoor Space ตามที่ใครหลายคนเคยตั้งข้อสงสัย ซึ่งเป็นองค์ประกอบในการคิดคะแนนส่วนความน่าอยู่ของเมือง
เมื่อเข้าไปดูการคิดคะแนนในสาขาดังกล่าว พบว่า เป็นการวัดผลจาก “พื้นที่สีเขียว” (Green Space) และมีองค์ประกอบปลีกย่อย อย่าง สภาพอากาศ (Weather) แต่คะแนนให้ค่าน้ำหนักจากสัดส่วนพื้นที่สีเขียวเป็นหลัก
กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวมากแค่ไหน?
องค์การอนามัยโลก (World Health Organizer: WHO) ได้กำหนดพื้นที่เขียวที่เหมาะสม สำหรับเมืองสิ่งแวดล้อมดีไว้ที่ 9.1 ตารางเมตรต่อคน และกรุงเทพฯ มีพื้นที่ไม่ถึงตามค่ามาตรฐานของ WHO
กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยต่อคนที่ 7.3 ตารางเมตร อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าว เป็นตัวเลขที่รวมพื้นที่สีเขียวทั้งหมด 7 ประเภท ที่รวมถึงสวนถนน และสวนเฉพาะทาง ตัวเลขดังกล่าวจึงไม่อาจบอกพื้นที่สีเขียวที่คนกรุงเทพฯ สามารถใช้ได้จริง
หากนับเพียงพื้นที่สีเขียวที่สามารถใช้ได้จริงในกรุงเทพฯ อันได้แก่ พื้นที่สวนสาธารณะหลักและรอง พบข้อเท็จจริงที่ว่า กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวที่สามารถใช้ได้จริงเฉลี่ยเพียง 1.20 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น เล็กกว่าระดับมาตรฐานราว 87%
พื้นที่ดังกล่าวน้อยกว่าขนาดเตียงนอนของใครหลายคนเสียด้วยซ้ำ บ่งบอกถึงพื้นที่ Outdoor Space ที่ไม่ใช่พื้นที่เชิงพาณิชย์ของคนกรุงเทพฯ ที่น้อยมาก
Outdoor Space มีผลต่อการมี Work-life Balance ที่ดีหรือไม่
นอกจากนั้น การจัดอันดับในครั้งนี้ยังเผยให้เห็นว่า “กรุงเทพฯ” เป็นเมืองหลวงที่ผู้คนทำงานหนักมากเกินไป (Overworked) เป็นอันดับ 3 รองจาก “สิงคโปร์” และ “ฮ่องกง” ตามลำดับ
ถึงกระนั้นจากเมืองหลวงที่ติด 5 อันดับแรก ที่ผู้คนทำงานหนักมากเกินไป กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่มี Work-life Balance แย่ที่สุด
“ฮ่องกง” เมืองหลวงที่ผู้คนทำงานหนักมากที่สุด คะแนน Work-life Balance อยู่ที่ 62 รองลงมาคือ “สิงคโปร์” คะแนนรวมสูงถึง 83.8 ส่วนอันดับ 4 และ 5 คือ “บัวโนสไอเรส” และ “โซล” มีคะแนนรวมที่ 51.6 และ 72.9 ตามลำดับ
สิงคโปร์ และ โซล ประเทศที่ผู้คนทำงานหนัก แต่มี Work-life Balance ดี เมื่อเราเปิดคะแนน Outdoor Space ของทั้งสองประเทศ พบว่ามีคะแนนสูงถึง 93.3 และ 80.1 โดยสิงคโปร์ คว้าอันดับ 8 ของประเทศที่มี Outdoor Space ดีที่สุด
ยิ่งไปกว่านั้นหากเปิดดูรายชื่อเมืองหลวงที่มี Work-life balance ดีที่สุด 5 อันดับแรก พบว่า คะแนน Outdoor Space สูงมาก โดยใน 3 จาก 5 เมืองหลวงดังกล่าว มีคะแนนสูงเกิน 90 คะแนน และเมืองหลวงอันดับ 2 อย่าง “ออสโล” ประเทศนอร์เวย์ รับ 100 คะแนนเต็ม
คะแนน Work-life Balance และองค์ประกอบบางส่วน (15 ประเทศ)
ที่มา: www.getkisi.com
หมายเหตุ: ข้อมูลประจำปี 2564
จากตัวอย่างเมืองหลวง 15 ประเทศ พบว่า มีแนวโน้มของประเทศที่มี Outdoor Space ดี จะมีส่วนช่วยให้เกิด Work-life Balance ที่ดีตามไปด้วย แต่อย่างไรความสัมพันธ์ดังกล่าวก็ไม่ได้มีความตายตัว เพราะการมี Work-life Balance ที่ดียังคงประกอบไปด้วยอีกหลายองค์ประกอบที่จะนำมาใช้วัดผล
ถึงกระนั้น ข้อมูลข้างต้นก็ได้แสดงให้เห็นว่า กรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทยนั้น ไม่เอื้อต่อการมีชีวิตอยู่ที่ดีของประชากรวัยทำงานเท่าใดนัก เพราะนอกจากจะมีสัดส่วนของคนทำงานหนักที่สูง ก็ยังมีพื้นที่สาธารณะเพื่อให้พักผ่อนหรือบรรเทาความเครียดที่น้อยเสียเหลือเกิน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็ได้มีการขยายตัวของพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ มากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ในปัจจุบันจะยังมีพื้นที่ไม่ได้ตามตัวเลขค่ามาตรฐาน แต่หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่กรุงเทพฯ มีความมุ่งมั่นในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมไปถึง Outdoor Space ในรูปแบบอื่น ก็มีโอกาสที่คนกรุงเทพฯ จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าทุกวันนี้ไม่มากก็น้อย
อ้างอิง
สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ
Cities with the Best Work-Life Balance 2021