4 ต.ค.นี้ นายกฯ -รมว.ศธ.คิกออฟฉีดวัคซีนในเด็ก แนะขั้นตอนเตรียมพร้อมก่อนฉีด
4 ต.ค.นี้ เป็นวันแรกที่จะมีการฉีดวัคซีนโควิด-19ให้แก่ เด็กนักเรียน/เยาวชน 29 จังหวัดสีแดงเข้ม ซึ่งนายกฯ และรมว.ศธ.จะร่วมพิธี Kick off สร้างเกราะป้องกันด้วยวัคซีน เด็กปลอดภัย เรียนอุ่นใจ ต้อนรับเปิดเทอม ณ โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ได้กำหนดแผนให้นักเรียน นักศึกษาทุกสังกัด ที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี จำนวน 5,048,081 คน เบื้องต้นมีผู้ประสงค์จะฉีด 3.61 ล้านคน คิดเป็น 71.67% จะได้รับการฉีดวัคซีนสูตรไฟเซอร์ + ไฟเซอร์ ตั้งแต่ 4 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป โดยจะเริ่มฉีดให้กับสถานศึกษาในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ที่มีจำนวน 15,465 แห่ง ใน 29 จังหวัดก่อนและจะฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย. ต่อไป
- นายกฯ คิกออฟฉีดวัคซีนในเด็ก
โดย วันที่ 4 ต.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะร่วมพิธี Kick off สร้างเกราะป้องกันด้วยวัคซีน เด็กปลอดภัย เรียนอุ่นใจ ต้อนรับเปิดเทอม ณ โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ ถนนลาดพร้าว เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พร้อมกับโรงเรียนใน 12 เขตสุขภาพทั่วไทย
อย่างไรก็ตาม วัคซีนไฟเซอร์ เป็นวัคซีนโควิดเพียงตัวเดียวที่ทางรัฐบาลจัดหาเพื่อฉีดให้นักเรียน อายุ 12-17 ปี ส่วนผู้ปกครองหรือนักเรียน ที่ไม่ยินยอมรับการฉีควัคซีนไฟเซอร์นั้น เมื่อเปิดภาคเรียนเทอม2/2564 โรงเรียนจะจัดพื้นที่เรียนพิเศษรองรับ หรือจะเลือกเรียนทางออนไลน์อยู่ที่บ้านก็ได้
สำหรับ โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ เป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษา ปีที่ 6 มีนักเรียนช่วงอายุระหว่าง 12-18 ปี ที่มีคุณสมบัติรับการฉีดวัคซีนจำนวน 799 คน สมัครใจฉีด 695 คน คิดเป็นร้อยละ 86.98 โดยจะเข้ารับการฉีดวัคซีนในวันที่ 4 ต.ค.นี้ จำนวน 200 คน และจะทยอยฉีดวัคซีนนักเรียนเมื่อได้รับการจัดสรรในรอบต่อๆ ไป
อ่านข่าว : ซิลลิคฯ แจง 3 ข้อ กรณีเลื่อนส่งมอบวัคซีนโมเดอร์นา
- รูปแบบให้บริการฉีดวัคซีนในเด็ก
ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การอาหารและยา (อย.) วัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้สำหรับกลุ่มเด็กตั้งแต่อายุ 12 ปี ขึ้นไป ในประเทศไทย ได้แก่ วัคซีนไฟเซอร์และวัคซีนโมเดอร์นา ซึ่งมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก นอกจากนี้ หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ แคนาดา อินโดนิเซีย ฯลฯ ยังได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์สำหรับกลุ่มเด็กตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไปแล้ว
กำหนดให้บริการวัคซีน Pfizer ผ่านสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ในรูปแบบวัคซีนสำหรับนักเรียนในสถานศึกษา (School-based vaccination program) โดยได้ประสานไปยังกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) หาก สถานศึกษา มีพื้นที่จำกัด ขอให้ให้มหาวิทยาลัยเป็นฐานในการฉีดให้นักเรียนด้วย โดยสถานที่ฉีด อาทิ
- โรงเรียนมัธยมศึกษาสังกัดรัฐบาลและเอกชน
- สถานศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)
- โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- โรงเรียนพระปริยัติธรรม กองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ
- สถาบันการศึกษาปอเนาะ
- สถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่มีนักเรียนวัยเดียวกันกำลังศึกษาอยู่ เช่น โรงเรียนเตรียมทหาร กระทรวงกลาโหม โรงเรียนคนพิการ กระทรวงการพัฒนา สังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โรงเรียนในสังกัด อปท เป็นต้น
- คำแนะนำฉีด “ไฟเซอร์’ ให้แก่เด็กไทย
การขยายกลุ่มฉีด 12-17 ปี กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รายงานว่า มีโรงเรียนหลายสังกัด ถือว่าเยาวชนทั้งหมดจะอยู่ในการดูแลของ ศธ. โดยรับเป็นเจ้าภาพในการดูแลฉีดกลุ่ม 12-17 ปี และมีการชี้แจง และส่งแบบสำรวจ ทั้งสถานศึกษาได้ทำการสำรวจชี้แจ้งไปยังผู้ปกครอง เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในบุตรหลาน และแสดงความจำนงค์มายังจังหวัด ขอให้สถานศึกษาติดตามนโยบาย ขณะที่ กลุ่มอายุตั้งแต่ 3 ขวบ สธ. โดย อย. ยังไม่รับรองต้องให้บริษัทยื่นเรื่องตามขั้นตอน เพราะต้องดูเรื่องความปลอดภัย
ไฟเซอร์ (Pfizer) เป็นวัคซีนชนิด mRNA มีชื่อทางการว่า BNT162b2 ที่คิดค้นโดยบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ร่วมกับบริษัทสัญชาติเยอรมันชื่อไอโบเอ็นเท็ค (BioNTech) ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ให้สามารถใช้ได้ในประเทศไทย เมื่อวัน 24 มิถุนายน 2564 นับเป็นวัคซีนโควิดรายที่ 6 ที่ผ่านการอนุมัติจาก อย.
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศคำแนะนำเพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนเกี่ยวกับการรับวัคซีนโดยสำรวจผู้ที่มีภาวะเสี่ยงและผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ดังนี้ ฉีดผู้ที่มีภาวะเสี่ยง กลุ่มอายุ 12-13 ปี น้ำหนัก 70 กิโลกรัม, กลุ่มอายุ 13-15 ปี น้ำหนัก 80 กิโลกรัม, กลุ่มอายุ 15-18 ปี น้ำหนัก 90 กิโลกรัม
ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่
1. โรคอ้วน ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น
2. โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง
3. โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
4. โรคไตวายเรื้อรัง
5. โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
6. โรคเบาหวาน
7. กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการช้า
- ผลข้างเคียงที่ผู้ปกครองต้องเฝ้าระวัง
ผลงานวิจัยในต่างประเทศ ในกลุ่มคนที่ได้รับวัคซีนชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์และโมเดอร์นา พบว่า มีความเสี่ยงเล็กน้อยที่คนจะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) ซึ่งพบบ่อยกว่าในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กผู้ชายหลังรับวัคซีนโดสที่ 2 อาจทำให้เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นแรง แต่อาการก็มักจะหายไปเองในไม่กี่วัน ไม่มีวัคซีนหรือยาตัวไหนที่ปลอดภัย 100%
สถิติจากสหรัฐฯ พบว่าจำนวนเด็กที่เจอผลข้างเคียงน้อยมาก ในจำนวนเด็กอายุ 12-17 ปี 1 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ จะมีราว 60 คนด้วยกันที่เจออาการข้างเคียงนี้ (8 คนในจำนวน 1 ล้านคนสำหรับเด็กผู้หญิง) อัตราเกิดอาการนี้สูงกว่าในหมู่เด็กอายุน้อยกว่า นั่นเป็นสาเหตุที่ตอนนี้ทางการแนะนำให้เด็กอายุ 16-17 ปี เข้ารับวัคซีนได้
- พบ"กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ" ในเด็กไทย
ขณะที่ในประเทศไทย หลังจากมีการซึ่งพบอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดที่คณะผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยเข้าข่ายอาการรุนแรงคือ "กลุ่มเนื้อหัวใจอักเสบ" สำหรับประเทศไทย พบแล้ว 1 ราย โดยเด็กชายอายุ 13 ปี มีภาวะโรคอ้วน แต่สามารถเข้ารับการรักษาได้ทัน ปัจจุบัน หายเป็นปกติแล้ว
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า รายงานอุบัติการณ์ของอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบประมาณ 16 รายใน 1 ล้านโดสของการฉีด พบในเพศชาย เป็นส่วนใหญ่ อาการพบได้ภายใน 30 วัน หลังได้รับวัคซีนแต่ส่วนใหญ่พบใน 7 วันหลังได้รับวัคซีน (ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐ)
นอกจากนี้ยังพบ ในเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มแรก ซึ่งพบในเพศชาย (12-17 ปี) มีอัตราการเกิดสูงสุด ในผู้ชายมีอัตราการเกิด 32.4 ต่อ 1 ล้านโดส ผู้หญิง 4.2 ต่อ 1 ล้านโดส กลุ่มรองลงมาที่พบ คือ อายุ 18-24 ปี และจะลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ไม่มีรายงานในผู้สูงอายุ
การวินิจฉัย ตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้า เอกเรย์ปอด ตรวจเลือดดูโปรตีนของกล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac troponin) เมื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมดแล้วสงสัยกล้ามหัวใจอักเสบ แนะนำให้ปรึกษาอายุรแพทย์โรคหัวใจเพื่อประมินการทำงานของหัวใจ
การรักษา แบบประคับประคอง ด้วยการใช้ยา เช่น ยาต้านการอักเสบ (NsAIDs) อัตราการเกิดยาสเตียรอยด์ (Prednisolone) รวมถึงยา Colchicine ผู้ป่วยหายเป็นปกติได้เกือบทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม กรณีมีประวัติ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และ ภาวะหัวใจล้มเหลวมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงก่อนฉีดวัคซีนชนิด mRNA