"CovidSelfCheck" เพื่อนช่วยเช็ค ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว

"CovidSelfCheck" เพื่อนช่วยเช็ค ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว

CovidSelfCheck หรือ เพื่อนช่วยเช็ค ผ่านช่องทางไลน์ออฟฟิศเชียล (Line OA ) ถือเป็นตัวช่วยเพื่อติดตามอาการ และประสานงานช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ "โควิด 19" กลุ่มสีเขียว ที่มีอาการไม่มาก

CovidSelfCheck หนึ่งนวัตกรรมสร้างสุขที่เกิดจากการพัฒนาโดยคนรุ่นใหม่จิตอาสา ที่ระดมความคิดร่วมกันนำเทคโนโลยีมาเป็นอีกทางเลือกสำหรับช่วยเหลือประชาชนที่เป็นผู้ติดเชื้อ โควิด 19 กลุ่มสีเขียว ที่มีอาการไม่มาก รวมถึงช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ต้องทำงานกันอย่างหนักในวิกฤติโควิด 19 ได้ในยามวิกฤติเช่นนี้

\"CovidSelfCheck\" เพื่อนช่วยเช็ค ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว สหรัฐ เหลี่ยมเพ็ง นักศึกษาแพทย์วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายนิสิตนักศึกษาแพทย์เพื่อการพัฒนาบทบาทการสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand) ได้เป็นตัวกลางในการประสานงาน และรวบรวมอาสาสมัครนิสิตนักศึกษาแพทย์เพื่อช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ซึ่งขณะนี้มีนิสิตนักศึกษาแพทย์และ จิตอาสาเข้าร่วมจำนวน 890 คน โดยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นจิตอาสา ลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนและเสริมกำลังการทำงานด้านสาธารณสุขต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น สนับสนุนจุดตรวจคัดกรองโรค การทำทะเบียนประวัติ การดูแลกลุ่มเสี่ยงที่เข้ามารับการตรวจหาเชื้อ

นอกจากนี้ยังมีการทำงานสนับสนุนระบบการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) สำหรับผู้ป่วย โควิด 19 กลุ่มสีเขียว

นิสิตนักศึกษาแพทย์ และจิตอาสาได้เข้าไปมีส่วนในการดูแลผู้ป่วยที่แยกกักตัวอยู่ที่บ้านที่มาจากระบบกลางของ กรุงเทพฯ และถูกส่งต่อมาอยู่ในการดูแลของ คลินิกพริบตา สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) เช่น การให้คำปรึกษาในการปฏิบัติตัวทางโทรศัพท์ การสนับสนุนการจัดส่งยาเวชภัณฑ์ และเครื่องอุปโภคบริโภค เป็นต้น

ส่วนการพัฒนาระบบ CovidSelfCheck หรือ เพื่อนช่วยเช็ค นั้น สหรัฐเอ่ยว่า เป็นการต่อยอดเพื่อติดตามอาการและประสานงานช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด 19 กลุ่มสีเขียว ที่มีอาการไม่มาก ผ่านช่องทางไลน์ออฟฟิศเชียล (Line OA ) ช่วยลดขั้นตอนการทำงานของแพทย์ได้มากขึ้น

\"CovidSelfCheck\" เพื่อนช่วยเช็ค ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว

และด้วยการสนับสนุนของ สสส. และภาคีเครือข่าย พวกเรา IFMSA-Thailand จะมุ่งมั่นในการพัฒนาและปฏิบัติงานต่อไป เพื่อเป็นส่วนหนึ่งให้ประเทศไทยสามารถผ่านวิกฤตโควิด 19 ครั้งนี้ไปด้วยกัน” สหรัฐ กล่าว

 

ด้าน สุวินัย จิระบุญศรี นิสิตแพทย์คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองประธานสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ แห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand) ผู้มีส่วนริเริ่มโครงการ CovidSelfCheck กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ร่วมกับกลุ่มนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ และบริษัท Tact Social Consulting โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ริเริ่มโครงการ CovidSelfCheck หรือ เพื่อนช่วยเช็ค โดยมีการดำเนินงาน 3 รูปแบบหลักๆ ได้แก่

  1. การส่งอาสาสมัครลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วย Antigen Test Kit ในพื้นที่กรุงเทพฯ
  2. ระบบติดตามอาการผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ทำการรักษาแบบ Home Isolation ด้วยการใช้ ไลน์ OA
  3. ระบบสนับสนุนการให้บริการ รวมทั้งการระดมทรัพยากร เช่น การสนับสนุนเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ชุดตรวจ Antigen Test Kit เครื่องผลิตออกซิเจน (Oxygen Concentrator) เป็นต้น

\"CovidSelfCheck\" เพื่อนช่วยเช็ค ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว

IFMSA-Thailand และ นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้พัฒนา ไลน์ OA : CovidSelfCheck หรือ เพื่อนช่วยเช็ค เพื่อติดตามอาการผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวกรอกแบบประเมินอาการของตนเองในแต่ละวัน ตัวระบบจะทำการประเมินอาการผู้ป่วยด้วยระบบประเมินผลอัตโนมัติ และส่งผลการประเมินให้แพทย์และพยาบาลเพื่อใช้ในการวางแผนการดูแลรักษาต่อไป ระบบนี้สามารถลดขั้นตอนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และจะสามารถช่วยให้รับผู้ป่วยโควิด 19 เข้าถึงระบบการรักษาได้มากขึ้น หลังจากนี้เครือข่าย โดยการสนับสนุนของ สสส. จะพัฒนาระบบเพื่อให้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดช่องว่างการทำงาน แบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์และช่วยเหลือให้ผู้ป่วยเข้าถึงระบบการรักษาได้ดีมากยิ่งขึ้น” สุวินัย กล่าว