ความรื่นรมย์ของ "แชมเปญ" เครื่องดื่มที่เปล่งประกายพรายฟอง

ความรื่นรมย์ของ "แชมเปญ" เครื่องดื่มที่เปล่งประกายพรายฟอง

หากไวน์ต้องใช้การ "ดู - ดม - ดื่ม" เพื่อเพลิดเพลินกับรสสัมผัส แต่สำหรับแชมเปญอาจบอกได้ว่าเครื่องดื่มนี้ต้องใช้ผัสสะมากกว่านั้น

เคยสร้างความสับสนให้แก่นักดื่มหน้าใหม่พอสมควร สำหรับการเรียกเครื่องดื่มไวน์ที่มีประกายฟอง และมีจุกคอร์กที่รัดด้วยเส้นลวดว่าเป็น “แชมเปญ” หรือไม่

ตามหลักแล้ว เราเรียกเครื่องดื่มกลุ่มนี้โดยรวมว่า “สปาร์คลิงไวน์” (Sparkling Wine) โดย “แชมเปญ” หรือ “โปรเซ็คโก” หรือจะชื่อใดก็ตาม หากเป็นไวน์ที่มีฟอง ต่างอยู่ภายใต้หมวดหมู่นี้ทั้งสิ้น

การเรียกด้วยชื่ออื่นๆ อาจบ่งบอกถึงความเฉพาะเจาะจงลงไปยิ่งขึ้น เช่น ถ้าเรียก “โปรเซ็คโก” (Prosecco) ในแบบมีฟอง มาตรฐาน DOC หรือที่ภาษาอิตาเลียนเรียกว่า spumante ก็ทำให้เรารู้ทันทีว่า ไวน์ขวดนี้ต้องมาจากพื้นที่ใน 9 จังหวัดของเขต Veneto และ Friuli Venezia Giulia ของประเทศอิตาลีนั่นเอง

แต่ถ้าเป็น “แชมเปญ” (Champagne) ซึ่งเป็นหัวข้อของเราในวันนี้ จะใช้ได้กับเขตผลิตจากแคว้นแชมเปญในฝรั่งเศสเท่านั้น เพราะมีการจดลิขสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อย ไม่ว่าที่ไหนๆ ในโลก ไม่มีสิทธิ์เรียกสปาร์คลิงไวน์ของตนเองเป็น “แชมเปญ” โดยเด็ดขาด

ARE65E277

หลักๆ แล้ว แชมเปญ ผลิตจากน้ำองุ่น 3 สายพันธุ์ คือ ปิโน นัวร์ (Pinot Noir),  ปิโน เมอเนียร์ (Pinot Meunier) และชาร์ดอนเน (Chardonnay)

ซึ่งแต่ละผู้ผลิตอาจจะมีการผสมด้วยสัดส่วนที่แตกต่างกันไป ผู้ผลิตบางรายอาจจะใช้องุ่นสายพันธุ์ปิโน นัวร์ ล้วน มาทำแชมเปญแบบ บลอง เดอ นัวร์ส (Blanc de Noirs) ซึ่งให้รสชาติจำเพาะหนักแน่น เพราะทำจากองุ่นแดง ที่แยกเปลือกออก ขณะที่บางรายอาจจะใช้องุ่นพันธุ์ชาร์ดอนเนล้วน มาทำแชมเปญประเภท บลอง เดอ บลองส์ (Blanc de Blancs)  ซึ่งให้ความโปร่งเบาไปอีกแบบ

ความน่าสนใจของแชมเปญจึงอยู่ที่เคล็ดลับของผู้ผลิตแต่ละรายว่า จะใช้ฝีมือ ความชำนาญ ประสบการณ์ เทคนิคต่างๆ ตลอดจนศิลปะในการผลิต เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดสไตล์ที่สร้างความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของตนเองได้อย่างไร

แม้จะมีชื่อ “แชมเปญ” ปะหัว แต่ยังมีการจัดแบ่งคุณภาพออกมาหลายระดับ ได้แก่ แชมเปญระดับสูงกรองด์ มาร์ค (Grandes Marques) แชมเปญระดับวินเทจ (Vintage) และ แชมเปญทั่วไป ระดับนอน-วินเทจ (non-vintage) โดยแบรนด์ดังๆ อาทิ Dom Perignon, Krug, Bollinger, Louis Roederer, Veuve Clicquot-Ponsardin , Gh.Mumm, Pol Roger, Lanson , Gosset และ Perrier Jouet

ส่วนระดับรสชาติ ปกติแล้ว แบ่งออกเป็น 5 แบบ ได้แก่

1- Brut =dry ไม่หวาน ส่วนใหญ่ มีส่วนผสมของความหวานระหว่าง 0.75 ถึง1.5 ดีกรี บริก (Brix) ปกติ แชมเปญราว 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นแชมเปญประเภทดราย

2- Extra brut = bone dry ไม่หวานเลย : มีส่วนผสมของความหวาน 2.3 ดีกรี บริก (Brix) อาทิ Laurent Perrier Brut.

3- Sec = medium sweet ประเภทหวานระดับกลาง หวานมีส่วนผสมของความหวาน 4 ดีกรี บริก (Brix)

4- Demi-sec = sweet ประเภทหวาน มีส่วนผสมของความหวาน 8 ดีกรี บริก (Brix)

5- Doux = very sweet ประเภทหวานจัด : มีส่วนผสมของความหวาน 10ดีกรี บริก (Brix) ซึ่งมีปริมาณการผลิตน้อยมาก

ในด้านสุนทรียรสของเครื่องดื่มชนิดนี้ ความน่าทึ่งของแชมเปญ เมื่อเปรียบเทียบกับไวน์โดยทั่วไปที่ใช้กระบวนการ “ดู-ดม-ดื่ม” อาจจะบอกได้ว่า เราสามารถเพลิดเพลินกับแชมเปญได้มากกว่านั้น !

นั่นคือผ่านการสัมผัสด้วยโสตประสาททั้ง 5 คือ ทางตา (ดู) ทางจมูก (ดม) ทางผิวหนัง (สัมผัส) ทางหู (ฟัง) และ ทางปาก (ดื่ม)

Sparkling wineimage from torange_biz free photobank

เริ่มด้วยการพิจารณาสีสันอันงดงาม พรายฟองอันระยิบระยับของแชมเปญเมื่อรินจากขวดลงสู่แก้วใบงาม ยิ่งพรายฟองยิ่งมีขนาดเล็กเพียงใด ก็ยิ่งบ่งบอกถึงคุณภาพของแชมเปญขวดนั้นเพียงนั้น

ตามด้วยการสูดดมกลิ่นหอมของแชมเปญ กลิ่นผลองุ่น กลิ่นผลไม้นานาชนิด คละเคล้ากับกลิ่นน้ำผึ้งอันหอมตลบอบอวล กล่าวกันว่า หากเป็นปีวินเทจดีๆ ของแชมเปญชั้นเลิศ ระดับกรองด์ มาร์ค (Grands Marques) ทันทีที่เปิดจุกคอร์ก กลิ่นจะหอมตลบอบอวลไปทั่วห้อง

ในด้านการสัมผัสนั้น เราอาจจะใช้การจมปลายจมูกลึกลงไปในแก้วแชมเปญ (เหมาะที่จะทำในเคหสถานมากกว่าสถานที่สาธารณะและงานเลี้ยง) เพื่อสัมผัสกับฟองอากาศเล็กๆ ที่ผุดพรายขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งให้ความรู้สึกสดชื่นซาบซ่าน

ลกนี้ บุคคลที่ได้ชื่อว่าหลงรักแชมเปญมากที่สุด ถึงขนาดต้องใช้แชมเปญ 350 ขวด (กว่า 260 ลิตร) เทลงในอ่างอาบน้ำเพื่อแช่ร่างกายด้วยแชมเปญ เห็นจะหนีไม้พ้น มาริลีน มอนโร ดวงดาวอันเจิดจรัสแห่งฮอลลีวูดนั่นเอง เพราะหลังจาก มาริลีน แล้ว ยังไม่เคยได้ยินว่า มีใครลงทุนอาบน้ำด้วยแชมเปญแบบนี้อีกเลย

ในด้านการฟัง เราสามารถใช้หูแนบแก้วที่บรรจุแชมเปญ เพื่อฟังพรายฟองอันละเอียดที่ผุดลอยจากก้นแก้ว ซึ่งมีคนเทียบเคียงว่า มีความไพเราะเฉกเช่นดนตรีคลาสสิก และให้ความสุขความเพลิดเพลินได้ไม่น้อย

จบท้ายด้วยการดื่มด่ำกับรสชาติของแชมเปญ ที่เปิดโลกของต่อมรับรสอย่างทรงพลานุภาพ ในพื้นที่ของช่องปาก ลิ้น ฟัน และลำคอ ให้รสชาติอย่างครบเครื่อง ปลุกให้เกิดความสดชื่น ตื่นตัว และให้ความรู้สึกผ่อนคลายในเวลาเดียวกัน

ด้วยการดื่มแชมเปญเพียงขวดเดียว หากมีความประณีตในการพินิจพิจารณาชื่นชม เราย่อมได้รับประสบการณ์ความทรงจำที่ล้ำค่ายิ่งนัก