#RealTalkThailand” พื้นที่ช่วยแก้ปัญหาสุขภาพจิต ฆ่าตัวตายของคนไทย
“Instagram” จับมือแพลตฟอร์มสุขภาพจิต เปิดตัวแคมเปณ “#RealTalkThailand” ชวนคนไทยที่มีปัญหางาน ครอบครัว ความสัมพันธ์ สุขภาพจิตแย่ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง พื้นที่รับฟังอยู่เคียงข้างไม่โดดเดี่ยว
ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตในช่วงเดือนก.พ. ที่ผ่านมา ว่า ระบุว่า ปี 2563 อัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายของคนไทยในประชากร 1 แสนคน มีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ 7.37 คน ซึ่งอาจจะต่ำกว่าตัวเลขที่กรมสุขภาพจิตประมาณการเดิมที่ 8.0 ต่อแสนประชากร แต่การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกเดือนเม.ย.2564 จนถึงปัจจุบัน เชื่อว่าอัตราการฆ่าตัวตายของผู้คนน่าจะสูงเกินกว่าที่ประมาณการไว้
ทั้งนี้ มีคนไทยจำนวนกว่า 3.3 ล้านคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาด้านสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นอาการวิตกกังวล โรคซึมเศร้า และความคิดอยากฆ่าตัวตาย และสถานการณ์การแพร่ระบาดก็ได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเด็กและเยาวชนในประเทศมากกว่ากลุ่มอื่น
ล่าสุด “Instagram” สื่อโซเซียลมีเดียที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ ได้เปิดตัวแคมเปณ “#RealTalkThailand” ตั้งแต่วันที่ 8-20 ต.ค. เครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้คนได้เข้าถึงข้อมูลหรือเคล็ดลับในการดูแลสุขภาพจิตได้ง่ายขึ้น ส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดี โดยร่วมกับเครือข่ายภาคธุรกิจ องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ที่ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพจิต ป้องกันการฆ่าตัวตายของคนไทย
- #RealTalkThailand ชวนปรับทุกข์แก้สุขภาพจิต
“ฟิลิป ชัว” หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของ Instagram กล่าวว่าผลการศึกษาขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) ประจำปี พ.ศ.2563 พบว่า 7 ใน 10 ของเด็กและเยาวชนชาวไทยได้รับผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพจิต ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความเครียด ความทุกข์ และความวิตกกังวล จากความไม่แน่นอนทางด้านการเงินและโอกาสในการถูกจ้างงานในอนาคต
แคมเปญดังกล่าว ส่วนหนึ่งของการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นด้านสุขภาพจิตในมุมมองที่กว้างขึ้นบนโลกออนไลน์ โดยมีผู้คนจำนวนกว่า 200,000 คน เป็นสมาชิกในกลุ่มบน Facebook ราว 2,000 กลุ่ม เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้คนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ทุกคนจะได้รู้สึกว่าตัวเองไม่โดดเดี่ยว เพราะการที่ผู้มีปัญหาต่างๆ ได้ออกมาแชร์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ตนเองได้พบเจอและผ่านมาได้นั้น ทำให้รู้ว่ายังมีคนอีกมากที่รับมือกับปัญหาและก้าวผ่านมาได้ อีกทั้งมีคนอีกมาที่จะยืนอยู่ตรงนี้เพื่อคุณ เพื่อช่วยคุณให้ผ่านปัญหาต่างๆ ไปด้วยกัน
“เราได้เห็นผู้คนเข้ามาใช้งาน Instagram เพื่อแสดงออกถึงตัวตนของพวกเขาและเชื่อมต่อกับชุมชนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน ซึ่งรวมถึงชุมชนที่ส่งเสริมด้านสุขภาวะด้วย #RealTalkThailand ถูกออกแบบขึ้นเพื่อเชื่อมต่อผู้เชี่ยวชาญ ครีเอเตอร์ และชุมชนเข้าหากันเพื่อการสนทนาที่เปิดเผย และสนับสนุนบทสนทนาที่มีอยู่ในปัจจุบันบน Instagram และสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยให้แก่ผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้”ฟิลิป กล่าว
สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้คนมีความเครียดจำนวนมาก ขณะเดียวกันประชาชนเริ่มมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่
- คนไทยใช้แพลตฟอร์มสุขภาพจิตมากขึ้น
“ทพญ. กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์”ประธานกรรมการบริหารจาก อูก้า กล่าวว่าอูก้า เป็นแพลตฟอร์มให้คนเข้าถึงสุขภาพจิตได้ดีขึ้น เพราะไม่ใช่เพียงพื้นที่ทำให้ทุกคนได้พูดคุย ระบายปัญหาของตนเอง แต่ทุกคนสามารถพูดคุยโดยตรงกับแพทย์ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกว่า 100 ท่าน
“ปัจจุบันมียอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นจาก 80,000 คนเป็น 120,000 คน มีทั้งประชาชนทั่วไป และองค์กรบริษัทต่างๆ ที่เปิดใจมาใช้บริการอูก้า ซึ่งปัญหาหลักๆ ที่เข้ามาปรึกษา คือปัญหาเรื่องงาน ความสัมพันธ์ และปัญหาครอบครัว โดยอูก้าจะทำหน้าที่ให้คำแนะนำ รับฟังปัญหาของทุกคนที่เข้ามา และขณะนี้อูก้าได้เปิดโปรเจคช่วยเหลือสังคม มีการรวบรวมอาสาสมัครอาจารย์จิตแพทย์ นักจิตวิทยากว่า 60 ท่านมาให้บริการฟรี โดยผู้มาใช้บริการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น รวมถึงบุคลากรด่านหน้าทุกคนก็สามารถใช้บริการของอูก้าได้” ทพญ. กัญจน์ภัสสร
แคมเปณ #RealTalkThailand ที่ทางอูก้า เข้าร่วมนี้ เป็นงเครื่องมือที่ทำให้ทุกคนได้เข้าถึงการดูแลสุขภาพจิตของตนเอง ได้เข้ามาเรียนรู้สร้างความเข้าใจโรคทางจิตต่างๆ เพื่อจะได้เข้าใจคนในสังคม หรือนำไปถ่ายทอดดูแลผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพใจ
- "สุขภาพจิต"แก้ได้ต้องเข้าใจ พร้อมรับการช่วยเหลือ
“ตระการ เชนศรี” นายกสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยป้องกันการฆ่าตัวตาย กล่าวว่าทุกปีจะมีผู้ที่โทรเข้ามาปรึกษา call center เกี่ยวกับความทุกข์ใจอยากฆ่าตัวตาย ประมาณ 10,000 สายต่อปี แต่ปีนี้เพียง 6 เดือน มีผู้ที่โทรเข้ามาแล้วกว่า 10,000 สาย ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามีอัตราของผู้ที่อยากฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเท่าตัว ซึ่งปัญหาหลักๆที่ทำให้ผู้คนไม่อยากมีชีวิตต่อ คือ เรื่องการทำมาหากิน ปากท้อง
รวมทั้ง “ล็อกดาวน์” ทำให้คนอยู่บ้านกันมากขึ้น พ่อแม่ลูกมีปัญหา หรือแม้แต่คู่สามีภรรยาก็มีปัญหา รวมถึงความรู้สึกโดดเดี่ยว “ตระการ” กล่าวต่อว่า แม้จะมีคนอยากฆ่าตัวตายมากขึ้น แต่หากมองอีกมุมหนึ่งจะเห็นว่าคนไทยมีความกล้ามากขึ้น กล้าที่จะเล่าเรื่องทุกข์ใจของตนเอง กล้าที่จะขอความช่วยเหลือ ไม่ได้มองว่าสิ่งเหล่านี้น่าอาย ทุกคนกล้าที่จะเผชิญปัญหามากขึ้น อยากให้คนไทยมองแบบนี้ หากรู้สึกไม่ดี ทุกข์ใจ หรืออยากจะจบชีวิตตนเองขอให้โทรเข้ามาพูดคุย หรือเข้าร่วม #RealTalkThailand พื้นที่ตรงนี้จะเปิดใจฟังด้วยความเข้าใจ ไม่ตัดสิน และยอมรับพวกเขาโดยไม่มีเงื่อนไข
- อย่าอายที่จะเข้ามารับการดูแลสุขภาพจิต
“สมภพ แจ่มจันทร์” นักจิตวิทยาการปรึกษา และผู้อำนวยการKnowing Mind Center กล่าวว่าคนที่เข้ามาปรึกษาสุขภาพจิต ร้อยละ 90 เป็นคนทั่วไป ไม่ใช่ผู้ที่มีปัญหาโรคทางจิต ซึ่งสุขภาพจิตมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านชีวิตส่วนตัว ด้านความสัมพันธ์ ด้านการทำงาน และด้านการเรียนรู้ หากไม่ตระหนักรู้และไม่ดูแลสุขภาพจิตอย่างเหมาะสม ก็จะเกิดผลกระทบตามมามากมาย #RealTalkThailand จะทำให้ทุกคนได้มีพื้นที่สื่อสาร พูดคุยต่อกัน เพราะการดูแลสุขภาพใจที่ดี คือ การรับฟัง ไม่ทำให้คนๆ นั้นรู้สึกโดดเดี่ยว ยังมีผู้คนอีกมากมายที่คอยอยู่ข้างๆ เขา
ตบท้ายด้วย “อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม” มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ประจำปี พ.ศ.2563 กล่าวว่าเธอเป็นคนหนึ่งที่เคยมีปัญหาเรื่องของสภาพจิตใจ ซึ่งตอนนั้นไม่กล้าออกมาพูดถึงเรื่องนี้ ไม่กล้าออกมาช่วยเหลือ แต่เมื่อถึงจุดที่เริ่มไม่รักตัวเอง เหมือนเป็นศัตรูตัวเองจึงออกมาขอความช่วยเหลือจนขณะนี้ไม่ได้มีสภาพจิตใจดังกล่าว ทำให้เห็นตระหนักถึงการมีคุณภาพจิตที่ดี #RealTalkThailandจะช่วยให้ทุกคนได้แชร์ประสบการณ์และได้รับการช่วยเหลือ ดังนั้น ขอให้ทุกคนที่มองว่าสภาพจิตใจของตนเองไม่โอเค อยากให้เข้าร่วมแคมเปณนี้ อย่ากังวลว่าถ้ามาเล่าแล้วทุกคนจะมองว่าอ่อนแอ เพราะหากทุกคนมีสุขภาพจิตที่ดีก็จะทำให้เรื่องต่างๆ ในชีวิตดีเช่นเดียวกัน
ทุกคนคุณสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ #RealTalkThailand ผ่านเพจ Facebook ประเทศไทยที่ https://www.facebook.com/FacebookThailand และมีส่วนร่วมในการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นด้านสุขภาพจิตด้วยการติดตาม @amanda.obdam, @knowingmindcenter, @samaritansthailand, @ooca.ok, @reenp และ @romanticraipoet บน Instagram