"GCNT" ประกาศเจตนารมณ์ ลดปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก"
ภัยคุกคามต่อมนุษยชาติที่ร้ายแรงยิ่งกว่าวิกฤตโควิด-19 นั่นคือ "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" (Climate Change) มีการประเมินของของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC ว่าอยู่ในระดับ “Code Red” แสดงถึงความร้ายแรงของสถานการณ์ขั้นสูงสุด
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เปราะบางที่สุดในโลกต่อผลกระทบดังกล่าว และแน่นอนว่า ประเทศไทยไม่สามารถหลบหนีจากผลกระทบอันรุนแรงเหล่านี้ได้ โดยผลกระทบในเรื่องนี้มีขอบเขตที่กว้างขวางและมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิที่สูงขึ้น ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สภาพอากาศสุดขั้ว ภัยพิบัติจากสภาพอากาศที่จะเพิ่มความถี่และความรุนแรงขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น เป็นกรดมากขึ้น และผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลต่อมนุษย์ทุกๆ ด้าน
ปัญหาดังกล่าว ยังส่งผลให้ผลผลิตพืชลดลง ระบบอาหารหยุดชะงัก น้ำท่วมเมืองชายฝั่งทั่วโลก โรคระบาด และอาจทำให้โลกสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งหมด 10% ภายในปี 2593 โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจลดลงถึง 20% หากเราไม่ดำเนินการใด ๆ
“ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร” รองเลขาธิการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) และ ผู้ช่วยบริหาร ประธานคณะผู้บริหาร และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศด้านความยั่งยืนและการสื่อสาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกคนต้องช่วยกัน มองเห็นว่าปัญหามีจริง รุนแรง และต้องลงมือทำ พร้อมกับตั้งเป้าชัดเจน ขณะที่ภาคเอกชน ซึ่งได้เปรียบในความคล่องตัว จำเป็นต้องลุกขึ้นมาจับมือกัน ชูประเด็นนี้ให้อยู่ในความสนใจของสาธารณชน ไม่เพียงแค่สร้างความตระหนักรู้ แต่ต้องสร้างการลงมือทำ มีเป้าหมาย แผนงานชัดเจน
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ( Climate Change ) ส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร ดินฟ้าอากาศ ผลผลิตไม่ตรงตามฤดูกาล ฝนแล้ง น้ำท่วม ไฟป่า สัตว์ทะเลลดลง หรือแม้แต่อุตสาหกรรมพลังงาน เกิดหมอกควันพิษ ประชาชนสุขภาพแย่ลง ระบบการขนส่งได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนทางสภาพภูมิอากาศ"
"รวมทั้ง ส่งผลต่อวิธีการทำธุรกิจเช่นกัน อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งโดนแรงกดดันจากสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เกิดกระแสว่ารถที่ใช้เครื่องยนต์แบบเก่าไปต่อระยะยาวไม่ได้แล้ว หรือสินค้าที่ส่งผลต่อการตัดไม้ทำลายป่า ก็เกิดกระแสต้านขึ้นมาทั้งจากมุมมองของผู้บริโภคต่อสินค้า สิ่งที่เกิดขึ้นกระทบตั้งแต่ในรั้วการผลิตไปจนถึงมุมมองและค่านิยมของสังคมต่อผลิตภัณฑ์”
ปัญหาดังกล่าวทุกคนต้องร่วมมือกันในการแก้ไข “ดร.เนติธร" อธิบายว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเรียกว่าเป็นความรับผิดชอบของทุกคนที่ต้องตระหนักถึงสภาพปัญหา รู้ว่าปัญหามีอยู่จริงและลงมือแก้ ถัดมา คือ ต้องประมวลว่าสิ่งที่ทำอยู่ส่งผลกระทบต่อโลกมากน้อยแค่ไหน สำรวจตัวเองว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำธุรกิจปริมาณเท่าไหร่ อย่างไร แล้วนำผลตรงนั้นมาเปิดเผยให้สาธารณชนให้ทราบเพื่อความโปร่งใส รวมถึงวางแผนว่าจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร และตั้งเป้าร่วมกันในปี 2050 ตามข้อตกลงปารีส ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศา และบรรลุเป้าหมาย “Net Zero” ในปี 2050
ทั้งนี้ GCNT ซึ่งมีสมาชิกกว่า 80 องค์กร จึงเร่งสร้างความตระหนักในภาคเอกชนและสนับสนุนให้ธุรกิจมีความมุ่งมั่น เพิ่มขีดความสามารถ ยกระดับธุรกิจสู้วิกฤตโลกร้อน โดยจัดให้มีการสัมมนาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก การฝึกอบรมภาคปฏิบัติ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เร่งลงมืออย่างจริงจัง ไม่เพียงแต่รับมือกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่เพื่อเปลี่ยนให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ ทั้งในเรื่องของพลังงานสะอาด รวมถึงการกำจัดของเสียและการนำกลับมาใช้ใหม่ผ่านระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยได้มีการระดมสรรพกำลังจากสมาชิก เตรียมประกาศจุดยืนของภาคเอกชนไทย ยกระดับธุรกิจสู้วิกฤตโลกร้อน ในงานใหญ่ประจำปี GCNT FORUM 2021 ในวันที่ 11 ตุลาคมที่จะถึงนี้
“ดร.เนติธร” กล่าวต่อไปว่า GCNT FORUM 2021 ปีที่ 2 เป็นเวทีที่จะดึงผู้นำความยั่งยืน ทั้งสมาชิก GCNT ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และสหประชาชาติ มาพบกับผู้นำของภาครัฐ ช่วยกันหาทางออก จุดประกาย และสัญญาว่าทุกคนจะร่วมกันทำงานอย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยมีภาคเอกชนเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนที่สำคัญ ช่วยกันลงทุนในโครงการที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้า SDG กว่า 1,000 โครงการ มูลค่าการลงทุนกว่า 1.3 ล้านล้านบาท
ขณะเดียวกัน ในปีนี้ เป็นประเด็นในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเป็นความเร่งด่วน และทั่วโลกให้ความสนใจ ซึ่งจัดขึ้นก่อนการประชุม “COP26” หรือ การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เพื่อเป็นแรงหนุนรัฐบาลว่าภาคเอกชนเอาจริงในเรื่องนี้และไม่ได้นิ่งนอนใจ เป็นการหาทางออกและจับต้องได้
- GCNT ประกาศเจตนารมณ์ ลดปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก"
GCNT FORUM 2021 ในปีนี้ใช้ชื่องานว่า Thailand’s Climate Leadership Summit 2021 ภายใต้แนวคิด A New Era of Accelerated Actions จัดบนแพล็ตฟอร์มออนไลน์ โดยมี นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในงาน พร้อมด้วย วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และผู้นำจากองค์กรธุรกิจชั้นนำที่เป็นสมาชิก
การสัมมนาแบ่งเป็น 5 หัวข้อ ครอบคลุมตั้งแต่ การประเมินสถานการณ์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในไทย ทางออกในการบรรลุปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรายกลุ่มธุรกิจ บทบาทของภาคการเงินและการลงทุนในการป้องกันแก้ปัญหาการด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ บทบาทของนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสรุปการหารือและการดำเนินการต่อไป
เวทีนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งการตระหนักรู้ กระตุ้นให้เห็นถึงปัญหา และทางออก ถัดมา คือ เกิดการแลกเปลี่ยนว่ามีทางออกแบบไหนที่ไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ แต่ด้านการเงิน นวัตกรรมจะช่วยเสริมได้อย่างไร รวมถึง เกิดการวางแผนชัดเจน โดยจะมีการประกาศเจตนารมณ์ในเช้าวันที่ 11 ต.ค. 64 เพื่อแสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจ 80 บริษัท พร้อมลงมือทำ และมีกรอบเวลาชัดเจน ในเรื่องของ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) กำหนดกรอบเวลาในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็น Net Zero ให้ได้ เพื่อตอบโจทย์ทุกภาคอุตสาหกรรม
ผู้สนใจร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน ด้วยการร่วมลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สามารถ ดูรายละเอียดและลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่เว็บไซด์ของสมาคมฯ https://gcntforum2021.globalcompact-th.com หรือแสกน QR Code