ทีมกรุ๊ปเผย "พายุ" 3 ลูกจ่อเข้าไทย เตือน "น้ำท่วม" ยาวถึงช่วง พ.ย. 64
"ทีมกรุ๊ป" ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ เตือนคนไทยเตรียมรับมือ "พายุ" 3 ลูก จ่อพัดเข้าไทย บริเวณภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง และเฝ้าระวัง "น้ำท่วม" ปีนี้อาจท่วมต่อเนื่องไปจนถึงต้นเดือน พ.ย.2564
วันนี้ (9 ต.ค.64) ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำของไทย "ชวลิต จันทรรัตน์" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ "ทีมกรุ๊ป" วิเคราะห์สถานการณ์พายุ ที่จะเข้าประเทศไทย ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงเดือน ต.ค. นี้ โดยระบุว่า
มีการยืนยันตรงกันจาก Tropicaistormisk สำนักวิเคราะห์ระดับนานาชาติของอเมริกา และของญี่ปุ่น รวมถึงข้อมูลจากทีมกรุ๊ปเอง พบ "พายุไลออนร็อก" กำลังจะเข้าไทย โดยคาดการณ์ว่าจะมาถึงไทย ประมาณวันที่ 10-12 ต.ค.นี้ ส่งผลให้มีฝนตกปานกลางถึงหนักมาก ในอีสานเหนือ และอีสานตอนกลาง
นอกจากนี้ ยังตรวจพบ "พายุ" อีก 2 ลูก จ่อเข้าไทยตามมาอีกติดๆ เมื่อรวมกับพายุไลออนร็อก ทำให้ช่วงนี้ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือพายุถึง 3 ลูก โดยผลกระทบที่เกิดจากพายุแต่ละลูกนั้น อาจทำให้เกิดน้ำท่วมขัง โดยจะท่วมขังนานไปถึงต้นเดือน พ.ย. 64 ส่วนรายละเอียดด้านพื้นที่ที่จะต้องเตรียมรับมือ มีดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา พายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” ฉบับที่ 11
- มาแน่! “พายุไลออนร็อค” จ่อเข้าไทย 11 ตุลาคมนี้
- "ทีมกรุ๊ป" เผย ฝนตกหนักปีนี้ ไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมปี 2554
1. พายุไลออนร็อก (#17:Lionrock - สิงโตฮ่องกง)
เป็นพายุลูกที่ 17 ของปีนี้ ก่อตัวขึ้นบริเวณชายฝั่งตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ เคลื่อนที่พัดเข้าใกล้ตอนกลางของประเทศฟิลิปปินส์ ทำให้มีฝนตกหนักในวันที่ 5 ต.ค. และจะเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ค่อนไปทางเหนือ ผ่านทะเลจีนใต้
คาดว่าจะทวีกำลังขึ้นเป็นพายุโซนร้อน แล้วพัดขึ้นฝั่งไป ทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมาก ที่บริเวณเกาะไหหลำ ประมาณวันที่ 8-9 ต.ค. แล้วอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น เคลื่อนตัวไปขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม ทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมากที่กรุงฮานอย ประมาณวันที่ 10 ต.ค. จากนั้นพายุจะเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศลาว
ผลกระทบต่อประเทศไทย : จะมีฝนตกปานกลางถึงหนัก ในวันที่ 10 -12 ต.ค.นี้ ในหลายพื้นที่ ได้แก่ นครพนม, สกลนคร, บึงกาฬ, หนองคาย, อุดรธานี, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม และมีฝนตกปานกลาง ในพื้นที่ภาคอีสานทั้งภาค และมีฝนตกหนักเป็นหย่อมๆ กระจายตัวอยู่ทั้งภาคอีสานด้วย
โดยมีพื้นที่ที่เสี่ยงจะเกิด "น้ำท่วม" ได้แก่
- อ.นาหว้า อ.ศรีสงคราม อ.ท่าอุเทน พื้นที่โดยรอบภูพาน อ.พรรณานิคม เมืองสกลนคร
- โคกศรีสุพรรณ อ่างเก็บน้ำน้ำอูน โพนพิสัย เมืองอุดรธานี
- อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
- พื้นที่สองตลิ่งลำน้ำชี ตั้งแต่ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ไปจนถึง อ.เมืองยโสธร
2. พายุคมปาซุ (#18:Kompasu - หมู่ดาววงเวียน ญี่ปุ่น)
ก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นพายุลูกที่ 18 ของปีนี้ เคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันตก คาดว่าจะทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมาก ในพื้นที่ตอนบนของประเทศฟิลิปปินส์ ประมาณวันที่ 11 ต.ค. นี้ แล้วเคลื่อนที่ไปทำให้ฝนตกหนักในตอนใต้ของจีนเหนือเกาะไหหลำ ประมาณวันที่ 12 ต.ค.
ต้องติดตามให้ใกล้ชิดว่าพายุลูกนี้ จะขึ้นฝั่งเวียดนาม ที่กรุงฮานอย หรือเมืองวินห์ หรือเมืองดานัง หรือ อาจจะสลายตัวไปประมาณวันที่ 13-14 ต.ค.นี้
ผลกระทบต่อประเทศไทย : มีโอกาสพบฝนตกปานกลางกระจายตัว ในวันที่ 13-15 ต.ค.นี้ โดยมีฝนตกหนักเป็นบริเวณเล็กๆ เป็นหย่อมๆ กระจายตัวอยู่ ในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก (กาญจนบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์)
โดยมีพื้นที่ที่เสี่ยงจะเกิดน้ำท่วม ได้แก่
- อ.นาหว้า อ.ศรีสงคราม อ.ท่าอุเทน พื้นที่โดยรอบภูพาน อ.พรรณานิคม อ.เมืองสกลนคร
- อ.โคกศรีสุพรรณ อ่างเก็นน้ำน้ำอูน อ.โพนพิสัย อ.เมืองอุดรธานี
- อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
อ่านข่าว : คลิ๊กเลย! ช่องทางช่วยเหลือสำหรับ “ผู้ว่างงาน” จากโควิด-19และน้ำท่วม
- พื้นที่ทั้งสองตลิ่งลำน้ำชี ตั้งแต่ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ไปจนถึง อ.เมืองยโสธร
- พื้นที่ทั้งสองตลิ่งแม่น้ำมูล ตั้งแต่ อ.พิมาย ไปถึง อ.พิบูลย์มังสาหาร จ.อุบลราชธานี
- พื้นที่สองตลิ่งลำน้ำป่าสัก ตั้งแต่ อ.วิเชียรบุรี อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ ไปถึง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา
3. พายุดีเปรสชั่น (#19 : ญี่ปุ่นยังไม่ตั้งชื่อ)
ก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ คาดว่าจะไปทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมาก ในพื้นที่ตอนใต้ของเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ประมาณวันที่ 17 ต.ค. แล้วเคลื่อนที่ไปทำให้ฝนตกหนักในตอนใต้ของประเทศลาว
ต้องติดตามให้ใกล้ชิดว่าพายุลูกนี้ จะเคลื่อนตัวมาในทิศทางใดแน่ หรืออาจจะสลายตัวไปประมาณวันที่ 18 ต.ค.นี้
ผลกระทบต่อประเทศไทย : มีโอกาสฝนตกปานกลางกระจายตัว ในวันที่ 17-19 ต.ค.นี้ อาจจะมีฝนตกหนักเป็นบริเวณเล็กๆ เป็นหย่อมๆ กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก (กาญจนบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์)
โดยมีพื้นที่ที่เสี่ยงจะเกิดน้ำท่วมเช่นเดียวกันกับพายุคมปาซุ คือ ได้แก่
- อ.นาหว้า อ.ศรีสงคราม อ.ท่าอุเทน พื้นที่โดยรอบภูพาน อ.พรรณานิคม อ.เมืองสกลนคร
- อ.โคกศรีสุพรรณ อ่างเก็นน้ำน้ำอูน อ.โพนพิสัย อ.เมืองอุดรธานี
- อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
- พื้นที่ทั้งสองตลิ่งลำน้ำชี ตั้งแต่ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ไปจนถึง อ.เมืองยโสธร
- พื้นที่ทั้งสองตลิ่งแม่น้ำมูล ตั้งแต่ อ.พิมาย ไปถึง อ.พิบูลย์มังสาหาร จ.อุบลราชธานี
- พื้นที่ทั้งสองตลิ่งลำน้ำป่าสัก ตั้งแต่ อ.วิเชียรบุรี อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ ไปถึง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา
โดยพื้นที่ "น้ำท่วมขัง" จะท่วมขังนานไปถึงต้นเดือน พ.ย. 64 สถานการณ์จึงจะคลี่คลาย