เกาะติดน้ำท่วม เช็คความพร้อม กทม. กระชับแผนรับมือ "คมปาซุ"
กางแผนเตรียมพร้อมและเฝ้าระวัง "มวลน้ำเหนือ" ช่วงกลางเดือน ต.ค. จะเกิดภาวะ "น้ำมาก" ตามสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม.บัญญัตินิยามใหม่จากคำว่า "น้ำท่วม" หรือไม่
"ไม่อยากเรียกกว่าน้ำท่วม ขอเรียกว่าน้ำมาก..."
เสียงจาก "ผู้ว่าฯ กทม." พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง หลังประชุมความร่วมมือบริหารจัดการน้ำระหว่างกรุงเทพฯ กับ 6 จังหวัดปริมณฑลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือไหลหลาก เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ต่อสถานการณ์เฝ้าระวัง "น้ำเหนือ" ระลอกใหม่ตลอดสัปดาห์นี้
โดยเฉพาะจากประกาศ กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือนพายุโซนร้อนกำลังแรง "คมปาซุ" (แปลว่า กลุ่มดาววงเวียน ตั้งชื่อโดยญี่ปุ่น) เคลื่อนตัวบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน จะขึ้นฝั่งเวียดนามวันที่ 13-14 ต.ค.นี้ ทำให้พื้นที่ภาคอีสานมีฝนตกหนัก รวมถึงอิทธิพลจากร่องมรสุมทำให้ภาคเหนือตอนล่าง อีสานตอนล่าง ภาคกลาง ตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก เตรียมรับสถานการณ์ฝนตกหนัก
ไม่ใช่แค่คำแจ้งเตือน "คมปาซุ" เท่านั้น แต่ในที่ประชุมร่วม กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์พื้นที่ภาคกลาง และกรุงเทพฯ จะเกิดฝนตหนักระหว่างวันที่ 13-16 ต.ค. ก่อนที่ปริมาณจะลดลงในวันที่ 17 ต.ค.เป็นต้นไป ทำให้ปริมาณฝนที่เกินในรอบนี้ จะเพิ่มมวลน้ำก้อนใหม่เข้ามาในพื้นที่ภาคกลาง และพื้นที่ปลายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างกรุงเทพฯ
จากคำเตือนดังกล่าว "อัศวิน" ยอมรับว่าไม่กังวลกับสถานการณ์น้ำเหนือ และน้ำหนุน แต่กังวลกับ "น้ำฝน" เพราะเป็นน้ำระบายออกจากพื้นที้ได้ช้า จากปัจจัยกรุงเทพฯเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและท่อระบายน้ำขนาดเล็ก แต่ในพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ ยังมั่นใจว่ามวลน้ำที่เข้ามาจะไม่สูงเกินกว่าระดับเขื่อน 3.50 เมตร ถึงแม่อาจมีภาวะแรงน้ำด้านนอกเขื่อนดันเข้ามา แต่ กทม.ได้เตรียมพร้อมมาตรการไว้แล้ว
สำหรับ "แผนรับมือ" ที่ กทม.ยึดแนวปฏิบัติกรณีฝนตกหนัก และน้ำท่วมขัง ตั้งแต่ก่อนฤดูฝนของทุกปี มีรายละเอียดดังนี้
1.ทําความสะอาดท่อระบายน้ำถนนสายหลัก ตรอก ซอย ความยาวรวม 6,564 กิโลเมตร ใช้แรงงานของสํานักระบายน้ำและสํานักงานเขต และจ้างเหมาเอกชนดําเนินการ
2.เปิดทางน้ำไหล ขุดลอกคูคลอง จัดเก็บขยะวัชพืช 1,980 คลอง ยาว 2,743 กิโลเมตร
3.เตรียมความพร้อมสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ บ่อสูบน้ำ จํานวน 762 แห่ง มีกําลังสูบรวม 2,467 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยสถานีสูบน้ำจะระบายน้ำออกจากพื้นที่ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ 1,087 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
4.ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มในพื้นที่เฝ้าระวัง สามารถระบายน้ำท่วมขัง 482 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
5.เตรียมความพร้อมอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง สามารถระบายน้ำท่วมขัง 195 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
6.สร้างท่อเร่งระบายน้ำ (Pipe jacking) จำนวน 10 จุด
7.ตรวจสอบความแข็งแรง จุดรั่วซึม แนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ ความยาว 87.93 กิโลเมตร
8.เรียงกระสอบทรายเป็นเขื่อนชั่วคราว ริมคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร และบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำ 14 จุด ระยะทาง 2,512 เมตร
9.ลดระดับน้ำในคลองและแก้มลิง 30 แห่ง และสร้างธนาคารน้ำ จำนวน 2 แห่ง เพื่อชะลอน้ำปริมาณ 13.41 ล้านลูกบาศก์เมตร มาเก็บกักในแก้มลิงชั่วคราว ก่อนระบายลงสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะ
10.เตรียมวัสดุอุปกรณ์กรณีฉุกเฉิน ตั้งแต่กระสอบทราย และรถเครื่องกําเนิดไฟฟ้า
11.เตรียมหน่วยบริการเร่งด่วน และเจ้าหน้าที่ประจําหน่วย 24 ชั่วโมง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง และเตรียมหน่วยฉุกเฉินเขตช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง
12.ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ให้บริการข้อมูลข่าวสารประชาชน สื่อมวลชน และรับแจ้งเรื่องร้องทุกข์ปัญหาน้ำท่วมขัง ท่อระบายน้ำชํารุด อุดตัน และปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วมขัง 24 ชั่วโมง
ในช่องทาง "อัพเดท" สถานการณ์สภาพฝน จะถูกรวบรวมไว้ที่ เว็ปไซต์ กทม. http://www.bangkok.go.th เว็บไซต์สํานักการระบายน้ำ http://dds.bangkok.go.th/, e-mail : [email protected], Facebook : กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ ไลน์ @BKK_BEST, Twitter : bkk_best และเบอร์โทร 02 248 5115 หรือ สายด่วน 1555
นอกจากนี้ กทม.ได้เตรียมแผนปฏิบัติการ 9 ขั้นตอน เพื่อรับมือปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ ดังนี้
1.ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยาและจากเรดาร์ตรวจฝน โดยศูนย์ป้องกันน้ำท่วม ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง
2.เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ตามจุดที่เสี่ยงน้ำท่วมและพร้อมใช้งานได้ทันที
3.ควบคุมและลดระดับน้ำในคลอง บ่อสูบน้ำ แก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำตามแผน
4.เมื่อมีฝนตกศูนย์ป้องกันน้ำท่วม แจ้งเตือนสถานการณ์ให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม ผ่านระบบวิทยุสื่อสาร Trunked Radio แจ้งเตือนสำนักงานเขตผ่านวิทยุสื่อสารเครือข่าย "อัมรินทร์" แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านกลุ่ม Line "เตือนภัยน้ำท่วมกทม." (ปภ. ทหาร ตำรวจ สื่อมวลชน)
5.ส่งหน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน ประจำจุดเสี่ยง และจุดสำคัญเมื่อคาดว่าจะมีฝนตกหนัก เพื่อเร่งระบายน้ำ และแก้ปัญหาด้านการจราจร
6.หน่วยงานภาคสนามลงพื้นที่ตามจุดต่างๆ และรายงานสถานการณ์น้ำท่วมให้ศูนย์ป้องกันน้ำท่วมรับทราบ
7.ขอการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจช่วยอำนวยความสะดวกการจราจร การปิดเส้นทางน้ำท่วม ทหาร ช่วยเหลือประชาชน หากมีระดับน้ำท่วมสูงรถเล็กไม่สามารถใช้เส้นทางผ่านได้ เป็นต้น
8.แก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจุดที่วิกฤติ โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่ เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม
9.ศูนย์ป้องกันน้ำท่วมรายงานสภาพฝน ปริมาณฝน พื้นที่น้ำท่วมขังเป็นระยะๆ และสรุปสถานการณ์เพื่อแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ผ่านหน่วยงานต่างๆ ในช่องทางโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน กทม.ได้จัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยมีผอ.เขต เป็นผู้บัญชาเหตุการณ์
จากสถานการณ์เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อม พายุโซนร้อนกำลังแรง "คมปาซุ" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน โดยคาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำประเทศจีน และขึ้นฝั่งบริเวณเวียดนามตอนบน 13-14 ต.ค. ถึงแม้แนวพาดผ่านจะไม่ถึงกรุงเทพฯ โดยตรง
แต่จากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง บวกกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และอาจมีมวลน้ำบางส่วนไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านเข้าสู่กรุงเทพฯ
ทั้งหมดเป็นสถานการณ์เตรียมพร้อมและเฝ้าระวัง "มวลน้ำเหนือ" ช่วงกลางเดือน ต.ค. จะเกิดภาวะ "น้ำมาก" ตามสิ่งที่ผู้ว่าฯกทม.บัญญัตินิยามใหม่จากคำว่า "น้ำท่วม" หรือไม่.