กรมอนามัยแนะวิธีลดเสี่ยงเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย

กรมอนามัยแนะวิธีลดเสี่ยงเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย

กรมอนามัย แนะ พ่อแม่ดูแลลูกหลาน ‘คุมน้ำหนัก - กินอาหารเหมาะสม – ออกกำลังกาย’   ลดเสี่ยงเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีพ่อแม่ ผู้ปกครอง       มีความเป็นกังวลเรื่องลูกหลานเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย เช่น อายุแค่ 7 ขวบ เริ่มมีหน้าอก หรือ 9 ขวบ เริ่มมีประจำเดือน และได้นำข้อมูลดังกล่าว มาเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ตามช่องทางต่าง ๆ แล้วนั้น ภาวะนี้เรียกว่า ภาวะเด็กมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเกินวัย เช่น เด็กหญิงมีเต้านมโตก่อนอายุ 8 ปี มีประจำเดือนก่อนอายุ   9 ปี เด็กชายมีลูกอัณฑะและองคชาติขยายตัวก่อนอายุ 9 ปี โดยข้อมูลจากสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์      

  กรมอนามัย ระบุว่า จะพบได้ในเด็กหญิงและเด็กชาย แต่จะพบในเด็กหญิงมากกว่าเด็กชายประมาณ 10 เท่า   โดยส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่บางส่วนอาจเกิดจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น พันธุกรรม ภาวะอ้วน/น้ำหนักเกิน เคยมีประวัติมีก้อนเนื้องอกในสมอง หรือสมองเคยขาดออกซิเจน เคยได้รับการฉายรังสีก็จะไปกระตุ้นต่อมใต้สมองให้สร้างฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน (Gonadotropin) เพื่อกระตุ้นต่อมเพศให้สร้างฮอร์โมนเพศเพิ่มขึ้น และการได้รับยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศ เป็นต้น 
      นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า วิธีป้องกันที่ง่ายที่สุดคือ ควบคุมน้ำหนักของเด็กให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ให้เด็กรับประทานอาหารตามโภชนาการที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารที่มีไขมันสูง และอาหารจานด่วน ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อการมีสุขภาพที่แข็งแรงตามวัย ส่วนการกินอาหารประเภทไก่บ่อย ๆ ยังไม่พบหลักฐานทางวิชาการที่บ่งชี้ว่าทำให้เด็กเป็นโรคโตกว่าวัย สำหรับผลกระทบด้านร่างกายของภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย ได้แก่ กระดูกปิดเร็ว ทำให้หยุดสูง เมื่อเป็นผู้ใหญ่จะเตี้ยกว่าที่ควรจะเป็น    

      ส่วนทางด้านจิตใจจะได้รับผลกระทบจากความไม่สอดคล้องของการเติบโตทางด้านร่างกายกับวุฒิภาวะทางจิตใจอาจมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับรูปร่างตนเอง อับอาย ถูกเพื่อนล้อและมีพฤติกรรมแยกตัว เด็กผู้หญิงมีปัญหา       ในเรื่องการดูแลตนเองในช่วงมีประจำเดือน ส่วนในเด็กชายอาจจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว อารมณ์รุนแรงและมีอารมณ์ทางเพศ หากพบลักษณะหรืออาการดังกล่าวของบุตรหลาน ควรเข้ารับการวินิจฉัยด้วยการเอกซ์เรย์   เพื่อตรวจอายุของกระดูก หรือตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนเพศในร่างกาย หรือตรวจ MRI สมองและ ทำอัลตร้าซาวด์ บริเวณมดลูกสำหรับเด็กหญิง เพื่อยืนยันว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากเนื้องอกในสมอง       หรือความผิดปกติที่รังไข่ หรือมดลูก เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา โดยเด็กสามารถรับการรักษาฟรี ได้ที่โรงพยาบาลที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)
        ​“สำหรับครอบครัวที่ลูกมีภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็ว พ่อแม่ควรพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ 1) บอกให้ลูกรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น อธิบายตามจริง ไม่โกหกเด็ดขาด 2) บอกเหตุผลและความจำเป็นในการรักษา 3) ให้ความรู้เรื่องเพศตามความเหมาะสม เพื่อให้เข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ลดความตกใจและความกังวลที่เกิดขึ้น รวมถึงการดูแลปกป้องร่างกายตนเองและการป้องกัน การถูกล่วงละเมิดทางเพศ      และ 4) ควบคุมน้ำหนักของเด็กให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน และออกกำลังกายเป็นประจำ" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว