‘แอพพลิเคชั่น’ จากรัฐฯ ช่วง ‘โควิด’ ชื่อคล้ายๆ กัน แต่ละอันเอาไว้ทำอะไรบ้าง ?

‘แอพพลิเคชั่น’ จากรัฐฯ ช่วง ‘โควิด’ ชื่อคล้ายๆ กัน แต่ละอันเอาไว้ทำอะไรบ้าง ?

เลิกสับสน! รวมลิสต์ "แอพพลิเคชั่น” จากภาครัฐ ที่เกิดในช่วง "โควิด-19" เคยมีแอพฯ อะไรบ้าง แล้วแต่ละชื่อที่คล้ายๆ กัน แต่ละอันเอาไว้ทำกันแน่ ?

นับตั้งแต่โควิด-19 ระบาดในไทย การพบปะกันก็กลายเป็นเรื่องที่ต้องหลีกเลี่ยง เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ หรือแพร่เชื้อโควิดต่อ ขณะเดียวกันนี่ก็เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้รัฐ และคนไทยต้องดันตัวเองสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ทั้งการติดต่อสื่อสาร การทำธุรกิจ หรือแม้แต่การบริหารสถานการณ์โรคระบาดของรัฐ ที่ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วย

หนึ่งในนั้นคือสารพัดแอพพลิเคชั่นที่ผุดมาตามสถานการณ์ต่างๆ ที่มีชื่อคล้ายๆ กันชวนสับสนในบางครั้ง หลายแอพฯ ก็มีความจำเป็นและอาจกลายเป็นแอพฯ สามัญประจำเครื่องที่ต้องมีต่อไปแม้จบโควิด แต่บางแอพฯ ก็อายุสั้นแค่เคยสำคัญ และต้องทวงคืนพื้นที่ให้แอพฯ อื่นๆ ที่จำเป็นกว่า

เชื่อว่าตอนนี้โทรศัพท์มือถือของคนไทยคงมีแอพฯ เกิดใหม่จากสถานการณ์โควิด-19 อยู่ในเครื่องไม่ต่ำกว่า 1 แอพฯ

“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวนมาเช็คลิสต์แอพฯ ที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐที่เคยมีมา พร้อมคุณสมบัติว่าแอพฯ ไหนจำเป็นกับเราอยู่บ้าง

อ่านข่าว : อัพเดท "โควิดวันนี้" 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด กทม.-ปริมณฑล 2,045 จับตายะลา สงขลา ปากน้ำ ชลบุรี

‘แอพพลิเคชั่น’ จากรัฐฯ ช่วง ‘โควิด’ ชื่อคล้ายๆ กัน แต่ละอันเอาไว้ทำอะไรบ้าง ?

 

  •  เป๋าตัง 

เรียกได้ว่าเป็นแอพฯ ที่แทบทุกคนต้องมีติดเครื่อง เพราะเป๋าตังคือ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เป็นตัวกลางในการรับและจ่ายเงินมาตรการเยียวยา โครงการต่างๆ ระหว่างประชาชนและภาครัฐ เช่น เราชนะ คนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ ม.33 เรารักกัน เป็นต้น

นอกจากนี้แอพฯ เป๋าตังยังถูกพัฒนาให้กลายเป็นตัวกลางในหลายๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเงินๆ ทองๆ ด้วย เช่น เปิดจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาลผ่านออนไลน์ วอลเลท สบม. ที่เริ่มต้นลงทุนได้ด้วยเงิน 1 บาท เป็นต้น
 

  •  ถุงเงิน 

สำหรับผู้บริโภคจะมีแอพฯ เป๋าตังไว้รับเงินและใช้จ่าย แต่ในฟากของพ่อค้าแม่ค้าก็มีแอพฯ ถุงเงิน ไว้สำหรับรับชำระค่าสินค้าและบริการสำหรับร้านค้าในโครงการของรัฐต่างๆ เช่นกัน แอพฯ นี้ก็เลยเปรียบได้กับกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ให้บริการ ที่ทำได้รับเงินจากลูกค้า ตรวจสอบรายการเงินที่เข้ามาทั้งจากส่วนลูกค้า และจากภาครัฐด้วย เช่น เราชนะ คนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ ม.33 เรารักกัน เป็นต้น
 

  •  ไทยชนะ 

อีกหนึ่งแอพฯ ที่เริ่มต้นใช้งานในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ในประเทศไทย เป็นแอพฯ ที่มีไว้เพื่อให้ประชาชนที่เดินทางไปสถานที่ต่างๆ สแกน QR CODE ณ สถานที่นั้นๆ เพื่อเช็คอินเข้าออก หวังว่าจะช่วยติดตามไทม์ไลน์การเดินทางในช่วงโควิดระบาด ว่าหากตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 จะสามารถตรวจสอบย้อนหลังว่าไปสถานที่ใดมาบ้างเพื่อแจ้งเดือนคนที่เดินทางในสถานที่ วัน เวลาเดียวกัน ประเมินตัวเองในฐานะกลุ่มเสี่ยงต่อไป

  •  หมอชนะ 

อีกหนึ่งแอพฯ ที่เล่นเอาหลายคนสับสนกับ “ไทยชนะ” อยู่บ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะนอกจากชื่อที่ใกล้เคียงกันแล้ว การใช้งานก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่ด้วย หมอชนะ คือแอพฯ ดาวน์โหลดไว้เพื่อช่วยบันทึกข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้งาน ว่าไปที่ไหนมาบ้าง แต่ต่างจากไทยชนะตรงที่ หมอชนะจะระบุตำแหน่งของผู้ใช้งานอัตโนมัติ  ไม่ต้องคอยสแกนเข้าออกทุกครั้งที่เดินทาง นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติช่วยประเมินอาการเมื่อมีความเสี่ยงติดเชื้อโควิดได้ด้วย ในกรณีที่ระบบพบว่าผู้ใช้เดินทางไปในสถานที่และเวลาเดียวกับผู้ป่วยโควิด-19

 

  •  หมอพร้อม 

มีหมอชนะ แล้วก็มีหมอพร้อมอีก แต่หมอพร้อม มีไว้สำหรับระบบลงทะเบียนฉีดวัคซีน ติดตามอาการไม่พึงประสงค์ นัดฉีดวัคซีน สำหรับกลุ่มผู้มีความเสี่ยง ณ เวลานั้น ทว่าตอนนี้ไม่สามารถลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่านหมอพร้อมได้แล้ว เนื่องจากปิดระบบไปตั้งแต่ 31 พ.ค. 64 อย่างไรก็ตาม ตอนนี้แอพฯ หมอพร้อมก็ยังมีหน้าที่เก็บข้อมูลการฉีดวัคซีนของประชาชน ติดตามอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด พร้อมอัพเดทรายงานการฉีดวัคซีนในแต่ละวันด้วย

 

  •  ไทยเซฟไทย 

แอพพลิเคชั่น จากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ความสามารถหลักๆ คือ ให้ประชาชนประเมินความเสี่ยง คัดกรองตัวเอง ซึ่งหากประเมินเสร็จแล้ว แอพฯ จะบอกชัดเจนว่าอยู่ในกลุ่มไหน นอกจากนี้ ยังสามารถเข้าไปทำแบบทดสอบประเมินความเสี่ยง 2 กลุ่มคือ

- คัดกรองก่อนเข้าทำงาน สำหรับพนักงาน : ประเมินความเสี่ยงการแพร่เชื้อให้กับเพื่อนในที่ทำงาน

- คัดกรองก่อนเข้าบ้าน สำหรับบุคคลทั่วไป : ประเมินความเสี่ยงการแพร่เชื้อให้กับคนที่รักในบ้าน ได้ด้วย

 

  •  ไทยมีงานทำ 

 อีกหนึ่งแอพฯ ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 เนื่องจากประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดจนถูกเลิกจ้าง ปิดกิจการ และตกงานเป็นจำนวนมาก สำนักงานประกันสังคมทำแอพฯ ไทยมีงานทำ เพื่อให้ผู้ประกันตนที่ตกงานสามารถขึ้นทะเบียนรายงานตัวของผู้ประกันตนกรณีว่างงานได้ง่ายๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นนโยบายที่จ่ายเงินชดเชยตามเกณฑ์ของประกันสังคม และช่วยหางานให้ประชาชนกลุ่มนี้ด้วย

 

  •  ทางรัฐ 

ชื่อแอพฯ เล่นคำกับ "ทางลัด" เพราะเป็นแอพฯ ที่มีการรวมบริการของภาครัฐต่างๆ มาไว้ในแอพฯ เดียวเพื่ออำนวยความสะดวกของประชาชน ทวงคืนหน่วยความจำในโทรศัพท์มือถือ เช่น การตรวจสอบสิทธิประกันสังคม สถานะผู้ประกันตน สิทธิหลักประกันสุขภาพ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ข้อมูลเครดิตบูโร เช็คโฉนดที่ดิน รวมถึงบริการค่าน้ำ ค่าไฟ ที่สามารถชำระค่าบริการผ่าน QR Code เป็นต้น