เช็ครายละเอียด แผนรองรับ "เปิดประเทศ" 15 จังหวัด เตรียมพร้อมเปิดเมือง 1 พ.ย.
ศบค.สรุปแผนรองรับเปิดประเทศพ.ย.-ธ.ค. นี้ ระบุ 5 กลยุทธ์ 4 เป้าหมาย เน้นความปลอดภัยของประชาชน ชี้ชัด 15 จังหวัดเตรียมเปิดเมือง 1 พ.ย.นี้
ใกล้เข้ามาทุกทีสำหรับการเปิดประเทศในระยะที่ 1 ในวันที่ 1 พ.ย.64 ตามแผนรองรับการเปิดประเทศ ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กำหนด ซึ่งเบื้องต้นจะเปิดทั้งหมด 15 จังหวัด แต่ใช้ว่าทั้ง 15 จังหวัดจะเปิดทั้งจังหวัด แต่จะเปิดเป็นบางพื้นที่ท่องเที่ยว หรือพื้นที่ที่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนครอบคลุม
วันนี้ (15 ต.ค. 64) ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวถึงการยกเลิกการกำหนดประเทศ/ดินแดง ตามความเสี่ยงของสถานการณ์โควิด-19 ว่า ตามมติการประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการตามพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ศูนย์ปฎิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์ และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ปฎิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) วันที่ 29,30 ก.ย.-1 ต.ค.2564 เห็นควรยกเลิกการกำหนดกลุ่มประเทศ และดินแดนฯ รวมทั้งประกาศประเทศที่มีเชื้อกลายพันธุ์สำหรับการเข้าราชอาณาจักร เนื่องจาก สถานการณ์ทั่วโลกดีขึ้น เกณฑ์ที่ใช้ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ทั้งนี้ ยังต้องมีการกำหนดมาตรการส่วนบุคคลกำหนดการเข้าราชอาณาจักร ได้แก่ การได้รับวัคซีน การตรวจ RT-PCR หรือการกักกัน เป็นต้น อีกทั้ง มีการเฝ้าระวังสถานการณ์ เฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์ในผู้ที่เดินทางเข้าราชอาณาจักรและติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง และสามารถกำหนดประเทศใหม่ได้เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง
ในส่วนของแผนรองรับการเปิดประเทศที่เน้นย้ำในเดือนพ.ย.และธ.ค.2564 นั้น จะประกอบด้วย 5 กลยุทธ์ ดังนี้ 1.การเปิดประเทศอย่างปลอดภัย 2.การเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคในกลุ่มเสี่ยง/สถานที่เสี่ยง/กลุ่มเปราะบาง 3.การเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข 4.การพัฒนาระบบข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารความเสี่ยง 5.การสร้างกลไกการบริหารจัดการแบบบูรณาการ
- 4 เป้าหมายจัดทำแผนเปิดประเทศ
ทั้งนี้ 4 เป้าหมาย ในแผนการรองรับการเปิดประเทศ ได้แก่
1.สร้างความเชื่อมั่น ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตวิถีใหม่ หรือดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามหลักการแพทย์ และสาธารณสุข
2.สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ ประชาชนต้องมีภูมิคุ้มกันหมู่ และมีความปลอดภัยจากการเสียชีวิต เนื่องจากโควิด-19 รวมถึงการรักษาระดับความมั่นคงด้านสาธารณสุขได้อย่างต่อเนื่อง
3.ฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจของประเทศกลับมาฟื้นตัว โดยมีอัตราเติบโตของ GDP เป็นไปตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
4.เสริมสร้างสังคมและวัฒนธรรม ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมด้านสังคมและวัฒนธรรมตามเดิมได้ โดยยังคงปฎิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค DMHTTA ต่อไป
“สำหรับการเปิดประเทศอย่างปลอดภัยนั้น ขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงมหาดไทย(มท.) และกระทรวงการต่างประเทศ(กต.)ได้มีการปรับมาตรการสำหรับผู้เข้าราชอาณาจักร เพื่อเตรียมแผนเปิดประเทศ ตั้งแต่เดือนต.ค.2564-มี.ค.2565 โดยจัดทำแผนการเปิดประเทศโดยปรับมาตรการตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งขณะนี้มีการกำหนดไว้ 5 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ สิงคโปร์ เยอรมนี จีน และอเมริกาปรับมาตรการในการเข้าราชอาณาจักร เช่น การลดวันกักกัน การปรับการตรวจหาเชื้อ ปรับลดค่าประกันรักษาโควิด และปรับมาตรการที่เกี่ยวข้อง รวมถึง ได้เฝ้าระวังการลักลอบ/หลบหนีเข้าออกประเทศ และจะจัดระบบการรับแรงงานต่างด้าวกลับเข้าประเทศและลดการจ้างแรงงานผิดกฎหมายที่ลักลอกเข้าเมือง” พญ.อภิสมัย กล่าว
- เน้นเฝ้าระวังควบคุมโรครับเปิดประเทศ
ส่วนการเฝ้าระวัง ควบคุมโรค โดยจะเน้นในกลุ่มผู้ป่วย 11 กลุ่ม และจะมีการค้นหาเชิงรุกในชุมชนอย่างเข้มงวด และดำเนินการป้องกันในรูปแบบ Bubble and Seal สำหรับสถานประกอบกิจการ แคมป์ก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง มีการจัดระบบป้องกันควบคุมโรค สำหรับการเดินทางและใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยตามมาตรการโควิด และการจะทำกิจกรรม/กิจการได้ ต้องมีการจัดการตนเอง มีการจัดสถานที่ และผู้ที่ประกอบการกิจการต้องได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วน และสถานประกอบการที่ต้องตรวจ ATK ให้แก่พนักงาน สามารถนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษี 1.5% ได้ และอยากขอความร่วมมือผู้ใช้บริการ แสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนครบหรือไม่ ซึ่งอยากให้ทุกฝ่ายค่อยๆ ปรับค่อยๆ ทำ ใครพร้อมทำก่อน
ทั้งนี้ สำหรับกลยุทธ์ที่ 1 และ 2 นี้ ในวันจันทร์ที่ 18 ต.ค.นี้ จะรายงานให้เห็นภาพรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
ขณะที่การเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข หากมีการรายงานผู้ติดเชื้อได้เร็ว แยกกักตัวได้เร็ว จะทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น จะมีการเพิ่มความครอบคลุมการได้รับวัคซีนของประชาชนและจัดหาให้เพียงพอ เตรียมทีมสอบสวนควบคุมโรคทุกระดับ เตรียมรูปแบบการรักษาพยาบาล ให้ได้คุณภาพมาตรฐาน มีการต่อยอดใช้แพทย์แผนไทยในการรักษา รวมถึงการดูแลสุขภาพจิตร่วมด้วย จะต้องครบถ้วนและทำได้ดี ถึงจะเกิดการรองรับการเปิดประเทศอย่างถ้วนหน้าในวันที่ 1 พ.ย.นี้
- เช็คจังหวัดไหน?ได้เปิดเมืองช่วงไหน?
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อไปว่าการพัฒนาระบบข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารความเสี่ยง จำเป็นต้องมีการบูรณาการแอปพลิเคชั่นในการดำเนินงานและกำกับติดตามเพื่อการควบคุมโรค จัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศโควิด-19 มีความเชื่อมโยง ทันเวลา และปรับระบบการสื่อสารความเสี่ยง เพื่อให้เกิดการรอบรู้ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และสังคม
ส่วนกลยุทธ์สุดท้าย กลไกการบริหารจัดการแบบบูรณาการ สร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วม ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะระดับประเทศ ระดับจังหวัด กทม. อำเภอ ชุมชน และระดับบุคคล กำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละส่วนให้ชัดเจน ทุกหน่วยงานมีโครงการการดำเนินการ สร้างกลไกลการดำเนินการโดยบูรณาการทุกภาคส่วน ชุมชนต้องจัดการตนเองได้
จังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ในแต่ละระยะ (พื้นที่สีฟ้า)
ระยะที่1 (1-30 พ.ย.2564 ) มี 15 จังหวัด ได้แก่
- กทม.
- สมุทรปราการ (สนามบินสุวรรณภูมิ)
- กระบี่(ทั้งจังหวัด)
- พังงา(ทั้งจังหวัด )
- ประจวบคีรีขันธ์ (ต.หัวหิน หนองแก)
- เพชรบุรี (เทศบาลเมืองชะอำ)
- ชลบุรี (พัทยา อ.บางละมุง ต.นาจอมเทียน ต.บางเสร่ เกาะสีชัง อ.ศรีราชา)
- ระนอง (เกาะพยาม)
- เชียงใหม่ (อ.เมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า)
- เลย (เชียงคาน)
- บุรีรัมย์ (อ.เมือง)
- หนองคาย (อ.เมือง ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ สังคม)
- อุดรธานี (อ.เมือง นายูง หนองหาน ประจักษ์ศิลปาคม กุมภวาปี บ้านดุง)
- ระยอง (เกาะเสม็ด)
- ตราด (เกาะช้าง)
ระยะที่ 2 (1-31 ธ.ค.2564) ได้แก่
- เชียงราย
- แม่ฮ่องสอน
- ลำพูน
- แพร่
- สุโขทัย
- เพชรบูรณ์
- ปทุมธานี
- อยุธยา
- ขอนแก่น
- นครราชสีมา
- นครศรีธรรมราช
- ตรัง
- พัทลุง
- สงขลา
- ยะลา
- นราธิวาส
ระยะที่ 3 (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565) ได้แก่
- สุรินทร์
- สระแก้ว
- จันทบุรี
- ตาก
- นครพนม
- มุกดาหาร
- บึงกาฬ
- อุบลราชธานี
- น่าน
- กาญจนบุรี
- ราชบุรี
- สตูล
- โดยอาจมีการพิจารณาปรับพื้นที่ ตามสถานการณ์ภายหลังได้