กรมการแพทย์แผนไทยฯ ชูนโยบายปี 65 ยกระดับกัญชา กัญชง กระท่อม ทางการแพทย์

กรมการแพทย์แผนไทยฯ ชูนโยบายปี 65 ยกระดับกัญชา กัญชง กระท่อม ทางการแพทย์

"กรมการแพทย์แผนไทยฯ" ชู นโยบายขับเคลื่อนกรม ปี 2565 เตรียมยกระดับ กัญชา กัญชง และกระท่อมทางการแพทย์แผนไทย สร้างนวัตกรรมดูแลสุขภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศชาติ

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ ปีงบประมาณ 2565 เน้นการให้บริการด้านการแพทย์แผนไทย/แพทย์ทางเลือก บูรณาการการแพทย์แผนปัจจุบันอย่างไร้รอยต่อ เพื่อช่วยลดภาระระบบบริการสุขภาพ ในสถานการณ์โควิด 19 รวมถึง การจัดการ กัญชา กัญชง และ กระท่อม ทางการแพทย์แผนไทยเพื่อสร้างนวัตกรรมดูแลสุขภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศชาติ พร้อมยกระดับตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน งานการแพทย์แผนไทยฯ ในส่วนภูมิภาค ร้อยละ 20.5 ของการให้บริการ

 

นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า สถานการณ์และนโยบายมุ่งเน้นกระทรวงสาธารณสุข ข้อ 3 เน้นเรื่องการสนับสนุน ส่งเสริม สมุนไพรไทย กัญชา กัญชง ให้เป็น พืชเศรษฐกิจที่มีคุณค่าทางการแพทย์ พัฒนากัญชา กัญชงที่มีคุณภาพสู่มาตรฐานสากล ซึ่งแนวทางการนำสมุนไพรไทยกับการฟื้นฟูประเทศ หลังโควิด 19 ชูสมุนไพรไทยเพื่อการพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพของประเทศ บูรณาการองค์ความรู้ ร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน เร่งพัฒนางานวิจัย สร้างความเชื่อมั่น ผลักดันยาแผนไทย สู่ชุดสิทธิประโยชน์ และบัญชียาหลักแห่งชาติ

 

รวมถึงสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ผ่านเครือข่ายสุขภาพในระดับชุมชน ส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟูสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก ในหน่วยบริการปฐมภูมิ และ รพ.สต.ลดภาระให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ สำหรับในปีนี้ มีโจทย์สำคัญในเรื่องสมุนไพรเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เป็นการพัฒนาสมุนไพรไทยเพื่อเศรษฐกิจครบห่วงโซ่คุณค่า ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ตั้งแต่ต้นทาง

อ่านข่าว :  ไฟเขียว ’กัญชา’ ​ขายในร้านค้า หนุนรายได้เศรษฐกิจ-เกษตรกรไทย

กรมการแพทย์แผนไทยฯ ชูนโยบายปี 65 ยกระดับกัญชา กัญชง กระท่อม ทางการแพทย์

โดยจะพัฒนาวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพ ส่งเสริมการปลูกสมุนไพร อบรมกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ กลางทาง สร้างสรรค์นวัตกรรมสมุนไพร พัฒนาวิจัยนวัตกรรมสู่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ตอบสนองความต้องการ ส่งเสริม อบรม ถ่ายถอดนวัตกรรม ให้คำปรึกษาผู้ประกอบการสมุนไพร ยกระดับผู้ประกอบการสมุนไพรผ่านรางวัลคุณภาพ และ ปลายทาง เสริมภาพลักษณ์และความเชื่อมั่น เชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพฟื้นฟูเศรษฐกิจ รองรับการเปิดประเทศ ในส่วนเป้าหมายสำคัญและผลที่คาดว่าจะได้รับ คือมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรมวลรวมของประเทศไทย เพิ่มขึ้นกว่า 1.6 ล้านดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา

 

กรมการแพทย์แผนไทยฯ พร้อมขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ ปีงบประมาณ 2565 โดยได้แบ่งตามภารกิจ ประกอบด้วย การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือกและสมุนไพรร่วมสู้ภัย COVID-19 , นโยบายการจัดการกัญชา กัญชง และกระท่อมทางการแพทย์แผนไทยเพื่อสร้างนวัตกรรมดูแลสุขภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศชาติ และ ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อเตรียมพร้อมฟื้นฟูประเทศหลังสถานการณ์โควิด 19 Post-COVID 19

 

สำหรับตัวชี้วัดระดับกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในส่วนภูมิภาค ปีงบประมาณ 2565 โดยได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ร้อยละของผู้ป่วยนอกทั้งหมดที่ได้รับบริการตรวจวินิจฉัยรักษาโรคและฟื้นฟูสภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เกณฑ์เป้าหมายร้อยละ 20.5 โดยเน้นไปที่แผนงานโครงการระดับจังหวัดขับเคลื่อนการพัฒนางานการแพทย์แผนไทยฯให้สอดคล้องกับสถานการณ์

มีแผนการบริหารจัดการยาสมุนไพรและฟ้าทะลายโจรระดับจังหวัดเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลผลิตยาสมุนไพรในระดับเขตสุขภาพ มีการจัดบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานให้บริการแบบ on site/online/telehealth/telepharmacy/ให้คำแนะนำสุขภาพผ่าน line OA (Fah First Aid)  และ line OA หมอแผนไทยสู้ภัยโควิด ส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน หรือการใช้ยาสมุนไพรเป็นลำดับแรก(First LineDrugs) เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 รายการ

 

ส่งเสริมให้ รพ.ทุกระดับเกิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยและ/หรือการแพทย์แบบบูรณาการ อย่างน้อยร้อยละ 80 มีการจัดบริการการแพทย์แผนไทยฯ ให้บริการแบบon-site/ online/telehealth/telepharmacy /ให้คำแนะนำสุขภาพผ่าน line OA (Fah First Aid) อำเภอละ 1 แห่ง พร้อมให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกแบบผสมผสาน ใน Intermediate care (IMC) จังหวัดละ 1 แห่ง  Palliative care จังหวัดละ 1 แห่ง และ มีการให้บริการผู้ป่วยนอกด้วยการตรวจ วินิจฉัย รักษาโรค และฟื้นฟูสภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร้อยละ 20.5 ส่งเสริมให้มีการสั่งจ่ายยาสมุนไพรเพิ่มขึ้น

 
ในส่วนมูลค่าการใช้ยาสมุนไพรในเมืองสมุนไพรและจังหวัดในเขตสุขภาพเพิ่มขึ้น เกณฑ์เป้าหมายร้อยละ 3 จังหวัดมีรายงานการกำหนดและการใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบันโดย 1 รายการ คือ ฟ้าทะลายโจรในการรักษาโควิด 19 จังหวัดในเขตสุขภาพ 1 รายการ เมืองสมุนไพร 3 รายการ มีข้อมูลเกษตรกรที่ปลูกสมุนไพรเป้าหมาย ที่ได้มาตรฐาน GAP ในจังหวัดเมืองสมุนไพร กำหนดและมีแผนการรับซื้อสมุนไพรเป้าหมายที่จะทำเกษตรพันธสัญญาจากพื้นที่โดยรอบ เพื่อเข้าสู่โรงงาน WHO-GMP ในจังหวัดเมืองสมุนไพร  

 

มีรายงานมูลค่าการใช้ยาสมุนไพรเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปีก่อนหน้า จังหวัดในเขตสุขภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมืองสมุนไพร เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 สุ่มตรวจวัตถุดิบสมุนไพร (COA)เป้าหมายที่จะทำเกษตรพันธสัญญา ในจังหวัดเมืองสมุนไพร และ จังหวัดมีรายงานการใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน

 

โดย 1 รายการคือ ฟ้าทะลายโจร ในการรักษาโควิด 19 จังหวัดในเขตสุขภาพ 1 รายการ เมืองสมุนไพร 3 รายการ มีผลตรวจวัตถุดิบสมุนไพรเป้าหมายที่จะทำเกษตรพันธสัญญาในจังหวัดเมืองสมุนไพร รอบ 12 เดือน มูลค่าการใช้ยาเพิ่มขึ้น จังหวัดในเขตสุขภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมืองสมุนไพร เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 รายงานปริมาณและมูลค่าการซื้อขายวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพ ตามเกษตรพันธสัญญา อย่างน้อย 1 รายการ ในจังหวัดเมืองสมุนไพร เป็นต้น