จากดราม่า "Saveหลวงพ่อ" สู่หลักเกณฑ์ "ปลดเจ้าคณะ" ต้องพิจารณาอะไรบ้าง?
จากกรณี "ปลดเจ้าคณะ" จากสมณศักดิ์โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ชวนรู้หลักเกณฑ์การ "ปลดพระสงฆ์" ออกจากยศตำแหน่งต่างๆ หากยึดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปี 2505 ต้องพิจารณาจากอะไรบ้าง?
ไม่นานมานี้ เกิดเหตุการณ์ “ปลดเจ้าคณะ” พระภิกษุสงฆ์ตำแหน่งสูงจำนวน 3 รูป ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ฉะเชิงเทรา และปทุมธานี โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ทำให้พระสงฆ์บางรูปประท้วงต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ด้วยการลาออกจากตำแหน่ง "พระสังฆาธิการ" จนนำมาสู่กระแส #Saveหลวงพ่อ บนโลกออนไลน์
จากกรณีดังกล่าว หลายคนอาจสงสัยว่าการปลดพระสงฆ์จากสมณศักดิ์ต่างๆ สามารถทำได้หรือไม่? และมีหลักเกณฑ์การพิจารณาอย่างไรบ้าง? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ เช็คข้อมูลจาก "พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปี 2505 ตามกฎมหาเถรสมาคม" ก็พบว่ามีหลักเกณฑ์ระบุเอาไว้ ดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
1. พระภิกษุสงฆ์ล่วงละเมิดธรรมวินัย
ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ มาตรา 26 ชี้แจงว่า หากพระรูปใดละเมิดพระธรรมวินัย และถูกวินิจฉัยถึงขั้นให้มีการลงโทษ “ให้สึก” ต้องทำการสึกภายใน 24 ชั่วโมงหลังทราบคำวินิจฉัยแล้ว
ทั้งนี้เมื่อพระภิกษุละเมิดพระธรรมวินัย จะต้องผ่านกระบวนการ “ลงโทษตามพระธรรมวินัย” ก่อนเพื่อให้เป็นไปตามการลงนิคหกรรม (ตามมาตรา 25) ก่อนจะให้ทำการสึก
โดยการลงนิคหกรรม (ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11 ปี 2521) มีสาระสำคัญดังนี้
เมื่อมีโจทก์ฟ้องว่าพระภิกษุทำผิด โดยการยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อพระผู้พิจารณาฯ เช่น เจ้าอาวาส เจ้าคณะ เจ้าสังกัด หรือเจ้าคณะในเขตความผิด หากคำฟ้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์มหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11 ข้อ 12 จึงจะรับฟ้องได้
เมื่อรับฟ้องแล้ว พระภิกษุจะตกเป็นจำเลย ต้องมาแจ้งคำฟ้องให้จำเลยทราบ ต้องมีการจดคำให้การของจำเลยไว้ แล้วจำเลยต้องลงชื่อในคำให้การด้วย
หากจำเลยรับสารภาพตามคำฟ้อง พระผู้พิจารณาและมีอำนาจต้องลงนิคหกรรมจำเลย (ลงโทษ) แต่หากว่าความผิดนั้นเบากว่าที่ถูกฟ้อง หรือมีการปฏิเสธ ต้องส่งรายงานต่อคณะผู้พิจารณาชั้นต้น เพื่อทำการไต่สวนต่อไป
เมื่อไต่สวนข้อมูลแล้วมีมูล ให้สั่งประทับฟ้องแล้วดำเนินการต่อไป แต่หากไม่มีมูล ให้สั่งยกฟ้อง
นอกจากนี้หากคำฟ้องมีมูล ต้องดำเนินการลงโทษ ซึ่งมีกระบวนการ 3 ชั้น ด้วยกัน ชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ และชั้นฎีกา เหมือนกับการกระบวนการในศาล
2. พระภิกษุสงฆ์ไม่อยู่สังกัดวัดเป็นหลักแหล่งที่ใดที่หนึ่ง
จาก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ มาตรา 27 ข้อ 3 และ 4 ชี้แจงว่า หากพระภิกษุไม่อยู่ภายใต้สังกัดวัดใดวัดหนึ่งเป็นหลักแหล่ง ต้องทำการสึกภายใน 3 วัน นับตั้งแต่ถูกวินิจฉัยให้สละสมณเพศ
อีกทั้งในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 ได้บอกไว้ว่า พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ในเขตที่พบพระภิกษุรูปนั้น สามารถวินิจฉัยให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศได้ และหากคำวินิจฉัยถึงที่สุด พระภิกษุรูปนั้นจะไม่สามารถโต้แย้งได้ และพระภิกษุผู้ปกครองคณะสงฆ์ต้องแจ้งคำวินิจฉัยให้พระรูปนั้นทราบ
3. พระภิกษุสงฆ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย
ตามที่ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 28 กล่าวว่า พระภิกษุรูปใดมีคำสั่งพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องทำการสึกภายใน 3 วัน นับตั้งแต่มีคำสั่งถึงที่สุด
โดยไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษาจากศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์ จะไม่สามารถฎีกาได้ เพราะศาลไม่อนุญาต ตามมาตรา 247 ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพราะไม่เข้าเงื่อนไข ตามมาตรา 249 เพราะเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
4. พระภิกษุสงฆ์มีความผิดอาญา
จากมาตรา 29 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ชี้แจงว่า หากพระภิกษุถูกจับเพราะทำผิดตามคดีอาญา หากพนักงานสอบสวน-อัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยตัว เจ้าอาวาสสังกัดของพระภิกษุรูปนั้นไม่รับมอบตัว หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปคุม พนักงานสอบสวนจะสามารถดำเนินการให้ พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศได้
แต่หากคดีความยังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน ไม่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล แต่พนักงานสอบสวนไม่เห็นควรให้ปล่อยตัวชั่วคราว พนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการให้พระภิกษุสละสมณเพศได้เช่นกัน
5. พระภิกษุสงฆ์มีโทษจำคุกหรือต้องขัง โดยศาลหรือคำพิพากษา
นอกจากนี้ ในมาตรา 30 ยังกำหนดว่า เมื่อพระภิกษุสงฆ์มีโทษต้องจำคุก กักขัง ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการดำเนินการตามคำสั่งของศาล ทำการถอดสมณเพศของพระภิกษุได้ และต้องรายงานให้ศาลทราบด้วย
เกร็ดความรู้: หากพระภิกษุที่กระทำผิด 'ไม่ยอมสึก' มีโทษจำคุก 1 ปี?
จาก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ได้กำหนดบทลงโทษตามมาตรา 43 ว่า หากพระภิกษุไม่ดำเนินตามกฎมหาเถรสมาคม และไม่สึกภายใน 3 วัน หรือล่วงพระธรรมวินัยจากคำวินิจฉัยนิคหกรรมให้สึก แล้วไม่ทำการสึกใน 24 ชั่วโมง จะต้องระวางโทษจำคุกเป็นเวลาไม่เกิน 1 ปี
-----------------------------------
อ้างอิง: iLaw, คู่มือพระสังฆาธิการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ