เมื่อ "โลกร้อน" ขึ้น 1.2 องศาฯ มนุษย์จะเจอ "ภัยพิบัติ" อะไรบ้าง?
ปัจจุบัน "โลกร้อน" ขึ้นแล้ว 1.1-1.2 องศาฯ และคาดว่าเร็วๆ นี้ อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นแตะ 1.5 องศาฯ ส่งผลต่อสภาพอากาศทั่วโลกจะแปรปรวนอยากหนัก ปัญหานี้ทุกประเทศต้องร่วมมือกันแก้ไข โดยจะมีการประชุม "COP26" ในวันที่ 31 ต.ค.ที่จะถึงนี้
ปัญหา "โลกร้อน" ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันหลายปีแล้ว นานาประเทศและ UN ต่างก็เร่งกำหนดนโยบายร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะในปีนี้ กำลังจะมีการประชุมระดับโลกครั้งใหญ่เพื่อหาแนวทางลดปัญหาโลกร้อน นั่นคือ เวทีประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ "COP26"
ผู้นำจากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก จะมารวมตัวกันเพื่อหารือประเด็นนี้ ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ในวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ที่จะถึงนี้
ปัญหานี้หนักหนาแค่ไหน? ในปัจจุบันและอนาคตภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบกับชาวโลกอย่างไรบ้าง? มีคำตอบจาก ดร.ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่ได้สรุปรายงานเกี่ยวกับ "ภาวะโลกร้อน" ของ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ในปี 2564 ผ่านเพจ "Thon Thamrongnawasawat" มาให้ทราบกัน ดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- เวที COP26 กับจุดยืนของไทยเพื่อก้าวต่อไป สู่เป้า Net Zero
- รู้ก่อนประชุม COP26 กับ‘ทูตสหราชอาณาจักร’
- ไทยเร่งเป้า 'ซีโร่คาร์บอน' 'สุพัฒนพงษ์' หวังต่างชาติเพิ่มลงทุนไทย
1. IPCC คืออะไร? มีบทบาทในภาวะ "โลกร้อน" แค่ไหน?
IPCC ก่อตั้งขึ้นในปี 1988 มีการออกรายงานเกี่ยวกับ "โลกร้อน" ฉบับแรกในปี 1992 (ไม่ได้ออกรายงานทุกปี เพราะต้องสรุปให้ชัดเจนก่อนถึงจะออกมาได้) โดยฉบับล่าสุด เป็นฉบับที่ 6 (AR6) ออกมาหลังจาก AR5 ถึง 8 ปี (2013) ซึ่งเป็นรายงานที่ได้รับการรับรองจากตัวแทนรัฐบาล 195 ชาติ
ข้อความในรายงานนี้ จะถูกใช้เป็นพื้นฐานในการประชุมและการออกมาตรการของ UN และรัฐบาลต่างๆ ในการประชุมครั้งสำคัญของโลกต่อจากนี้ เริ่มต้นตั้งแต่ การประชุมครั้งใหญ่ "COP26" ในวันที่ 31 ตุลาคม 2564
ไปจนถึงการประชุมเกี่ยวกับประเด็นโลกร้อน/สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) ในครั้งต่อๆ ไปด้วย ซึ่งมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับทุกองค์กร ทั้งด้านกลยุทธ์ การลงทุน การเงิน การบริหารความเสี่ยง ฯลฯ
2. สถานการณ์ "โลกร้อน" ปัจจุบัน จากรายงาน IPCC
IPCC รายงานว่า สถานการณ์ปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกร้อนขึ้น ประมาณ 1.1 - 1.2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับปีฐานข้อมูลในปี 1850-1900 โดยอุณหภูมิแผ่นดินร้อนขึ้นเฉลี่ย 1.59 องศาฯ ส่วนอุณหภูมิน้ำทะเลที่ร้อนขึ้น 0.88 องศาฯ
ความร้อนที่มากขึ้นและอุณหภูมิที่แตกต่างกันระหว่างแผ่นดินกับทะเล เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความแปรปรวนทางสภาพอากาศหลายอย่าง โดยประเมินว่าการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศทุกๆ 1,000 ล้านกิกะตัน จะทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 0.45 องศา (best estimate) อีกทั้ง มีการคาดการณ์อุณหภูมิ "โลกร้อน" แบ่งเป็น 3 ช่วงเวลาด้วยกัน คือ
- ระยะแรกในอนาคตอันใกล้ คาดว่าโลกจะร้อนขึ้นอีก 1.5 องศาฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
- ระยะสอง คาดการณ์ว่าโลกจะร้อนขึ้น +3 องศาฯ ในช่วงปี 2041-2060
- ระยะสาม คาดการณ์ว่าโลกจะร้อนขึ้น + 5.7 องศาฯ ในช่วงปี 2081-2100
3. โลกร้อนขึ้น ส่งผลกับสภาพอากาศพื้นผิวโลกยังไง?
เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น สิ่งที่จะตามมาแน่นอนก็คือสภาพอากาศที่แปรปรวน ยิ่งโลกร้อนขึ้นเท่าไหร่ ความแปรปรวนก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นบนพื้นผิวโลก ได้แก่
- ธารน้ำแข็งจะหดตัวอย่างรวดเร็ว เกิดเส้นทางพายุในเขตอบอุ่น การละลายของน้ำแข็งในขั้วโลกเหนือที่เร็วขึ้น ฯลฯ
- เกิดการถดถอยของธารน้ำแข็งมากสุดในรอบ 2 พันปี
- แผ่นน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือหดเล็กลงมากที่สุดในรอบ 1 พันปี
- การเพิ่มขึ้นของน้ำทะเล เร็วกว่าช่วงไหนๆ ในรอบ 3 พันปี
- Heat Extremes เกิดพายุฝน/พายุหิมะที่รุนแรง หนักขึ้นและถี่ขึ้น
- เกิด Heatwaves อากาศร้อนฉับพลันในเมืองหนาว ในปีนี้พบว่ามีผู้คนเสียชีวิตจากภาวะดังกล่าว (แคนาดา/สหรัฐฯ)
- เกิดภัยแล้งหนัก ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรมและระบบนิเวศ
4. โลกร้อนขึ้น ส่งผลกับมหาสมุทร/ทะเล ยังไง?
ไม่เฉพาะบนพื้นผิวโลกเท่านั้น แต่โลกร้อนยังส่งผลกระทบกับทะเลและมหาสมุทรด้วย มีข้อมูลบ่งชี้ว่า อุณหภูมิน้ำทะเลในชั้นบน (0-700 เมตร) ร้อนขึ้นอย่างเห็นชัด และเกิดน้ำทะเลเป็นกรดบริเวณผิวหน้าน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์ อีกทั้งเกิดผลกระทบอื่นๆ อีก ได้แก่
- ระดับน้ำทะเลในโลกสูงขึ้นแบบทวีคูณ ตั้งแต่ 1.3 มม./ปี (1901-70) กลายเป็น 3.7 มม./ปี (2006-2018) และจะเพิ่มสูงขึ้นต่อไปเรื่อยๆ
- ชั้นน้ำทะเลด้านบน อุณหภูมิที่สูงขึ้น
- ชั้นน้ำทะเลด้านล่าง เกิดภาวะทะเลกรด ภาวะขาดออกซิเจนในน้ำ
- Marine Heatwaves รุนแรงขึ้นและถี่ขึ้นเป็น 2 เท่านับจากปี 1980
- เกิดปะการังฟอกขาว ระบบนิเวศเสียหาย ปลา/สัตว์ทะเลตายจากไป
- อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นเร็วกว่าช่วงไหนๆ ในรอบ 11,000 ปี
5. การประชุม COP26 และแนวทางของประเทศไทย
การประชุม COP 26 มีจุดประสงค์หลักคือ การให้แต่ละประเทศเสนอเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการบรรลุ Net Zero ทั่วโลกภายในปี ค.ศ. 2050
โดยเป้าหมาย Net Zero ดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
สำหรับประเทศไทย (ร่าง) ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย ระบุไว้ว่า หากประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายตามที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้กำหนดไว้ คือ รักษาอุณหภูมิให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
ประเทศไทยจะต้องบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี ค.ศ. 2050 และหากจะรักษาอุณหภูมิให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ประเทศไทยจะต้องบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี ค.ศ. 2090
ล่าสุด.. กรอบแผนพลังงานชาติได้รับความเห็นชอบจาก ครม. เมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา โดยแผนพลังงานชาติมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2065-2070 โดยเน้นภาคการไฟฟ้าและขนส่งเป็นหลัก เนื่องจากเป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด
---------------------------------
อ้างอิง :
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)