สธ. กระตุ้นเข็ม 3 คนฉีด “ซิโนฟาร์ม” ปลาย พ.ย. เป็นต้นไป
สธ. ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือ เข็ม 3 ให้คนฉีด "ซิโนฟาร์ม" 2 เข็ม โดยใช้วัคซีนต่างชนิด เหมือนคนฉีด ซิโนแวค ตามคำแนะนำของ WHO จะกำหนดฉีดเข็มกระตุ้นประมาณปลาย พ.ย.ถึงต้น ธ.ค.เป็นต้นไป
คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน เห็นชอบหลักการพิจารณาคนฉีดซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นเชื้อตายแบบเดียวกับ ซิโนแวค ที่ องค์การอนามัยโลก ( WHO ) แนะนำให้ฉีดวัคซีนต่างชนิดด้วย แอสตร้าเซนเนก้า ที่เป็นไวรัลเวคเตอร์ เหมือนกับคนฉีดซิโนแวค 2 เข็มเกิน 3-4 เดือนขึ้นไปโดยคาดว่าจะเป็นช่วงปลายพฤศจิกายนและต้นเดือนธันวาคม โดยขอให้ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ส่งเอกสารหลักฐานที่มีการศึกษาพบว่าจำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้นเนื่องจากภูมิคุ้มกันลดลง เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบก่อนจะพิจารณาและประกาศฉีดวัคซีนต่อไป
โดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน พิจารณาจากการที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำการฉีด วัคซีนเข็มกระตุ้น หรือ เข็ม 3 ซึ่งประเทศไทยส่วนใหญ่ฉีดเชื้อตาย คือ ซิโนแวค 2 เข็ม พบว่าฉีดระยะหนึ่งภูมิลดลงการฉีดเข็มกระตุ้นจึงเกิดประโยชน์ โดยฉีดต่างชนิดด้วยแอสตร้าเซนเนก้าที่เป็นไวรัลเวคเตอร์
สำหรับการฉีดปูพื้นหรือ Prime ด้วยเชื้อตาย และฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนอีกชนิดช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงมาก โดยประเทศไทยจะฉีดเข็มกระตุ้นชนิดต่างกันจากปูพื้นตอนต้น เช่น ฉีดเชื้อตายก่อน จากนั้นตามด้วยไวรัลเวคเตอร์ และ mRNA ไล่เรียงกันไปปรับให้เข้ากับสถานการณ์ตามวัคซีนที่มี สอดคล้องกับคำแนะนำองค์การอนามัยโลกซึ่งประเทศไทยทำล่วงหน้าไปแล้ว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ว่าคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้คำแนะนำข้อมูลตามที่รอง ผอ.รพ.จุฬาภรณ์ ให้มาว่าขณะนี้มีคนฉีดซิโนฟาร์ม 2 เข็มไประยะหนึ่งพอสมควร และแนวโน้มการฉีดกระตุ้นจะเป็นอย่างไรโดยคณะอนุฯ มีความเห็นว่าหลักการพิจารณาคนฉีดซิโนฟาร์มซึ่งเป็นเชื้อตายแบบเดียวกับซิโนแวค หลักคิดให้ใช้หลักการเดียวกันคือ ซิโนแวค ฉีดเข็ม 3 ให้คนฉีด 2 เข็มเกิน 3-4 เดือนขึ้นไป เช่น มี.ค.ฉีดครบ 2 เข็มก็ฉีดกระตุ้นตอน ก.ย. - ต.ค.
ดังนั้น ซิโนฟาร์ม ฉีดครบ 2 เข็มช่วงเดือน ก.ค.เป็นต้นไป จะกำหนดฉีดเข็มกระตุ้นประมาณปลาย พ.ย.ถึงต้น ธ.ค.เป็นต้นไป โดยคณะอนุฯ ขอให้ รพ.จุฬาภรณ์ ส่งข้อมูลเอกสารหลักฐานที่มีการศึกษาพบว่า จำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้นเนื่องจากภูมิคุ้มกันลดลงให้คณะอนุฯ ใช้เป็นข้อมูลประกอบก่อนที่จะมีการประกาศให้ประชาชนได้ฉีดต่อไปในวงกว้าง และทางรพ.จุฬาภรณ์ส่งข้อมูลครบถ้วนเมื่อไร คณะอนุฯจะรีบพิจารณาและประกาศฉีดวัคซีนต่อไป
- ไฟเซอร์ 2 เข็ม นร.ชาย สู้เดลตาได้
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า การฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียนได้ดำเนินการไปตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม ขณะนี้ฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนแล้ว 2,000,000 โดส สำหรับความกังวลในเรื่องของความปลอดภัยและประสิทธิภาพนั้นในการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคพิจารณาแล้วว่า วัคซีนไฟเซอร์ที่นำมาฉีดให้เด็กนักเรียนอายุ 12-18 ปี ต้องฉีด 2 เข็มจึงจะมีระบบภูมิคุ้มกันที่เพียงพอต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา
- ผลข้างเคียง ค่อนข้างน้อย
ส่วนความกังวลเรื่องการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ผู้เชี่ยวชาญได้ประชุมหารือกันพบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลข้างเคียง แต่อาการที่เกิดขึ้นนั้นค่อนข้างน้อย หากเทียบกับเด็กที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาแล้วเกิดการอักเสบทั่วร่างกาย (MIS-C) รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาการจากโรคจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่าการฉีดวัคซีน
อีกทั้งผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนมักจะหายเองได้ จึงได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 2 เด็กผู้ชายต่อไป ให้เป็นไปตามความสมัครใจ ขึ้นกับความประสงค์ของผู้ปกครองและนักเรียน รวมทั้งแนะนำให้งดออกกำลังกายหนักภายหลังได้รับวัคซีนเป็นเวลา 7 วัน หากมีภาวะใจสั่น หายใจไม่อิ่ม หอบเหนื่อย ให้รีบพบแพทย์ กุมารแพทย์โรคหัวใจในเด็กได้สรุปเรื่องการฉีดวัคซีน ไฟเซอร์ ในเด็ก ใช้คำจำง่ายว่า 3 R ประกอบด้วย
1.Real การเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังการฉีดวัคซีน mRNA โดยเฉพาะเข็ม 2 มีโอกาสเกิดมากขึ้นในเด็กผู้ชายอายุ12-16 ปี
2.Rare ถึงแม้ว่าจะเกิดแต่โอกาสเกิดมี 6 ต่อ 100,000 คน ถ้าเปรียบเทียบกับเด็กที่ติดเชื้อโควิดแล้วเกิดการอักเสบทั่วร่างกาย รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
"และ 3.Recovery เด็กที่เกิดผลข้างเคียงอาการจะไม่มาก เจ็บหน้าอก เหนื่อยบ้างไม่รุนแรง ที่ผ่านมาเจอ 3-4 ราย จะหายได้เอง บางรายรักษาโดยการกินยาแก้อักเสบก็หายได้ โอกาสหายเองมีมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเทียบกับการอักเสบของการติดเชื้อโควิด 19 โอกาสหายมีแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ คณะผู้เชี่ยวชาญจึงเห็นพ้องต้องกันว่า ให้ฉีด 2 เข็ม แต่ต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ปกครอง” นายแพทย์โอภาส กล่าว