แนะประชาชนพื้นที่น้ำท่วม หลีกเลี่ยงกิจกรรมทางน้ำ ย้ำห้ามเด็กเล่นน้ำ

แนะประชาชนพื้นที่น้ำท่วม หลีกเลี่ยงกิจกรรมทางน้ำ ย้ำห้ามเด็กเล่นน้ำ

กรมควบคุมโรค ห่วงประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง และหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมทางน้ำ ย้ำห้ามปล่อยเด็กเล่นน้ำ เสี่ยงต่อการถูกกระแสน้ำพัดพาหรืออาจจมน้ำเสียชีวิตได้

วันนี้ (22 ตุลาคม 2564) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกฟ้าคะนอง และฝนตกหนักบางแห่ง รวมถึงฝนที่ตกสะสม ส่งผลให้พื้นที่เสี่ยงภัยเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ที่น่าห่วงคือการจมน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบมากที่สุดเมื่อเกิดน้ำท่วม 

จากการเฝ้าระวังการจมน้ำในช่วงน้ำท่วมของกรมควบคุมโรค ระหว่างวันที่ 23 กันยายน - 19 ตุลาคม 2564 พบผู้เสียชีวิตสะสมรวม 67 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไป เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 4 เท่า สาเหตุหลักคือ พลัดตกน้ำ ออกหาปลาขณะน้ำไหลเชี่ยว  ส่วนในกลุ่มเด็ก คือ การเล่นน้ำในพื้นที่น้ำท่วม เดินลุยน้ำและถูกน้ำพัด เป็นต้น

อ่านข่าว : คันดินคลอง 4 ซ้ายชัยนาท ป่าสัก 2 น้ำ แตก หวั่นซ้ำรอย ปี 54 เขื่อนบางโฉมศรี

 

  • ข้อแนะนำประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม

โดยในทุกกลุ่มอายุพบว่ามีประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเกิดเหตุการณ์ถึงร้อยละ 14 และจุดเกิดเหตุเป็นบริเวณทุ่งนามากที่สุด รองลงมาเป็นบริเวณรอบบ้าน ส่วนจังหวัดที่มีพบการจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด คือ ลพบุรี และนครราชสีมา (จังหวัดละ 10 ราย) 

กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมฉับพลัน ขอให้ระมัดระวังและเพิ่มความปลอดภัยจากการจมน้ำ ดังนี้

1.อพยพไปยังพื้นที่สูง รีบออกจากพื้นที่ในกรณีเกิดน้ำท่วมฉับพลัน  

2.เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง ไม่ควรขับรถผ่านถนนที่มีน้ำท่วม โดยเฉพาะรถจักรยายนต์ เพราะความสูงของน้ำเพียง 6 นิ้ว สามารถทำให้เสียหลักล้มได้ และให้สวมเสื้อชูชีพ หรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ ติดตัวไปด้วยเสมอ เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝา เพื่อใช้สำหรับยึดเกาะพยุงตัว  

 

 

  • ห้ามเด็กลงเล่นน้ำ ระวังจมน้ำ

3.หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมทางน้ำ เช่น หาปลา เก็บผัก ระหว่างที่มีน้ำเชี่ยว เพราะอาจเสี่ยงต่อการถูกกระแสน้ำพัดพา หรือตกลงไปในบ่อน้ำลึกได้

4.ไม่ควรให้เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือผู้มีโรคประจำตัว อยู่ตามลำพัง

5.งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด 

6.ให้ติดตามข้อมูลข่าวสาร สภาพอากาศตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422