เช็ค มาตรการ "พื้นที่นำร่อง" ท่องเที่ยว 17 จังหวัด เตรียมเปิด 1 พ.ย.นี้
ศบค. สรุป "ปรับมาตรการ" วางแผนเปิดประเทศ เตรียม "พื้นที่นำร่อง" ท่องเที่ยวระยะ 1 ยกเลิก "เคอร์ฟิว" จัดกิจกรรมได้ไม่เกิน 500 คน ย้ำเข้มมาตรการส่วนบุคคล มาตรการกิจการ กิจกรรม เริ่ม 1 พ.ย. นี้
วันนี้ (22 ต.ค. 64) ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กล่าวถึงประเด็น สืบเนื่องจากการประชุมวางแผนเปิดประเทศ ซึ่งมีการหารืออีกหลายครั้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีข้อสรุป และ นายกรัฐมนตรีลงนามเมื่อ 21 ต.ค. 64
โดยรายละเอียดตาม ข้อกำหนด อกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำนหดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 36) ความว่า การระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโนรา 2019 ในประเทศไทย มีแนวโน้มของสถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น รัฐบาลจึงเห็นว่ามีความจเป็นที่จำต้องมีการฟื้นฟูประเทศเพื่อประโยชน์ด้านการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ และด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชน
ในเบื้องต้นจึงเห็นความให้มีการเปิดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว เพื่อเป็นปัจจัยเอื้อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศได้มากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาพรวมประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจท่องเที่ยวและภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง
ในการนี้ รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมโดยประสานความร่วมมือกับประเทศต้นทางและบูรณาการทำงานของทุกภาคส่วน นการกำหนดมาตรการรองรับเพื่อให้การปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเป็นระบบควบคู่กับการกำหนดมาตรการทางด้านสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
ให้ประชาชนมีความปลอดภัย รวมทั้งสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติและประชาชน อันจะส่งผลให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และสังคม สามารถดำเนินการควบคู่กับมาตรการด้านสาธารสุข ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังที่เริ่มปฏิบัติกันในประเทศต่างๆ ที่มีสถานการณ์คล้ายคลึงกัน
- พื้นที่นำร่องท่องเที่ยวเคลื่อนเศรษฐกิจ
สำหรับการกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ให้มีการกำหนดเขตพื้นที่นำร่อง (Sand box) ด้านการท่องเที่ยวขึ้น เพื่อการดำเนินการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่กับการกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันโรคในพื้นที่แบบบูรณาการ โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมความพร้อม และบริบทของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อการบังคับใช้ให้เหมาะสมและเป็นการเฉพาะจากเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์
การกำหนดเขตพื้นที่ใดให้เป็นเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ให้เป็นไปตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์
- เข้มมาตรการ ป้องกัน โควิด-19
ทั้งนี้ การกำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวในสถานที่ กิจการ หรือการดำเนินกิจกรรมในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว สามารถเปิดดำเนินการได้ ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด เช่น มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) มาตรการปลอดภัย สำหรับองค์กร (Covid Free Setting) รวมทั้งมาตรการตามกฎหมายว่าด้านโรคติดต่อที่ผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ
- "ยกเลิกเคอร์ฟิว"
การยกเลือกการห้ามออกนอกเคหสถาน ให้ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเดิมให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของวันที่ 31 ต.ค. 64
- ห้ามจัดกิจกรรมเกิน 500 คน
การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 500 คน ในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว
ให้นำวิธีปฏิบัติในส่วนของข้อห้ามการจัดกิจจกรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ขั้นตอนการขออนุญาติจัดกิจกรรม การพิจารณาอนุญาต รวมทั้งกิจกรรมหรือการรวมกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นให้สามารถจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาตตามข้อ 4 และข้อ 5 แห่งข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์จุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2564 มาใช้บังคับด้วย
- ผับ บาร์ สถานบันเทิง ปิดดำเนินการ
การเตรียมความพร้อมของสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ในระยะเริ่มแรกของการดำเนินการเปิดเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวให้สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวยังคงปิดดำเนินการไว้ก่อนในช่วงเวลานี้ โดยให้หน่วยงานและผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมเพื่อการผ่อนคลายมาตรการตามที่ได้ประกาศไว้แล้วในข้อกำหนดออกตามความใน มาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 35)
- มาตรการเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับพื้นที่พิจารณา
การปรับระดับพื้นที่สถานการณ์อยู่ภายในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวและการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมของแต่ละจังหวัดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยสั่งปิด จำกัด หรือห้ามการดำเนินของสถานที่ หรือสั่งให้งดการทำกิจกรรมอื่นในเขตพื้นที่รับผิดชอบซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มเติมจากมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อ โควิด-19