กรมอนามัยเตือนอย่าใช้นมเปรี้ยวเลี้ยงทารกแทนนมแม่

กรมอนามัยเตือนอย่าใช้นมเปรี้ยวเลี้ยงทารกแทนนมแม่

กรมอนามัย ย้ำ นมเปรี้ยวไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เลี้ยงทารก เนื่องจากมีสารอาหาร ที่ไม่เหมาะสมกับทารก ย้ำ สิ่งที่เด็กทารกวัย 0 - 6 เดือน ควรได้รับและดีที่สุดคือนมแม่ และควรได้รับเพียงอย่างเดียว ติดต่อกัน 6 เดือน

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีที่เพจหมอแล็บแพนด้า ได้แชร์ข้อมูลว่า ขณะนี้ในกลุ่มเลี้ยงลูกมีคนเลี้ยงลูกด้วยนมเปรี้ยว โดยให้กินตั้งแต่เกิดจนตอนนี้อายุ 4 เดือนแล้ว ทำให้มีคนสงสัย สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมเปรี้ยวได้หรือไม่ ซึ่งความจริงแล้วนมเปรี้ยวใช้เป็นอาหารเสริมสำหรับเด็กโตได้ แต่ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เลี้ยงทารก เนื่องจากมีสารอาหารหรือแร่ธาตุบางอย่างไม่เหมาะสมกับทารก ดังนั้น สิ่งที่เด็กทารก วัย 0 - 6 เดือน ควรได้รับและดีที่สุดคือนมแม่ และควรกินนมแม่อย่างเดียวติดต่อกัน 6 เดือน โดยไม่ต้องให้น้ำหรืออาหารอื่น หลังจากนั้นกินนมแม่ควบคู่กับการเริ่มอาหารตามวัย เนื่องจากนมแม่เป็นอาหารที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับทารก มีสารอาหาร กว่า 200 ชนิด ที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตทางกาย พัฒนาสมอง จอประสาทตา และระบบภูมิคุ้มกันแบบที่นมผง หรือนมเปรี้ยวไม่สามารถให้ได้ รวมทั้งเป็นอาหารที่ย่อยง่าย และถูกสร้างมาให้เหมาะสมที่สุดกับสภาพร่างกายของทารก ในแต่ละช่วงอายุ ช่วยให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง ส่งเสริมเรื่องสติปัญญาและอารมณ์ และยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย

นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้การเลี้ยงลูก ด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน เป็นเรื่องจำเป็นยิ่งขึ้นจากสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่ช่วยในการเจริญเติบโตของเด็ก และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค โดยแม่ต้องได้รับสารอาหารที่ดีและเพียงพอด้วย เพื่อให้ลูกได้สารอาหารที่ดีและครบถ้วน ซึ่งแม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ในทุกสถานการณ์ โดยก่อนการให้นมลูกทุกครั้ง ควรเช็ดทำความสะอาดบริเวณเต้านมและหัวนม และล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที ก่อนให้นม รวมทั้งสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่ให้นมบุตร

แม้แต่ในกรณีที่แม่เป็นผู้เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อหรือได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 นั้น ก็ยังสามารถให้นมลูกได้ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ว่า หากแม่ที่ติดเชื้อ มีอาการไม่มาก สามารถให้นมจากเต้าได้ แต่ต้องมีการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้ออย่างเคร่งครัด โดยสวม หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมืออย่างถูกวิธี และห้ามใช้มือสัมผัสบริเวณใบหน้า จมูก หรือปาก รวมถึงการหอมแก้มลูก
“ในกรณีที่แม่ติดเชื้อมีอาการรุนแรง แนะนำงดให้นมบุตร อาจบีบน้ำนมทิ้งไปก่อนเพื่อให้แม่ คงสภาพการผลิตน้ำนม และสามารถกลับมาให้นมลูกได้เมื่ออาการดีขึ้น นอกจากนี้ แม่หลังคลอดให้นมลูกควรไปฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ลดการเจ็บป่วยรุนแรง ซึ่งภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในแม่จะสามารถส่งผ่านน้ำนมไปยังลูกได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว