ศบค. ย้ำ “เปิดประเทศ” ปลอดภัย ติดตามสถานการณ์ เข้มมาตรการ
ศบค. ย้ำ “เปิดประเทศ” ปลอดภัย เผยเกณฑ์เปิดพื้นที่สีฟ้า 17 จังหวัด ไม่ได้ดูแค่จำนวนผู้ติดเชื้อ แต่ครอบคลุมถึงวัคซีน ระบบสาธารณสุข จังหวัดเตรียมแผนเผชิญเหตุรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ขอความร่วมมือเน้น COVID Free setting กิจการกิจกรรมที่เปิด
วันนี้ (25 ต.ค. 64) ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวถึง จากกรณีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีการนำเสนอเกณฑ์การเปิดประเทศของ ศบค. ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามเรียบร้อย มีข้อคำถาม หลายด้านด้วยกัน ซึ่งสิ่งที่พี่น้องประชาชนไม่มั่นใจ กลัวว่าเมื่อประเทศยังมีรายงานผู้ติดเชื้ออยู่ สถานการณ์ยังลดลงไม่มากเท่าที่ควร จะสามารถเปิดประเทศได้หรือไม่
"ต้องเน้นย้ำว่าการ "เปิดประเทศ" เรามีลิสต์ของประเทศที่อนุญาตให้เดินทางเข้ามาโดยไม่ต้องกักตัว 45 ประเทศ และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ขึ้นอยู่กับที่ประเทศต้นทางด้วย เราอนุญาตให้เข้าไทยได้ แต่บางประเทศก็ยังไม่อนุญาตให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศได้ และที่สำคัญ การบินพลเรือนแห่งประเทศไทย จะต้องจำกัดเที่ยวบินการเดินทาง ไม่ได้สามารถเปิดโดยเสรี เหมือนก่อนการแพร่ระบาด"
“อย่างที่เน้นย้ำเสมอว่า ให้ประชาชนมั่นใจว่า ต้องอยู่ภายใต้ความปลอดภัยและระบบสาธารณสุขต้องรองรับได้ การเปิดจะค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวกัน อันนี้เป็น การเปิดประเทศที่ประชาชน หรือนักท่องเที่ยวเดินทางมาทางอากาศ การบินพลเรือนก็จะมีการเปิดเที่ยวบินแบบค่อยเป็นค่อยไปเช่นกัน สิ่งสำคัญ ที่เพิ่มประเทศให้เป็น 45 ประเทศ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ส่วนหนึ่งคำนึงถึงคนไทยจะกลับบ้าน เพื่อให้คนไทยที่ต้องการกลับบ้านเดินทางเข้าประเทศไทยโดยยกเว้นการกักตัว
"และที่สำคัญ เน้นย้ำเสมอว่าก่อนจะกลับต้องฉีดวัคซีนเกิน 2 เข็ม ก่อนเดินทางเกิน 14 วัน มีผลตรวจ PCR ยืนยันไม่มีเชื้อโควิดภายใน 72 ชั่วโมง ก่อนบิน และมีประกันสุขภาพ แต่สำหรับคนไทยที่มีหลักประกันสุขภาพอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องมีประกัน 50,000 USD”
- ติดตามสถานการณ์ พื้นที่สีฟ้า
จากข้อคำถามที่ว่า จังหวัดพื้นที่สีฟ้า นำร่องท่องเที่ยว 15 จังหวัด + 2 รวม เป็น 17 จังหวัด หากการติดเชื้อยังสูงอยู่จะเปิดได้หรือไม่ ชะลอไปหรือไม่ ผู้ช่วย โฆษก ศบค. กล่าวว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขมีการ ประเมินด้วยเกณฑ์หลายด้านด้วยกัน ส่วนหนึ่งคงไม่พิจารณาเฉพาะตัวเลขการติดเชื้อ สิ่งสำคัญ คือ การครอบคลุมการฉีดวัคซีนของประชากรในพื้นที่นั้นๆ และต้องดูอัตราตาย อัตราป่วยหนัก เพื่อประเมินระบบสาธารณสุขของพื้นที่นั้นๆ รองรับได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
สิ่งสำคัญ หากมีการติดเชื้อการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน กระทรวงสาธารณสุขจะมีเกณฑ์ประเมินมาตรการรองรับ ที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่ เช่น เพชรบูรณ์ เป็นจังหวัดที่ถูกปรับระดับสีเป็นสีแดง ซึ่งก่อนหน้านี้อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้มควบคุมสูงสุดและเข้มงวด แต่เมื่อเกิดกรณีระบาดขึ้น หรือ กรณีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ประกาศปิด ภูทับเบิก ใน 2 อำเภอ ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพ และทำให้เพชรบูรณ์สามารถจำกัดคนติดเชื้อไม่ให้แพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่น เป็นไปตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 24 ข้อ 5 ระบุว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร คณะกรรมการโรคติดต่อ สามารถพิจารณาปรับพื้นที่ย่อย ให้มีมาตรการเข้มกว่าพื้นที่โดยรวมของจังหวัดได้
อย่างไรก็ตาม ในจังหวัดพื้นทำร่องท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) หากดูในรายละเอียด หากมีแนวโน้มการแพร่ระบาดเพิ่ม ย้ำว่าจังหวัดมีแผนเผชิญเหตุรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง หมายความว่า หากมีความจำเป็นต้องมีการชะลอเปิดเมือง จนถึงหยุดดำเนินการจนกว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ตรงนี้จังหวัด 17 จังหวัดในพื้นที่สีฟ้า ต้องมีการเสนอแผนเผชิญเหตุดังกล่าว
- เปิดบางพื้นที่
แผนในการเปิดแต่ละจังหวัดที่เสนอ ศบค. มาถือว่าสมเหตุสมผล เพราะการเปิด เปิดเป็นบางพื้นที่ ค่อยเป็นค่อยไป ทยอยเปิด เช่น ภูเก็ต เปิดแซนด์บ็อกซ์นำร่อง เปิดทั้งจังหวัดเพราะภูมิศาสตร์เป็นเกาะ แต่ในส่วนของ พื้นที่จังหวัด เช่น สุราษฎร์ธานี เลือกที่จะเปิดเฉพาะสมุย พะงัน เกาะเต่า ส่วนพังงาก็เช่นกัน เปิดเฉพาะเขาหลัก และเกาะยาว
ดังนั้น ระยะที่ 1 วันที่ 1 พ.ย. 64 เป็นการเปิดเฉพาะพื้นที่ ถือว่าน่าจะเป็นไปได้ , เพชรบุรี จะเป็น ชะอำ , ชลบุรี อ.บางละมุง พัทยา , ส่วนประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะหัวหิน , เชียงใหม่ อ.เมือง อ.แม่ริม อ.แม่แตง และดอยเต่า
“การเลือกพื้นนำร่องจากพื้นที่สีฟ้า ไม่ได้เป็นจากกระทรวงสาธารณสุขเลือก แต่เป็นการหารือร่วมกัน ระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่ ไม่ว่าจะภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ สมาคมต่างๆ หอการค้า มีการประเมินตนเองมาก่อนหน้านี้ ประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่เข้าใจหลักการ และสามารถเริ่มต้นร่วมมือกับมาตรการ COVID Free setting คือเปิดสถานบริการ ให้บริการ กิจการ กิจกรรม ปลอดโควิด ต้องพร้อม” พญ.อภิสมัย กล่าว
- เร่งฉีดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว
สำหรับ ประชาชนในพื้นที่นำร่อง 17 จังหวัด จังหวัดที่อัตราการฉีดวัคซีนยังไม่ค่อยขยับตอนนี้ต้องเร่งระดมรับวัคซีน โดยเฉพาะอำเภอที่เปิดนำร่องท่องเที่ยว ต้องครอบคลุมวัคซีน 80% ของประชากร ขณะที่ทั้งจังหวัด คิดอัตราครอบคลุม 50% ส่วนในพื้นที่ที่เกิน 50% ไปแล้ว เช่น กทม. ขอให้ขยับเป้าหมายขึ้นได้อีก
ตอนนี้วัคซีนมีเพียงพอ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะเร่งส่งวัคซีนให้เพียงพอ และทันกับพื้นที่สีฟ้า 17 จังหวัด จะเริ่มเปิดบ้านเปิดเมือง และในสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งไปแล้ว 7 แสนโดส ขอให้พื้นที่เร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชน และลงข้อมูลใน MOHP IC ด้วย เพื่อเป็นหลักฐาน และกระทรวงสาธารณสุขจะได้ประเมินและรีบส่งวัคซีนไปให้ต่อเนื่อง
- COVID Free setting มาตรการขอความร่วมมือ
อีกคำถามที่สำคัญ คือ มาตรการ COVID Free setting บางที่ผู้ให้บริการจะมีการปฏิเสธ ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ไม่ได้รับบริการ พี่น้องประชาชนถามเข้ามาว่า กฎเกณฑ์นี้ทำได้หรือไม่ ต้องย้ำว่า ไม่ใช่เป็นการบังคับ ถือเป็นการขอความร่วมมือขั้นสูงสุด หากผู้ประกอบการละเลยมาตรการ ไม่ปฏิบัติตาม บุคลากร ผู้ให้บริการในร้าน ก็ถือว่ามีความเสี่ยง รวมถึงลูกค้าเกิดความเสี่ยง
ทั้งนี้ มาตรการ COVID Free setting มี 3 องค์ประกอบ คือ
1.จัดสถานที่ เว้นระยะห่าง การระบายอากาศ เป็นต้น
2. สถานประกอบการให้ความร่วมมือดีเยี่ยม ในการฉีดวัคซีนครบ จัดหา ATK เป็นระยะ สม่ำเสมอ
3. ผู้ใช้บริการ หากสามารถทยอยทำครบให้ได้มากขึ้น จะทำให้เกิดความมั่นใจ ทั้งผู้ให้และผู้รับบริการจะปลอดภัย
"อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นวิถีใหม่ ต้องให้เวลานิดหนึ่ง ให้ประชาชนใช้เวลาทำความเข้าใจ ปรับตัว บางครั้งหากสถานประกอบการ เข้มงวดเป็นสิ่งที่ดี แต่อาจจะยืดหยุ่นได้ เช่น ร้านอาหารบางร้านมีการจัดโซน หากรับ "วัคซีนโควิด-19" ครบ 2 เข็ม มีผลตรวจ ATK สามารถนั่งในโซนไหนได้ และหากไม่ได้รับวัคซีนสามารถนั่งในโซนไหน อย่างไร ให้บริการอย่างไร ตรงนี้ ต้องเป็นการให้เวลากับพี่น้องประชาชนในการปรับตัว" พญ.อภิสมัย กล่าว