ไทยพบ"เดลตาพลัส" - "อัลฟาพลัส"กลายพันธุ์จุดหลบภูมิคุ้มกัน

ไทยพบ"เดลตาพลัส" - "อัลฟาพลัส"กลายพันธุ์จุดหลบภูมิคุ้มกัน

ไทยเจอโควิด-19“อัลฟาพลัส”-“เดลตาพลัส”  พันธุ์ย่อย19ชนิดมากสุดAY.30กว่า1พันราย ไม่เจอAY.4.2 ส่วน“อัลฟาพลัส”เจอ18ราย ระบาดหลักในกัมพูชา กลายพันธุ์จุดหลบภูมิฯเดียวกับเบตา-แกมมา ความแรง-แพร่ไม่น่าเร็วขึ้น เร่งเพาะเชื้อตรวจหลบภูมิวัคซีน ยังไม่ทบทวนเปิดประเทศ

  เมื่อเวลา11.30 น. วันที่ 26 ต.ค.2564 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) แถลงข่าวการเฝ้าระวังเชื้อโควิดกลายพันธุ์ ว่า สธ.เปิดเผยข้อมูลโปร่งใส ติดตามข้อมูลได้ ไม่มีการปกปิดข้อมูล  ซึ่งเชื้อไวรัสของโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ย่อมเป็นเรื่องปกติ ในหลักการถ้ามีการกลายพันธุ์สำคัญ มีอาการโรครุนแรงขึ้นหรือติดต่อง่ายขึ้น และถ้าดื้อยารักษาหรือดื้อวัคซีนมากขึ้น จะเป็นการกลายพันธุ์มีนัยสำคัญ ตอนนี้ยังไม่ถือว่ามีนัยสำคัญ และองค์การอนามัยโลกหรือฮู ( WHO )ยังไม่จัดให้ต้องจับตาเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม การตรวจพบสายพันธุ์ย่อยต่างๆในประเทศไทยยังไม่มีตัวใดที่มีนัยสำคัญจนส่งผลต่อการต้องทบทวนเรื่องการเปิดประเทศ

        นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า  การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 16-22 ต.ค. 2564 ภาพรวมเป็นสายพันธุ์เดลตา 98.6% เบตา 0.8 % และอัลฟา 0.6%  ส่วนใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ส่วนใหญ่เป็นเดลตาเช่นกัน 96.9 % เบตา 2.3 % และอัลฟา 0.8% โดยสายพันธุ์เบตาและอัลหามีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ 

อ่านข่าว : ทำความรู้จัก "เดลตาพลัส" AY.1 สายพันธุ์ใหม่ในไทย รุนแรง ดื้อวัคซีนหรือไม่?  

   นอกจากนี้ ในประเทศไทยยังตรวจเจอสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์ดังกล่าว  โดยตรวจพบอัลฟาพลัส ที่เป็นการกลายพันธุในตำแหน่ง E484K บนสไปค์ ที่เกี่ยวข้องกับการหลบภูมิคุ้มกัน และพบได้ในสายพันธ์เบตาและแกมมาเช่นเดียวกัน  อาการอาจมากกว่าเดิม ขณะนี้อยู่ในระบบเฝ้าระวัง เจอครั้งแรกในประเทศอังกฤษเมื่อธ.ค.2563  
        ล่าสุด พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยแล้ว 18 ราย  ผู้ต้องขังเชียงใหม่ 2 ราย เก็บตัวอย่างเมื่อวันที่ 27 ก.ย.2564 อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค  และในจ.จันทบุรีและตราด เก็บตัวอย่างเมื่อวันที่ 9 ต.ค.2564 ตรวจ 1,119 ตัวอย่าง พบ 16 รายในล้งผลไม้ เป็นแรงงานกัมพูชา 12 ราย และไทย 4 ราย  ทั้งหมดหายแล้ว จะมีการดำเนินการตรวจเชิงรุกในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและสุ่มตรวจในพื้นที่อื่นๆด้วยว่ามีอัลฟาพลัสหรือไม่ 

    จากการตรวจสอบในระบบจีเสด(GISAID) พบว่า อัลฟาพลัส(E484K) ที่เจอในประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับที่เจอในเอเชียนั้น มีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกับเชื้อที่ระบาดอยู่ในประเทศกัมพูชา และเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในประเทศกัมพูชาตอนนี้  ซึ่งการกลายพันธุ์ในตำแหน่งนี้ที่มีการหลบภูมิคุ้มกัน แบบที่เจอในเบตาและแกมมา ทำให้อัลฟาพลัส อยู่ระหว่างอัลฟา และเบตา กับแกมมา ถ้ามีมากในไทยอาจหลบภูมิฯได้ แต่อัลฟาในไทยเริ่มถูกเบียดหมดไปโดยเดลตา อำนาจการแพร่กระจายจึงอาจไม่สูงเช่นเดียวกับเบตาในภาคใต้ หลบภูมิฯแต่แพร่กระจายไม่สูง ทั้งนี้ จะมีการนำตัวอย่างเชื้ออัลฟาพลัสมาเพาะเชื้อเพื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการดูว่าอัลฟาพลัสตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันวัคซีนเป็นอย่างไร
     สำหรับกรณี เดลตาพลัส เป็นสายพันธุ์ย่อยจากเดลตา(B.1.617.2) ทั่วโลกมี 47 ชนิด(AY) ได้แก่ AY.1 ถึง AY.47 ขณะนี้ในประเทศไทยเจอ 18 สายพันธุ์ย่อยของเดลตา ได้แก่ AY.3 จำนวน 2 ราย, AY.4 จำนวน 9 ราย ,AY.10 จำนวน 2 ราย, AY.11 จำนวน 5 ราย,AY.12 จำนวน 2 ราย,AY.14 จำนวน 1 ราย ,AY.20 จำนวน 3 ราย ,AY.23 จำนวน  12 ราย ,AY.25 จำนวน 1 ราย,AY.26 จำนวน 2 ราย,AY.28 จำนวน 2 ราย ,AY.30 จำนวน 1,341 ราย ,AY.31 จำนวน 3 ราย,AY.33 จำนวน  5 ราย,AY.34 จำนวน 2 ราย,AY.35 จำนวน 1 ราย,AY.37 จำนวน 2 ราย และAY.39 จำนวน 83 ราย และอีก 1 ชนิด คือ AY.1 ที่ตรวจพบโดยสถาบัน AFRIMS รวมเจอ 19 เดลตาสายพันธุ์ย่อย
        ส่วนกรณี เดลตาพลัส AY.4.2 ที่ประเทศอังกฤษจับตามองอยู่  ที่มีการกลายพันธุ์ตำแหน่ง Y145H และ A222V โดยอำนาจการแพร่กระจายเพิ่มขึ้น 10-15% หรือเร็วกว่าเดิมเล็กน้อย ยังไม่พบสายพันธุ์นี้ในประเทศไทย  อนาคตก็อาจพบได้ สรุปที่เจอเดลตาพลัสในไทยคือ AY.1 ไม่ใช่AY.4.2  โดยเดลตาพลัสAY.1 เกิดการกลายพันธุ์ที่ K417N ในไทยเจอ 1 รายที่จ.กำแพงเพชร ตรวจเจอเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา
    แต่ยังไม่มีข้อมูลในโลกนี้ว่าตำแหน่งที่กลายพันธุ์ ทำให้เกิดอิทธิฤทธิ์มากขึ้นกว่าเดลตาเดิมหรือไม่อย่างไร การหลบภูมิคุ้มกันยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ทั้งหมดยังไม่ถูกขึ้นบัญชีว่าน่าจะมีปัญหาหรือไม่ เพียงแต่กลัวว่าตำแหน่งกลายพันธุ์นี้มีอยู่ในเบตาด้วย ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดู อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยรายนี้เข้า รพ.สนาม และหายดี ไม่มีปัญหาอะไร แต่ต้องเก็บตัวอย่างคนที่มีความสัมพันธ์มาตรวจเพิ่มเติม

       “อัลฟาพลัส ไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชไปกว่าอัลฟาปกติ เพียงแต่ความรุนแรงอาจจะเหนือกว่าอัลฟานิดเหน่อยอาจจะพอกับเดลตาปัจจุบันก็ได้ ส่วนเดลตาพลัสที่เจอในไทยเป็น AY.1 ตำแหน่งที่กลายพันธุ์ K417N ยังไม่มีข้อมูลว่าจะทำให้แพร่เร็วหรือดื้อวัคซีนเลย และมีในหลายประเทศของโลก จึงเข้าใจว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร  ขณะที่ AY.30 ที่เจอในไทยมากที่สุดนั้น ก็ยังไม่มีนัยยะอะไรที่น่ากังวล เพราะทุกราย พันกว่าราย หายดี สบายดี ไม่ได้ตายมากขึ้น อาจจะเป็นการกลายพันธุ์ทั่วไป”นพ.ศุภกิจกล่าว
    ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพบการติดเชื้อ สธ.จะเฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์หรือไม่อย่างไร  นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ระบบการเฝ้าระวัง คัดเลือกกลุ่มที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว การเดินทางเข้ามาเป็นหลักเกณฑ์ เช่น ตะเข็บชายแดน คนอาการหนัก คลัสเตอร์ที่ไม่รู้มาจากไหน เก็บมาตรวจ ขอให้ความมั่นใจ มีข้อมูลเชื่อมโยง มาจากพื้นที่ไหน ถ้ามีการกลาบพันธุ์สูงก็เพ่งเล็งในการตรวจ