บทเรียนดราม่า! "หนึ่ง จักรวาล" พ่อแม่แสดงความรักต่อลูกได้ระดับไหน?
ดราม่า! ในโลกโซเซียลมีเดียที่มาแรงที่สุดในขณะนี้ คงไม่พ้น กรณีของ “หนึ่ง จักรวาล” ที่ได้โพสต์คลิปและภาพแสดงความรักต่อลูกสาววัย 9 ขวบในลักษณะที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม!!!!!
ด้วยการแสดงออกความรักของ "หนึ่ง จักรวาล" ต่อลูกสาว ไม่ว่าจะเป็นการกอดลูกสาววัย 9 ขวบ แล้วใช้มือล้วงเข้าไปในเสื้อจับบริเวณหน้าอก หรือนั่งเล่นเปียโนที่มืออีกข้างจับอยู่บริเวณก้นของลูกสาว หรือการขยำก้นลูกสาวขณะเดินเข้าลิฟต์ ทำให้เกิดกระแสในสังคมถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสมของคนเป็นพ่อ...
- พ่อแม่เข้าถึงร่างกายลูกได้ขนาดไหน?
ล่าสุด ทางเพจ “นักสังคมสงเคราะห์เล่าเรื่อง” ได้โพสถึงกรณีดังกล่าว ระบุว่า กำลังเป็นกรณีดังในขณะนี้กับการที่นักดนตรีชื่อดังท่านหนึ่ง มีคลิปวีดีโอที่แสดงความรักต่อลูกสาวโดยการสัมผัส
ในเบื้องต้นแอดมินขอยืนยันว่าเด็กจำเป็นและคู่ควรที่จะได้รับความรักผ่านการสัมผัส เช่น กอด หอม จากพ่อแม่ แต่การสัมผัสเหล่านั้นต้องสอดคล้องกับขอบเขตที่เหมาะสม และเป็นไปด้วยความเต็มใจของเด็ก (ขอบเขตที่ไม่เหมาะสม แม้เด็กเต็มใจก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้)
หลักสูตรและการเรียนรู้ที่สำคัญในการสอนเด็กให้สามารถระบุภัยทางเพศ คือการสอนให้เด็กรู้จักความรู้สึกที่ดี และความรู้สึกที่ไม่ดี ควบคู่ไปกับการรู้จักอวัยวะในร่างกายของตนเอง และขอบเขตทางร่างกายที่รู้สึกปลอดภัย และลำดับขั้นการอนุญาตที่เด็กจะมีให้คนแต่ละคนเข้ามาใกล้ หรือสัมผัสอวัยวะแต่ละส่วนของเขา
กฎเหล็กที่สำคัญคือ ในกรณีที่เด็กสามารถจัดการธุระของตนเองได้ เช่น ล้างฉี่ ล้างก้นได้แล้ว แม้แต่คนใกล้ตัวเด็กมากที่สุดอย่างพ่อแม่ ก็ไม่ควรหรือไม่มีสิทธิที่จะจับ สัมผัส อวัยวะปกปิด ซึ่งประกอบไปด้วย หน้าอก ก้น อวัยวะเพศของเด็กได้อย่างปกติ ยกเว้นในกรณีที่เด็กเจ็บป่วยหรือต้องอยู่ในสภาวะที่ต้องได้รับการดูแลเพียงเท่านั้น
- ไม่เหมาะสม! ควรเคารพสิทธิร่างกายเด็ก
เหตุที่เราจำเป็นต้องสอนเด็กเช่นนี้เพราะว่าถ้าเด็กถูกจับและสัมผัสอวัยวะปกปิดจนเป็นสิ่งปกติ เขาเองจะไม่เรียนรู้ขอบเขตที่เหมาะสมทางด้านร่างกายและเรียนรู้ความรู้สึกการเป็นเจ้าของเนื้อตัวร่างกายของเขาเอง ซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะถูกทารุณกรรมทางเพศจากผู้ใกล้ชิด และจากข้อมูลสถิติ ผู้ล่วงละเมิดทางเพศเด็ก
ส่วนใหญ่ คือบุคคลใกล้ชิดที่เด็กไว้วางใจ แอดมินเจอมาแล้ว พ่อแท้ ๆ ปู่แท้ ๆ น้า อา แท้ ๆ มีหมด
เวลาสอนเด็กเราจึงบอกเสมอว่าถ้ามีใครมาจับ ก้น นม จิ๋ม หรือ จู๋ ให้มาบอกพ่อแม่ หรือถ้าพ่อแม่จับก็ให้มาบอกคุณครู เพื่อที่เราจะได้ทำงานกับครอบครัวเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงต่อว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าพ่อแม่ยังไม่เข้าใจเราจำเป็นต้องให้พ่อแม่เข้าใจความจำเป็นในเรื่องนี้
สรุปประเด็นนี้ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ พฤติกรรมที่คุณพ่อแสดงต่อน้องนั้น “ไม่เหมาะสม”
แอดมินขอฝากทุกท่านว่าเรื่องนี้คือเรื่องไม่ปกติ ขอความกรุณาทุกท่านปฏิบัติต่อเด็กด้วยความเคารพต่อสิทธิความเป็นส่วนตัว ต่อเนื้อตัวร่างกายของพวกเขา
เราเป็นผู้ใหญ่หน้าที่ของพวกเราคือการคิดเยอะ ๆ เพราะเกิดเหตุวิพากษ์วิจารณ์มาแม้พ่อแม่เองไม่ได้มีเจตนาไม่ดี แต่ผลกระทบเหล่านี้เกิดขึ้นกับเด็กแน่นอน อย่างน้อย ๆ คือการมีรอยเท้าบนโลกออนไลน์ที่ครั้งหนึ่งพ่อและแม่พาเขาเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเหล่านี้
- แนะวิธีแสดงความรักระหว่างพ่อแม่ลูก
ด้านเฟซบุ๊ก Drama-addict ได้เผยให้เห็นว่า เราควรจะสอนลูกอย่างไรว่าสัมผัสตรงไหนได้ สัมผัสตรงไหนไม่ได้ เช่น ส่วนที่สัมผัสแล้วถือว่าดี คือ จับมือ แปะมือ ไฮไฟว์, ส่วนที่สัมผัสแล้วถือว่าไม่ค่อยดี คือ จับหัว จับแก้ม จับพุง จับเข่า จับเท้า และส่วนที่ถือเป็นส่วนห้ามสัมผัสเลยคือ หน้าอก อวัยวะเพศ ก้น เป็นต้น
ทั้งนี้ วิธีการสอนลูกนั้น คือจำแนกว่า การสัมผัสแบบนี้เป็นการสัมผัสที่ดี คือ หากเด็กรู้สึกดีเมื่อได้รับการกอดหรือหอมแก้มหรือจูบในส่วนที่จับได้ จากคนที่รัก เช่น เมื่อพ่อแม่กอดลูกหลังจากลูกตื่น หรือเมื่อพ่อหอมแก้มหรือจูบหน้าผากเพื่อส่งลูกเข้านอน หรือเมื่อคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยายมาเยี่ยม แล้วทุกคนกอดกัน แต่ การสัมผัสที่ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี เช่น หากมีใครมาเตะ ตี หยิก ตบ หรือการได้รับการสัมผัสในส่วนที่ไม่ควรสัมผัส
หากเด็กได้รับการสัมผัสในจุดที่ไม่ควรแล้ว ต้องบอกให้เด็กพูดปฏิเสธเช่น อย่าทำ หยุดเดี๋ยวนี้เลย ถอยไปไกล ๆ หรือ หนูไม่ชอบ หรือ อย่าจับหนูแบบนั้น และหากถูกจับเนื้อต้องตัวแบบนั้นแล้ว ควรบอกให้เด็กบอกพ่อแม่ คุณปู่คุณย่า บอกครู หรือบอกผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ที่เด็กไว้ใจ และอย่าให้เด็กสัญญาว่า จะเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ สอนเด็กว่า ใครก็ตามที่แตะเนื้อต้องตัวเด็กไม่ถูกไม่ควร เด็กไม่ควรจะรู้สึกผิด และรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี แต่คนที่แตะเนื้อต้องตัวเราต่างหาก ที่เป็นคนไม่ดี ไม่ใช่เรา
- สิทธิเด็ก การกระทำไหน?เรียกว่าละเมิด
หากจะนิยามคำว่า “เด็ก” ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ปี พ.ศ.2546 มาตรา 4 เด็กหมายถึงบุคคลซึ่งอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Right of Child)
สิทธิเด็กเป็นสิทธิสากล (Universal Rights) ที่ต้องได้การรับรองและคุ้มครอง ด้วยจุดมุ่งหมายมิใช่เพื่อเรียกร้องสิทธิเด็ก แต่เพื่อการพัฒนาเด็กทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญา ให้เจริญเติบโตรอบด้านอย่างเต็มศักยภาพและไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยการร่วมมือกันในทุกสถาบันทั่วโลก
ปัจจุบันการละเมิดสิทธิเด็กมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในสังคมไทย ซึ่งนับวันยิ่งรุนแรงขึ้นและมีการละเมิดในรูปแบบใหม่มากขึ้น จนเป็นภาพที่ชินตาในสังคม ส่งผลให้เด็กใช้ชีวิตอยู่บนความหวาดระแวง แม้แต่คนรอบข้างก็ “ไว้ใจไม่ได้” จึงทำให้เรารู้ว่าโลกนี้มีความโหดร้ายและทารุณต่อเด็กเต็มไปหมดซึ่งขัดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กควรจะได้รับ
ปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กเป็นปัญหาใหญ่ที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน แต่สังคมไทยแทบไม่ให้ความสนใจกับปัญหาเหล่านี้ เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิเด็กว่าเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนและได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติ อีกทั้งยังได้รับการปกป้อง คุ้มครองภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ได้รับการยอมรับจากภาคีสมาชิกถึง 195 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่เป็นภาคีของอนุสัญญาฉบับนี้ด้วย
- ลักษณะละเมิดสิทธิเด็กที่เห็นกันบ่อย
การละเมิดทางด้านร่างกายและจิตใจ จากรายงานประจำปี Ending Violence in Childhood ที่จัดทำขึ้นโดย Know Violence in Childhood ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่เคลื่อนไหวเรื่องการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก รายงานนี้ระบุว่า เด็กและเยาวชน 1,700 ล้านคน จากจำนวนเด็กและเยาวชนทั่วโลก ตกเป็นเหยื่อหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงทุก ๆ ปี รวมถึงการรังแก กลั่นแกล้ง การต่อสู้ การทารุณกรรม และความรุนแรงทางเพศ รวมทั้งการลงโทษทางร่างกายทั้งในบ้านและในสถานศึกษา
สำหรับประเทศไทย พบว่าเด็ก 56% หรือนับเป็นจำนวนมากกว่าครึ่งของประชากรเด็กอายุระหว่าง 1-18 ปี ถูกทำโทษด้วยการทำร้ายร่างกายและการล่วงละเมิดทางเพศ มีข้อมูลจากศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน เปิดเผยว่าในปี พ.ศ.2556-2562 มีทั้งหมด 1,186 กรณี มี 482 กรณีที่บุคคลอื่นกระทำทารุณกับเด็ก ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมากที่สุด
บุคคลอื่นในที่นี้ยังรวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงต่อเด็ก รองลงมาเป็นกรณีเด็กกระทำกับเด็กด้วยกัน 464 กรณี คนในครอบครัวทำกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ของเด็กหรือแม้แต่ญาติผู้ใหญ่ที่ฝากเลี้ยง 135 กรณี สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เด็กถูกทารุณกรรม สาเหตุแรก ตัวพ่อแม่เด็ก เช่น พ่อแม่ที่มีอายุน้อยไม่พร้อมมีลูกทำให้มีปัญหาในครอบครัว สภาพจิตใจไม่ปกติ ทำให้ไม่รักและใส่ใจลูกเท่าที่ควร และสุดท้ายเมื่อมีปัญหาก็หันไปใช้กำลังกับลูก สาเหตุต่อมาคือเกิดจากตัวเด็กเองเช่น เด็กเลี้ยงยากหรือซนก็จะทำให้ผู้ปกครองไม่พอใจลงมือทำร้ายร่างกายเด็กและสาเหตุสุดท้าย เกิดจากสิ่งแวดล้อมที่บีบบังคับ เช่น ครอบครัวยากจน ขาดเสาหลักค้ำจุนครอบครัว ทำให้เกิดความเครียดและหันไประบายกับลูก และมี 105 กรณีที่ครูหรือบุคลากรการศึกษากระทำกับเด็ก
การใช้ความรุนแรงกับเด็กทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการในการเจริญเติบโตของเด็ก ทำให้มีพัฒนาการที่ผิดปกติ ขาดสารอาหารและทำให้เด็กรู้สึกขาดความมั่นคงทางด้านจิตใจ หวาดระแวง ซึมเศร้า และไม่กล้าเข้าสังคม อาจนำไปสู่การใช้สารเสพติด คิดทำร้ายผู้อื่นและท้ายที่สุดเด็กอาจจะคิดฆ่าตัวตายได้
เสรีภาพในการแสดงออกของเด็ก เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นในการที่จะส่งเสริมความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์และถือเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในสังคมประชาธิปไตย เพราะเสรีภาพดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญในการแลกเปลี่ยนซึ่งความคิดเห็นอันนำไปสู่การพัฒนาสังคมการเมือง และนำมาซึ่งการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและสังคมโดยรวม
อีกทั้ง ยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่ดี เสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) หรือเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) ถือเป็นสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศทั้งนี้เสรีภาพในการแสดงออกยังครอบคลุมไปถึงการแสดงออกของเด็กที่ระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Right of the Child) ข้อที่ 13 ที่ให้รับรองเสรีภาพในการแสดงออกของเด็ก ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2535 โดยให้ความมั่นใจว่าจะดำเนินการเพื่อให้เด็กๆได้เข้าถึงสิทธิที่พวกเขาพึงมี ซึ่งรวมถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นโดยได้รับการรับฟัง
อย่างไรก็ตาม กรณีของ "หนึ่ง จักรวาล" ในการแสดงความรักต่อลูกสาวนั้น คงต้องมองให้หลายมุมมาก เพราะถ้ามองให้ลึกลงไปว่าหลายครอบครัวที่มองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงความรัก เป็นเรื่องปกติ แล้วเด็กที่ได้รับการแสดงความรักในรูปแบบดังกล่าวไม่ได้เกิดความรู้สึกต่อต้าน หรือต่อให้แสดงความรักระหว่างพ่อ ลูกในลักษณะอย่างหนึ่ง จักรวาล แต่มีการอบรมสอนอย่างดีจากพ่อแม่ อาจจะเป็นเรื่องปกติของครอบครัวนั้น แต่ทั้งนี้ การกระทำของพ่อแม่ย่อมมีผลต่อพฤติกรรม ความรู้สึกนึกคิดของลูก พ่อแม่จึงควรพึงระวังในการแสดงออกต่อลูก เพราะต่อให้พ่อแม่อาจมองว่าลูกไม่ว่าจะอายุเท่าใดก็ยังเป็นเด็กน้อยสำหรับพ่อแม่ แต่ในความเป็นจริงควรคำนึงถึงสิทธิร่างกายของลูกด้วย
อ้างอิง :https://www.ohchr.org/EN/ProfessionalInterest/Pages/CRC.aspx