นวัตกรรม ไม้เท้าเลเซอร์ ตัวช่วย ผู้ป่วย "พาร์กินสัน"

นวัตกรรม ไม้เท้าเลเซอร์ ตัวช่วย ผู้ป่วย "พาร์กินสัน"

"พาร์กินสัน" เป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่งใน "ผู้สูงอายุ" สถิติผู้ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 7 ถึง 10 ล้านคน ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะปัญหาด้านการเดิน ก้าวไม่ออก หรือบางรายอาจมีการล้มบาดเจ็บ

โรคพาร์กินสัน (Parkinson disease) ถือเป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่งในผู้สูงอายุ คิดเป็นความชุกประมาณร้อยละ 1 ใน ผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โรคพาร์กินสันมีความสำคัญต่อการสาธารณสุขไทย เพราะเป็นโรคที่ทำให้ส่งผลต่อ คุณภาพชีวิต ของ ผู้ป่วย ทุพพลภาพ เพิ่มอัตราการเสียชีวิต และยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ดูแลอีกด้วย

 

  • อาการโรค "พาร์กินสัน"

 

โรคพาร์กินสันมีอาการแสดงหลักที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวผิดปกติ (Motor Symptoms) ประกอบด้วย

  • อาการเคลื่อนไหวช้า
  • อาการสั่นขณะอยู่เฉย
  • อาการแข็งเกร็ง
  • การทรงตัวลำบาก

ซึ่งอาการของโรคพาร์กินสันเหล่านี้นำไปสู่การหกล้ม รวมเรียกว่า อาการพาร์กินโซนิซึ่ม

 

  • สัญญานเตือน 

 

นอกจากนี้แล้วผู้ป่วยพาร์กินสันยังมีอาการที่นอกเหนือจากการเคลื่อนไหว (Non-motor Symptoms) หรืออาการที่เป็นสัญญาณเตือนก่อนเป็นโรคพาร์กินสันเรียกว่า Prodromal symptoms ได้แก่

  • อาการนอนละเมอในกลางดึก
  • อาการดมกลิ่นหรือรับรสอาหารไม่ได้
  • อาการท้องผูกเรื้อรัง
  • อาการซึมเศร้า

 

แต่ไม่ใช่คนที่นอนละเมอทุกรายจะเป็นอาการของโรคพาร์กินสันเสมอไป เนื่องจากอาการที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้มีความเฉพาะเจาะจงกับโรคพาร์กินสันเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าคนที่มีอาการเหล่านี้ ร่วมกับประวัติครอบครัวของโรคพาร์กินสันแล้ว โอกาสของการเป็นโรคพาร์กินสันก็จะเพิ่มขึ้น อาการเตือนเหล่านี้ในทางการแพทย์บ่งบอกถึงภาวะเสื่อมทางระบบประสาทได้เริ่มขึ้นในบริเวณก้านสมองส่วนล่าง ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการนอนหลับ และระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการขับถ่าย เป็นต้น ซึ่งหลักฐานทางการวิจัยได้บ่งบอกว่าอาการเหล่านี้อาจเกิดก่อนอาการ พาร์กินสัน ทางการเคลื่อนไหวได้นานมากถึง 6-20 ปี

 

นวัตกรรม ไม้เท้าเลเซอร์ ตัวช่วย ผู้ป่วย \"พาร์กินสัน\"

  • ไทยพบ 435 คนต่อแสนประชากร 

 

"นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช" กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวในงานแถลงข่าวความร่วมมือระหว่าง โรงพยาบาลเมดพาร์ค และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ส่งมอบนวัตกรรมไทย ไม้เท้าเลเซอร์เพื่อผู้ป่วยพาร์กินสัน โดยอธิบายว่า ข้อมูลจากสภากาชาดไทยชี้ว่า ในประเทศไทย สถิติของการเกิดโรคพาร์กินสันอยู่ที่ 435 คน ต่อประชากร 100,000 คน โดยที่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ ร้อยละ 1 ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน และมีปัญหาในการเดินติด (Freezing of Gait) โดยอาการแสดงคือ มีการเดินติดขัดหรือเดินซอยเท้าถี่ และเมื่อร่วมกับปัญหาการทรงตัวที่ไม่ดีในผู้สูงอายุก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหกล้มได้

 

นวัตกรรม ไม้เท้าเลเซอร์ ตัวช่วย ผู้ป่วย \"พาร์กินสัน\"

 

“ศ.ดร.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ” หัวหน้าศูนย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า การที่เขาก้าวติดเป็นสิ่งที่อันตรายและน่ากลัวมาก คนไข้ไม่ได้มีปัญหาแค่ก้าวไม่ได้  แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ก้าวแล้วติด ขาไม่ไป ล้ม และหากคนปกติล้มจะใช้มือดัน แต่ในผู้ป่วยพาร์กินสัน แขนจะแข็ง ดันออกไปไม่ได้ และผู้ป่วยบางทีตัดสินใจไม่ทัน ทำให้ล้ม พบประมาณ ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่มีปัญหา

 

ขณะเดียวกัน “ยา” ช่วยได้แค่บางส่วน อาการไม่แน่นอน คนไข้บางครั้งเริ่มก้าวเป็นปัญหา กลับตัวก็เป็นปัญหา เดินในที่แคบก็เป็นปัญหา มีข้อจำกัด คนเราเวลามีปัญหา ก็จะหาทางที่จะช่วยให้ตัวเองดีขึ้น และสิ่งที่สำคัญมากๆ เวลาตรวจคนไข้ เราจะไม่รอให้คนไข้มานั่งอยู่และรอตรวจ แต่ต้องมองคนไข้ตั้งแต่เดินเข้ามาเสมอ

 

นวัตกรรม ไม้เท้าเลเซอร์ ตัวช่วย ผู้ป่วย \"พาร์กินสัน\"

“แต่เดิม โรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่ป้องกันไม่ได้ ชะลอไม่ได้ แต่ตอนนี้โรคกลุ่มความเสื่อมระบบประสาท ปัจจุบัน ชะลอได้ คือ การออกกำลังกายให้ถูกและต้องทำตั้งแต่ก่อนมีอาการ สม่ำเสมอ กว่าจะมีอาการอายุเราก็เลยไป ค่อนข้างไกล แทนที่จะเป็น 70 ปี อาจจะมาเป็น 80 ปี” ศ.ดร.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าว

 

  • ไม้เท้าเลเซอร์พระราชทาน

 

ศ.ดร.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวต่อไปว่า การเป็นแพทย์ ต้องประเมิน ดูแลผู้ป่วยได้หลายสถานการณ์ ในการดูแลผู้ป่วยพาร์กินสัน เราพยายามเข้าใจว่าคนไข้ต้องการอะไร การทำนวัตกรรมต้องตอบโจทย์ผู้ป่วย จากการสอบถามผู้ป่วย พบว่า สิ่งที่ผู้ป่วยต้องการนอกเหนือจากอาการดีขึ้น การรักษาใหม่ๆ สิ่งหนึ่ง คือ ต้องการให้หมอเข้าใจเขา นี่เป็นคอนเซปที่สำคัญ พอเราพยายามเข้าใจผู้ป่วย ต้องมาดูว่าอะไรที่เป็นปัญหา ซึ่งก็คือ "การเดิน"

 

เป็นที่มาของการคิดค้นและพัฒนาไม้เท้าเลเซอร์พระราชทาน เพื่อช่วยแก้ไขอาการเดินติดในผู้ป่วยพาร์กินสัน โดยอาศัยแสงเลเซอร์สีเขียวที่ปล่อยออกมาจากไม้เท้า เป็นสิ่งชี้นำกระตุ้นทางสายตา (Visual Cues) ให้ผู้ป่วยก้าวเดิน ไม้เท้าสามารถตั้งได้ ใช้ง่าย แสงปรับได้หน้าหลัง จากการศึกษาพบว่าทำให้ผู้ป่วยเดินติดลดลง เมื่อคนเราเห็นแสงเป็นการกระตุ้นทางสายตา ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งกลางวันกลางคืน

 

นวัตกรรม ไม้เท้าเลเซอร์ ตัวช่วย ผู้ป่วย \"พาร์กินสัน\"

 

สำหรับการพัฒนาไม้เท้าเลเซอร์ ใช้เวลาในการพัฒนา 8 ปี โดยรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 8 แต่เดิมใช้ไม้เท้าธรรมดามาใส่เลเซอร์ ปัจจุบัน พัฒนาไม้เท้าสามารถใช้แบบไม่เปิดเลเซอร์ได้ด้วย เพราะอาการเดินติดไม่ได้มีตลอดเวลา สามารถรับน้ำหนักได้ 120-150 กก. สิ่งสำคัญ คือ ต้องการให้ผู้ป่วยเข้าถึง คนที่มีปัญหาก้าวติด เดินไม่ออก ขอแค่มีอาการ มีบัตรประจำตัวประชาชน มีใบรับรองแพทย์ ไม่มีค่าใช้จ่าย และฝึกให้ด้วย

 

“เทคนิคในการฝึก คือ คนไข้ต้องตื่นตัวพร้อมจะเดิน กำลังต้องดีจากการทานอาหารที่เหมาะสม ไม่มีโรคแทรก และจังหวะต้องดี สม่ำเสมอ เราไม่ได้เน้นว่าการเคลื่อนไหวเร็ว แต่ต้องใหญ่ จังหวะดี ไม้ต้องเดินเร็ว ก้าวได้สม่ำเสมอ เทคนิคในการฝึก องค์ประกอบเหล่านี้จะทำให้เดินได้”

 

ทั้งนี้ การรักษาแบบองค์รวม (Multidisciplinary care) เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ร่วมกับทีมสหวิชาชีพมีความสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน รวมถึงการทำกายภาพบำบัด ฝึกเดิน การออกเสียง ฝึกกลืน การดูแลปัญหาการนอนหลับ การปรับที่อยู่อาศัย การดูแลด้านจิตใจและพุทธิปัญญา ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับอาการของผู้ป่วย

 

“ที่ผ่านมา ได้มีการมอบไม้เท้าเลเซอร์แล้ว ประมาณ 2,000 ด้าม ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ผ่านหน่วยงานรัฐ องค์กรการกุศลและผู้ที่สนใจ และยังมีการแจกอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยผู้ป่วยลดปัญหาการเดินติดและเพิ่มความมั่นคงในการก้าวเดิน สำหรับการรักษาโรคพาร์กินสันนั้นหากพบเร็วและได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ก็สามารถชะลอการพัฒนาของโรคได้” ศ.ดร.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าว

 

  • ยืดเหยียด ลดความตึงกล้ามเนื้อ

 

“พญ.อุไรรัตน์ ศิริวัฒน์เวชกุล” หัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวเสริมว่า ปัญหาการเคลื่อนไหวในคนไข้พาร์กินสัน นอกจากเรื่องการเดิน สิ่งที่สังเกต คือ คนไข้ยิ่งเวลาผ่านไป จะเกิดอาการเอ็นข้อยึด เดินไม่มั่นใจ ทำให้ย่อตัวลงเพื่อให้มั่นคงมากขึ้น การเดินติดขัดยิ่งทำให้เกร็ง เพราะกลัวล้ม

 

ดังนั้น นอกเหนือจากการฝึกเดิน สิ่งสำคัญ คือ การประเมิน ในแง่ของเวชศาสตร์ฟื้นฟู มีกล้ามเนื้อมัดไหน ส่วนไหนของคนไข้ที่เป็นปัญหา ดังนั้น คนไข้ต้องยืดเหยียดให้ได้ และ ฝึกบาลานซ์ตัวให้ได้ก่อน เพื่อให้มั่นคง

 

 

 

“การฟื้นฟูกายภาพบำบัดโดยการยืดคลายกล้ามเนื้อเพื่อลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ลดความแข็งเกร็ง ฝึกการทรงตัวและการเคลื่อนไหวของร่างกายโดยใช้อุปกรณ์ช่วยกะระยะ เช่น การขีดเส้นไว้ที่พื้น ก้าวตามจังหวะเสียง หรือใช้ไม้เท้าที่ติดตั้งแสงเพื่อใช้ในการฝึกเดิน (Visual Cues)”

 

“สามารถช่วยลดปัญหาการเดินติดขัด ช่วยให้ผู้ป่วยเดินด้วยตนเองได้ดีขึ้น และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลดีที่สุด ผู้ป่วยควรได้รับการสอนใช้อุปกรณ์ สอนการเตรียมยืดกล้ามเนื้อหากมีอาการแข็งเกร็ง และซ้อมเดินกับนักกายภาพบำบัดก่อนจนเกิดความมั่นใจ จากนั้นจึงจะสามารถฝึกต่อเองที่บ้านได้” พญ.อุไรรัตน์ กล่าว

 

สำหรับ ผู้ป่วยพาร์กินสันและผู้สูงอายุ ที่มีความเดือดร้อน สามารถติดต่อศูนย์ประสาทวิทยาโรงพยาบาลเมดพาร์ค ที่ 02-090-3114 เพื่อขอรับเลเซอร์ไม้เท้าพระราชทานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยผู้ที่ขอรับต้องมีใบรับรองแพทย์ว่าเป็นผู้ป่วยกลุ่มพาร์กินสันหรืออาการใกล้เคียง โรคทางสมองอื่นๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคโพรงน้ำในสมองโต โรคสมองเสื่อม ที่มีปัญหาการเดินติดขัด และยินดีให้ความร่วมมือในการเก็บข้อมูล เพื่อพัฒนาต่อยอดในการรักษา