"เปิดเมือง" เปิดประเทศ 1 พ.ย. คนไทยกังวลอะไร มากที่สุด
นับถอยหลังสู่วันที่ 1 พ.ย. ในการเปิดเมือง "เปิดประเทศ" 17 จังหวัดนำร่องระยะที่ 1 อนามัยโพลล์ สำรวจความกังวลของประชาชน พบว่า มีความกังวลกว่า92.4% โดยเรื่องที่กังวลมากที่สุด ได้แก่ เกิดการระบาดระลอกใหม่ 75.8 %
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยผลอนามัยโพล เปิดเมือง เปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน 2564 นี้ พบประชาชน ร้อยละ 92.4 พื้นที่ท่องเที่ยวใน 17 จังหวัด กังวลกับการเปิดประเทศ กังวลระบาดระลอกใหม่จากสถานบันเทิง 75.8 % แนะผู้มารับบริการร่วมตรวจสอบสุถานประกอบการ ขอความร่วมมือทุกคนเข้มตามมาตรการ Universal Prevention เพื่อลดเสี่ยงการแพร่กระจายของ โควิด-19
สถานการณ์การติดและแพร่เชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยผู้ติดเชื้อรายใหม่มีจำนวนในระดับคงที่ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง และผู้ป่วยได้รับการรักษา จนหายเป็นปกติมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น การเปิด พื้นที่นำร่อง ด้านการท่องเที่ยว 17 จังหวัด จึงเป็นปัจจัยเอื้อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้ามาประเทศได้มากขึ้น เป็นการกระตุ้นในระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจท่องเที่ยวและภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง
ทว่าผลสำรวจ กรมอนามัย กลับพบว่าประชาชนพื้นที่นำร่อง 17 จังหวัดกังวลกับการเปิดประเทศว่าจะมีการระบาดระลอกใหม่จากสถานบันเทิง โดยวานนี้ (27ต.ค.64) " นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย" อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในการแถลงข่าวประเด็น “มาตรการUP เปิดบ้าน เปิดเมือง เปิดประเทศ” ว่า กรมอนามัยได้ทำความสำรวจความคิดเห็นของประชาชนหรือ อนามัยโพลล์ เรื่อง “ความกังวล กับการเปิดเมือง เปิดประเทศ เริ่ม 1 พ.ย.2564” ระหว่างวันที่ 14-25 ต.ค.2564 ในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวใน 17 จังหวัด
พบว่า มีความกังวล 92.4% โดยเรื่องที่กังวลมากที่สุด ได้แก่ เกิดการระบาดระลอกใหม่ 75.8 % รองลงมา ประชาชนการ์ดตกและไม่ป้องกันตนเอง 49.7 % สถานประกอบการ สถานที่ท่องเที่ยวไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด 45.10% กลัวตนเองและครอบครัวติดเชื้อ 41% มาตรการการคัดกรองนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างประเทศอาจไม่ดีพอ 39.6% กังวลกว่าจะเกิดการล็อกดาวน์อีกครั้ง 37.1 % จำนวนเตียงไม่พอเพียง 31.7 % และอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจ ประสิทธิภาพวัคซีน 2.1 %
สำหรับสถานประกอบการ/กิจการใด ที่กังวลว่าจะเป็นคลัสเตอร์ใหม่หลังจากเปิดเมือง เปิดประเทศ เริ่ม 1 พ.ย.2564 พบว่า สถานบันเทิง ผับ บาร์ 89.2 % ขนส่งสาธารณะ 43.1 % สถานที่ท่องเที่ยว 39.8% สถานศึกษา 39.2% ตลาด 37.4 % ห้างสรรพสินค้า 34.1% ร้านอาหาร 28.8 % โรงแรม รีสอร์ท 24% ร้านสะดวกซื้อ 17.9 % ศาสนสถาน 16.4% ไม่กังวลว่าจะมีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้น 5.5% และสถานประกอบการอื่นๆที่กังวล เช่น สถานที่ทำงาน โรงงาน ร้านนวด ฟิตเนส สนามกีฬา 3.1%
ทั้งนี้ มาตรการที่ประชาชนเห็นว่าควรที่จะเพิ่มเพื่อทำให้เชื่อมั่นว่าเปิดเมือง เปิดประเทศแล้วจะปลอดภัย 5 อันดับแรก ได้แก่
1. เร่งฉีดวัคซีนให้ทุกคนทั่วประเทศครบ 2 เข็มครอบคลุมทุกจังหวัด 70 %ขึ้นไป 72.53 %
2. คุมเข้มการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายตามแนวชายแดน 60.58 %
3. กำกับติดตามการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของสถานประกอบการและประชาชนอย่างเคร่งครัด 55.10 %
4. เร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวครบ 2 เข็ม ครอบคลุม 70 %ขึ้นไป 52.72%
5. สนับสุนนชุดตรวจATKให้ทุกคนในพื้นที่ท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นไป ภายหลังการเปิดเมือง เปิดประเทศ กรมอนามัย ได้กำหนดให้มีการดำเนินงานเพื่อกำกับดูแลกิจการประเมิน ติดตาม และเฝ้าระวัง สถานประกอบการต่าง ๆ เป็น 3 ส่วนหลัก คือ
ส่วนที่ 1 Self Certification : ให้สถานประกอบการทุก Setting ลงทะเบียน ประเมินตนเองบนระบบ Thai Stop COVID Plus เพื่อยกระดับตามมาตรการ COVID Free Setting และให้ทุกสถานประกอบการติด E-Certificated ในจุดที่ผู้ใช้บริการเห็นเด่นชัด
ส่วนที่ 2 People Voice : ประชาชนสามารถประเมิน แนะนำ ติชม ร้องเรียน สถานประกอบการในพื้นที่ COVID Free Area/Zone ผ่านช่องทาง QR Code ใน E-Certificate , Website Thai Stop COVID Plus และ เฟซบุ๊ก “ผู้พิทักษ์อนามัย (COVID Watch)” และ
ส่วนที่ 3 Active Inspection : จัดตั้งคณะกรรมการ ร่วมตรวจ กำกับ COVID Free Area/Zone ภาครัฐและภาคประชาชน ตรวจประเมินทุก 2 สัปดาห์ กำกับมาตรการตาม พรบ.การสาธารณสุข และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จัดทำ Checklist และเป้าหมาย โดยตรวจสอบข้อมูลบน Thai Stop COVID Plus ให้คำแนะนำ ตักเตือน กิจการที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด (พรบ.การสาธารณสุข พรบ.โรคติดต่อ พรบ.สถานบริการ และ พรก.ฉุกเฉิน)
"เมื่อเปิดเมือง เปิดประเทศแล้ว คณะกรรมการบูรณาจากหลายภาคส่วนจะต้องตรวจประเมินทุก 2 สัปดาห์ กำกับมาตรการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จัดทำเช็คลิสต์และเป้าหมายสถานประกอบการจากฐาน Thai Stop COVID ไม่น้อยกว่า 20 % และตรวจสอบสถานประกอบการที่ประชาชนร้องเรียน 100 % และทำหน้าที่ให้คำแนะนำ ตักเตือน กิจการที่ปฏิบัติตามมาตราการที่ถูกต้อง โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานครเป็นผู้พิจารณาจัดตั้งทั้งนี้ ขอความร่วมผู้ประกอบการในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด ให้ผู้มารับบริการร่วมตรวจสอบอย่างน้อย 5 %ของผู้รับบริการ หรืออย่างน้อย 5 คนต่อวันต่อร้าน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม การป้องกันตนเองหลังเปิดประเทศ ประชาชนและะนักท่องเที่ยวทุกคนต้องปฏิบัติเข้มตามมาตรการ Universal Prevention เปิดบ้าน เปิดเมือง เปิดประเทศ โดยควรเลือกไปสถานที่ที่มีสัญลักษณ์ CFS, SHA+ ขอความร่วมมือ แสดงการได้รับวัคซีนหรือผลการตรวจว่าไม่ติดเชื้อก่อนเข้าสถานที่ ให้ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 - 2 เมตร ในทุกสถานที่ หลีกเลี่ยงการเข้าไปยังสถานที่แออัด หรือระบายอากาศไม่ดี และงดใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน สวมหน้ากาก (ถูกต้อง) ตลอดเวลา ทั้งขณะออกนอกที่พักและอยู่ในที่พักร่วมกับนักท่องเที่ยวอื่น ๆ ล้างมือบ่อย ๆ ทุกครั้งก่อน และหลังรับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ ไอ จาม หรือสัมผัสสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน หากสงสัยว่ามีความเสี่ยง หรือมีอาการ ควรงดออกจากที่พัก ตรวจตนเอง ด้วย ATK และปรึกษาสถานพยาบาลใกล้เคียง
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้ง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เตรียมความพร้อมการเปิดประเทศอย่างปลอดภัยวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ภายใต้ 3 รูปแบบ คือ เข้าประเทศไม่ต้องกักตัว 45 ประเทศ 1 เขตบริหารพิเศษ , การเข้าแซนด์บ็อกซ์ท่องเที่ยว 7 วัน และเข้ารับการกักตัวในสถานที่กำหนด 7-14 วันตามเกณฑ์ที่กำหนด
ซึ่ง 2 รูปแบบแรกเฉพาะผู้เดินทางทางอากาศเข้าประเทศที่ได้รับวัคซีนครบโดส มีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง มีประกันสุขภาพ 5 หมื่นเหรียญ มีหลักฐานการจองที่พัก และเมื่อมาถึงประเทศไทยได้รับการตรวจ RT-PCR วันแรกทันที ก่อนที่จะเดินทางต่อหรือท่องเที่ยวในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ แต่หากไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์จะเข้าสู่รูปแบบการกักตัว โดยพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ท่องเที่ยว วันที่ 1 พ.ย. ได้กำหนดเพิ่มเป็น 17 จังหวัด
- กระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อมใน 5 ด้าน
1.การเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค ตั้งแต่ขั้นตอนลงทะเบียนก่อนเดินทาง ขั้นตอนการตรวจสอบที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และการเดินทางจากท่าอากาศยานจนถึงโรงแรมในลักษณะปิด (Sealed Route) และการตรวจหาการติดเชื้อในประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่า ผู้เดินทางเข้าประเทศผ่านกระบวนการและไม่มีการติดเชื้อ อีกทั้งมีความปลอดภัยเมื่อท่องเที่ยวในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนวัคซีนให้จังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว เพื่อฉีดให้ประชาชนให้ครอบคลุมเพียงพอเป็นการควบคุมการระบาดและสร้างความมั่นใจให้ทุกภาคส่วน
2.การตรวจทางห้องปฏิบัติการ สำหรับตรวจหาเชื้อโควิด 19 ในผู้เดินทางเข้าในประเทศอย่างรวดเร็วแม่นยำ และการตรวจสายพันธุ์กลายพันธุ์
3.มาตรการ COVID Free Setting ในสถานประกอบการพื้นที่เปิดรับนักท่องเที่ยว ต้องประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVID Plus มีใบรับรองและ QR Code ที่ให้ประชาชนสแกนเพื่อตรวจสอบและประเมินร้องเรียนได้ และมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมตรวจประเมินทุก 2 สัปดาห์
4.ด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยปรับรูปแบบการรักษาพยาบาลที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ให้สถานพยาบาลประเมินตนเอง พร้อมเข้าสู่การแพทย์วิถีใหม่ ป้องกันการติดเชื้อในสถานพยาบาล และ 5.เวชภัณฑ์และการส่งกำลังบำรุง ซึ่งขณะนี้มียาฟาวิพิราเวียร์ 26.2 ล้านเม็ด ยาเรมเดซิเวียร์ 74,284 ขวด และเวชภัณฑ์ต่างๆ ภาพรวมคงคลังประมาณ 3-6 เดือน และสามารถจัดหายาและเวชภัณฑ์เพิ่มเติมต่อเนื่องตลอดเวลา