"หมอประกิต"ย้ำอเมริกายังไม่รับรองให้บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ได้
"หมอประกิต" เผย อย.อเมริกาให้ขาย “บุหรี่ไฟฟ้า” แบบมีเงื่อนไข ต้องไม่เพิ่มจำนวนคนสูบหน้าใหม่โดยเฉพาะเยาวชน ย้ำ อเมริกา ยังไม่รับรองให้บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ได้
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลว่าองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา อนุญาตให้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าได้นั้น โดยล่าสุดได้อนุญาตให้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อใหม่ของบริษัทอาร์เจ เรย์โนลด์ ซึ่งเป็นบริษัทยาสูบยักษ์ใหญ่ของโลก ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วสหรัฐฯ มีการอนุญาตและยกเลิกการอนุญาตจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าหลายยี่ห้อ
ที่สำคัญยังเป็นการอนุญาตจำหน่ายแบบมีเงื่อนไขคือ “จะต้องไม่เพิ่มการสูบบุหรี่ของเยาวชนหรือคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน” นอกจากนี้ องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา ยังไม่รับรองว่า “บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เลิกสูบบุหรี่” เนื่องจากหลักฐานยังไม่ชัดเจน ซึ่งการอนุญาตจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าฟ้าในอเมริกาล่าสุดมี 3 ยี่ห้อที่ได้รับอนุญาต แต่กลับมีบุหรี่ไฟฟ้าถึง 10 ยี่ห้อที่ถูกสั่งห้ามจำหน่ายอีกต่อไป เพราะไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด โดยเฉพาะการมีเยาวชนจำนวนมาก สูบบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อที่ถูกห้ามขาย ส่วนใหญ่เป็นบุหรี่ไฟฟ้าที่มีการปรุงแต่งกลิ่นรส ชนิดต่างๆ
อ่านข่าว : ทำไม "บุหรี่ไฟฟ้า" จึงไม่ควรถูกกฎหมายในประเทศไทย
ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ จะมีข่าวที่ อย.อเมริกา อนุญาตหรือไม่อนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้าที่ขายในอเมริกาว่าจะให้ขายต่อไปได้หรือไม่ ทยอยออกมาเรื่อย ๆ เพราะยังมีบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก อยู่ระหว่างการพิจารณาของ อย.อเมริกา และจะเห็นว่าวิวัฒนาการการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในอเมริกา มีความสลับซับซ้อนมาก ต้องมีความพร้อมและต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการดำเนินการ
การเปิดให้ขายได้อย่างถูกกฎหมาย เหมาะสำหรับประเทศที่ได้ใช้มาตรการควบคุมยาสูบ ตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาควบคุมยาสูบได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพแล้ว เช่น มาตรการทางภาษียาสูบ การบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบ การควบคุมส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ การรักษาคนที่เสพติดยาสูบ การป้องกันการเข้าถึงยาสูบของเด็ก และการควบคุมบุหรี่หนีภาษี และอัตราการสูบบุหรี่อยู่ในระดับที่ต่ำมากแล้ว
“หน่วยงานวิชาการระดับโลก สหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ (International Union Against Tuberculosis and Lung Disease) มีจุดยืนว่า “การห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า” เป็นนโยบายที่ดีที่สุด สำหรับประเทศที่มีรายได้น้อยหรือปานกลาง เนื่องจากประเทศเหล่านี้ ยังไม่มีความพร้อมในการควบคุมยาสูบแม้แต่ชนิดธรรมดา หากเปิดให้ขายบุหรี่ไฟฟ้า จะยิ่งทำให้การควบคุมยาสูบยากลำบากมากขึ้น ดังนั้น เมื่อพิจารณาอย่างรอบด้าน รอบคอบแล้ว สถานการณ์ในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยเข้าเงื่อนไขที่ว่า นโยบายที่ดีที่สุดสำหรับการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าคือการห้ามขาย” ศ.นพ.ประกิต กล่าว