ชี้ช่องขออนุญาตปลูก"กัญชา"ให้ผ่านง่าย พร้อมโอกาสไปต่อในระยะที่ 2
“กัญชา”ทางการแพทย์หนึ่งในนโยบายที่สร้างความหวือหวาช่วงเริ่มต้นรัฐบาลนี้ แต่เมื่อเจอกับวิกฤตโควิด-19 ดูจะชะงักไป จากนี้โอกาสของกัญชา-กัญชงจะเป็นอย่างไร มีช่องทางไหนให้ไปต่อได้หรือไม่ พร้อมวิธีการขออนุญาตปลูกที่จะสามารถผ่านได้ไม่ยาก
ระดับนโยบายดันต่อ “กัญชา”เพิ่มรายได้
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การดำเนินงานในปีงบประมาณ 2565 ในการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้เข้มแข็ง นำองค์ความรู้ด้านสาธารณสุขสร้างชาติ ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศด้วยสาธารณสุขวิถีใหม่ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ “ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจไทยแข็งแรง ประเทศไทยแข็งแรง”มี 9 ประเด็นสำคัญ โดยมีเรื่องของการพัฒนาพืชสมุนไพร กัญชา กัญชง กระท่อม และภูมิปัญญาไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้แก่ประชาชน ด้วย
"กัญชา"แพทย์แผนไทยสร้างรายได้ 48 ล้านบาท
ขณะที่ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “กัญชาทางการแพทย์แผนไทย” บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ 4 ตำรับ ได้แก่ ศุขไสยาศน์ แก้ลมแก้เส้น ทำลายพระสุเมรุ และน้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา) สนับสนุนวิสาหกิจชุมชน 193 แห่ง และสร้างแหล่งปลูกกัญชาแปลงใหญ่ 6 แห่ง ทำให้ประชาชนเข้าถึงยากัญชา 441,392 ราย มีการกระจายยากัญชาสู่คลินิกกัญชาฯ 691 แห่ง ทั่วประเทศ พร้อมกำกับติดตามอย่างใกล้ชิด คาดว่าเกษตรกรเกิดรายได้หมุนเวียนกว่า 48 ล้านบาท และช่วยลดค่าใช้จ่ายการนำเข้ายาจากต่างประเทศไม่น้อยกว่า 120 ล้านบาท/ปี
ทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในปี 2565 ในเรื่องการพัฒนากัญชา กัญชง กระท่อม สู่นวัตกรรมการดูแลสุขภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มผู้ปลูกกัญชา ให้มีวัตถุดิบมาตรฐาน พัฒนาต้นแบบและวิจัยผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชง และกระท่อม เพื่อนำไปใช้ทางการแพทย์และการตลาด พร้อมถ่ายทอดมาตรฐานและองค์ความรู้สู่การใช้กัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ
ส่งเสริม “กัญชา”ระยะ 2
นางมาลา สร้อยสำโรง ผอ.สำนักงานจัดการกัญชาและกระท่อมทางการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การปลูกกัญชาที่ผ่านมาแบบนอกระบบจะมีการปนเปื้อน การที่จะนำมาทำยาดูแลคนไข้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องส่งเสริมการปลูก แต่กรมไม่มีความสามารถในการปลูก ขณะที่กฎหมายอนุญาตให้วิสาหกิจชุมชนปลูกได้โดยจะต้องร่วมกับรัฐ จึงเป็นที่มาของการปลูกกัญชาโดยวิสาหกิจชุมชนร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) เพื่อนำกัญชามาทำยาทางการแพทย์แผนไทย นอกจากนี้ กฎหมายยังปลดล็อกส่วนอื่นๆของกัญชาไม่ให้เป็นยาเสพติดด้วย ดังนั้น ไม่เพียงแต่การนำช่อดอกมาทำยาเท่านั้น ส่วนอื่นที่กฎหมายอนุญาตทำให้ผู้ปลูกสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
จากการดำเนินการในระยะที่ 1 พบว่าการดำเนินการขออนุญาตเพื่อปลูกกัญชานั้นไม่ง่ายนัก สำหรับโครงการระยะที่ 2 กรมจึงตัดเสื้อโหลโดยทำแบบให้ว่าจะต้องดำเนินการขอนุญาตอย่างไร คือ รพ.สต.ร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ซึ่งในต่างจังหวัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ต้องเห็นชอบ แล้วยื่นมาที่กรมสำหรับการปลูกกัญชา 50 ต้น เพื่อไปยื่นขออนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)
โดยสถานที่ที่จะปลูก ต้องสร้างโรงเรือน หากไม่เกิน 50 ตารางเมตร ไม่ต้องมีกล้องวงจรปิด แต่ถ้าเกินจะต้องมีตามเกณฑ์ของอย. ที่มีการกำหนดว่าพื้นที่เท่าไหร่ ต้องใช้กล้องวงจรปิดเท่าไหร่ ฉะนั้น ผู้ขอปลูกตามโครงการกรมอาจจะมีพื้นที่เกิน 50 ตารางเมตรก็ได้ แต่จะปลูกได้ไม่เกิน 50 ต้น เพราะการที่จะปลูกกัญชาต้องมีการควบคุมเรื่องปริมาณ ต้องรู้ว่าจะปลูกไปทำอะไร ถ้าทุกคนปลูกจำนวนมากเป็นหมื่นเป็นแสนต้น ไม่รู้จะนำไปทำอะไร กรมจึงทำโครงการต้นแบบขึ้นมา
“เมื่อปลูกแล้วส่วนที่เป็นยาเสพติดต้องนำมาทำยา แต่ส่วนที่ไม่เป็นยาเสพติด เอาไปสร้างรายได้ในชุมชน ซึ่งออกแบบได้ตามแต่ละที่ว่ามีทรัพยากร วัตถุดิบในท้องถิ่น สามารถที่จะนำมาผสมเพื่อสร้างเพิ่มพูลรายได้แต่ละที่ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ยื่นเรื่องมากว่า 1 พันแห่ง ได้รับอนุญาตให้ปลูกแล้วราว 200 แห่ง” นางมาลากล่าว
นางมาลา กล่าวด้วยว่า กรณีการปลูกกัญชา 6 ต้น ได้มีการนำร่องในช่วงต้นปีที่ผ่านมา พื้นที่เนินมาลัย จ.บุรีรัมย์เป็นต้นแบบ โดยเป็นการปลูกในบ้านชาวบ้าน มีโรงเรือนเอง อาจจะไม่ได้มีผนังรอบด้านแต่อาจจะมีรั้วลวดหนาม ให้มีความปลอดภัย อยู่ใกล้บ้าน ดูแลได้ แต่คนถือใบอนุญาตการปลูกจะเป็นผอ.รพ.สต.เหมือนเดิม เพียงแต่อนุญาตให้เอาแต่ละต้นไปปลุกในบ้านชาวบ้าน อาจจะปลูกน้อยกว่า 6 ต้นหรือมากกว่า 6 ต้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และความจำเป็นในการใช้งาน เช่น ในบ้านมีคนไข้ติดเตียงเป็นคนไข้มะเร็ง และในแต่ละวันมีการนำใบกัญชามาทำน้ำปั่นให้ดื่ม ก็จะรู้ว่าแต่ละปีต้องใช้เท่าไหร่ สามารถแจ้งได้ว่าต้องปลูกเท่านี้ แล้วแต่ความจำเป็น
“หากมีกำลังสามารถปลูกกัญชาเป็นพันเป็นหมื่นต้นก็ได้ แต่ที่สำคัญจะต้องมีปลายทางว่าช่อดอกที่ได้จะให้ใคร ที่จะต้องนำไปใช้ทางการแพทย์ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในช่วงต้นมีผู้มีศักยภาพในการปลูกเสนอที่จะปลูกให้กรมในพื้นที่หลายไร่ แต่ผู้บริหารมองว่าหากให้แห่งใดแห่งหนึ่งไปปลูก แต่ปริมาณการใช้ยา สมมติ 100 กิโลกรัม แล้วผู้ปลูกรายใหญ่ได้ไปหมดแล้ว ประชาชนและวิสาหกิจชุมชนจะส่งขายผลผลิตกัญชาที่ใคร จะมีสิทธิในการปลูกได้อย่างไร จึงต้องการทำโครงการที่สามารถสร้างเครือข่ายได้ทั่วประเทศ ซึ่งโครงการ 50 ต้นนี้เดิมตั้งเป้าให้มีจังหวัดละ 2 แห่ง แต่ปัจจุบันมีการเสนอมาหลักพันแล้ว”นางมาลากล่าว
มูลค่าสินค้า “กัญชา”พุ่งกว่า 7,000 ล้านบาท
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ไปจนถึงพัฒนาให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่ผ่านมามีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมหลายอย่าง ทั้งการเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ทั่วประเทศ ไปจนถึงการอนุญาตให้ประชาชนผลิต และนำไปใช้เพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์ ซึ่งขวบปีที่ผ่านมา มูลค่าของสินค้าที่เกี่ยวข้องพุ่งสูงถึงกว่า 7 พันล้านบาท
ยาจาก”กัญชา”ไทยเป้าสู่ World Class
ทั้งนี้ สธ.ได้เร่งเดินหน้านโยบายสำคัญโดยเฉพาะการให้ประเทศไทยเป็นฮับการแพทย์ และกัญชาทางการแพทย์ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาชาติ ซึ่งไทยมีเป้าหมายว่าจะเป็นฐานการผลิตยาจากกัญชา และคุณภาพของสินค้า ต้องได้รับการยอมรับในระดับโลก ต้องเป็น World Class นอกจากนั้น ยังหวังให้กัญชาทางการแพทย์ของไทย เป็นส่วนสำคัญ ที่จะช่วยพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไปจนถึงช่วยแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน
“ยอดการเข้าใช้บริการทางการแพทย์ แผนกัญชาทางการแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในทุกวันมีการขออนุญาต นำกัญชาทางการแพทย์ไปใช้ในผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า สะท้อนถึงความตื่นตัวของภาคประชาชนที่มีต่อกัญชาทางการแพทย์ ภาพลักษณ์ของกัญชา ทางการแพทย์เปลี่ยนไป คนไทยเข้าใจประโยชน์ของพืชชนิดนี้มากขึ้น”นพ.สมศักดิ์กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทย มีศูนย์วิจัยกัญชาทางการแพทย์ระหว่างประเทศ (IMCRC) ที่ทําร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐและ กลุ่มแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านกัญชาทางการแพทย์ จึงถึงเวลาที่เราจะต้องแสดงศักยภาพของประเทศไทยที่พร้อมเป็นแหล่งความรู้ด้านการวิจัย การสกัด และเป็นฐานใน การผลิต พัฒนายาจากกัญชาระดับโลก ให้นานาชาติ ได้เห็นความพร้อมของไทย ซึ่งจะช่วยผลักดันให้กัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทย กลายเป็นจุดดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยว และนักลงทุนเข้ามาในประเทศไทย ที่เป็นไปตามแนวทางของท่านรัฐมนตรีอนุทิน