"เชียงใหม่" คุมเข้มสกัดโควิด-19 งดขาย "แอลกอฮอล์" ในร้านอาหาร
ศบค. จับตา "เชียงใหม่" พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว สกัด "โควิด-19" เร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมคนไทย-แรงงานต่างด้าว เข้มมาตรการ งดดื่มสุรา ในร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อขายแอลกอฮอล์ได้ถึง 21.00 น. ชวนผู้ประกอบการเข้าโครงการ SHA+ สร้างความมั่นใจนักท่องเที่ยว
วันนี้ (3 พ.ย. 64) ที่ทำเนียบรัฐบาล “พญ.สุมนี วัชรสินธุ์” ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงประเด็น พื้นที่นำร่อง ท่องเที่ยวสีฟ้า หนึ่งในจังหวัดที่ต้อง จับตาต่อเนื่อง คือ "เชียงใหม่" วันนี้ติดอันดับที่ 6 ที่มีผู้ติดเชื้อ รายงานผู้ติดเชื้อ 322 ราย
ทั้งนี้ เชียงใหม่ เป็น พื้นทีสีฟ้า 4 อำเภอ ได้แก่ แม่ริม เมือง แม่แตง และดอยเต่า โดย กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคได้ลงไปประเมินสถานการณ์ความพร้อมในพื้นที่เชียงใหม่ ตั้งแต่ปลายเดือนที่ผ่านมา ผลพบว่า การระบาดในเชียงใหม่ เป็นวงกว้าง ในชุมชน ครอบครัว โดยเริ่มต้นระบาด 6 ต.ค. 64 เป็นต้นมา โดยเริ่มมีการแพร่ระบาดในครอบครัว ในชุมชน ตลาด ที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี่ รวมถึงการระบาดในสถานที่ทำงาน และแรงงานต่างด้าว
- เข้มมาตรการ "ตลาด"
จากรายงาน สำนักงานควบคุมโรคเขต 1 เชียงใหม่ ได้มีการแสดงการระบาดในระดับชุมชน คือ ในตลาดสด 4 แห่ง ได้แก่ ตลาดเมืองใหม่ และระบาดในตลาดวโรรส ต่อไปที่ ตลาดประตูเชียงใหม่ และตลาดสันป่าข่อย พบว่า การระบาดในชุมชน หรือในระดับตลาดสด มีปัจจัยที่สำคัญ นอกเหนือจากมาตรการที่ปฏิบัติเคร่งครัด ในตลาดเองต้องเข้มงวดในการจัดสถานที่ ลดความแออัด จัดสถานที่ไม่ให้มีอากาศปิด อับ ผู้ให้บริการใส่หน้ากากตลอดเวลา มีจุดแอลกอฮอล์เจล หรือล้างมือ
- เร่งตรวจเชิงรุก ฉีดวัคซีน
พญ.สุมนี กล่าวต่อไปว่า ส่วนสำคัญ ที่ทำงานในตลาด ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนในเชียงใหม่ หากไม่ได้รับวัคซีนขอให้ไปรับวัคซีน เจ้าของกิจการกิจกรรม ที่มีลูกจ้าง แรงงานต่างด้าวที่ดูแล ควรให้แรงงานต่างด้าว รับการฉีดวัคซีนเพื่อความปลอดภัยของคนไทย และนักท่องเที่ยวที่ทยอยเข้ามาในเชียงใหม่ในอนาคต
นอกจากนี้ กรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการประชุมติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดมาตลอด นอกเหนือจากการรณรงค์การฉีดวัคซีน ยังมีการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก ด้วยการตรวจ ATK อย่างน้อย 3,000 – 5,000 ราย โดยการตั้งจุดตรวจ 4 มุมเมือง และฉีดเชิงรุกโดยทีม CCRT
- เข้มงวดมาตรการในร้านค้า
ทั้งนี้ ยังมีการปรับมาตรการ เข้มงวด ในการงด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้านค้า ภัตตาคาร ซึ่งเข้มงวดกว่า มาตรการในจังหวัดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวที่ใช้ตามมาตรการการจัดการพื้นที่สีเขียว แต่เชียงใหม่เข้มกว่า ไม่อนุญาตให้ดื่มแอลกอฮอลล์ในร้านอาหาร และจำกัดเวลาจำหน่ายเครื่องดื่ม ไม่ให้จำหน่ายแอลกอฮอล์ในร้านสะดวกซื้อหลัง 21.00 น.
- สถานประกอบการเข้าร่วม SHA+
นอกจากนี้ ยังมีการประชาสัมพันธ์ให้สถานประกอบการในพื้นที่เตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการ SHA+ โครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ซึ่งเป็นความร่วมมือในการดำเนินงานระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยว และกระทรวงสาธารณสุข โดยมีความสำคัญ 3 เรื่องคือ
1.การจัดสถานที่ ทำความสะอาดจุดสัมผัสบ่อยๆ
2.จัดอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เช่น แอลกอฮอล์เจล
3.ป้องกันให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานปลอดภัย ตรวจไข้ทุกวัน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
- พนักงานฉีดวัคซีน 70%
ในส่วนของ Plus เป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมจากเดิม คือ พนักงานต้องได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มครอบคลุม 70% ของหน่วยงานนั้น นอกจากนี้ ยังต้องมีผู้จัดการ SHA+ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบรายงานผล ให้ศูนย์ปฏิบัติการให้แต่ละจังหวัดทราบว่า ผู้มารับบริการ ยังปฏิบัติตัวในแผนการเดินทางในเส้นทางที่แจ้งไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ หากผู้เดินทางมาถึง ตรวจแล้วผลเป็นบวก ต้องประสานงานให้เขาเหล่านั้น ได้รับการรักษา กับ รพ. ที่เป็นคู่สัญญาต่อไป
"โดยหลักการ สถานประกอบการที่เป็น SHA+ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการ จะได้รับความปลอดภัยจากบริการที่ได้รับจากประเทศไทย โดยกิจการที่สามารถขอรับ SHA+ ได้แก่ ภัตตาคาร ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม สถานบริการสุขภาพ ความงาม ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และ ยานพาหนะ"
- ฉีดวัคซีน แรงงานต่างด้าว
พญ.สุมนี กล่าวต่อไปว่า การเปิดพื้นที่ เปิดจังหวัดในในการเปิดรับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการเปิดกิจการ กิจกรรมใดๆ ยังต้องเฝ้าระวัง เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคให้ได้มากที่สุด ขอเน้นย้ำให้เจ้าของกิจการ สถานประกอบการหากพนักงานได้รับวัคซีนไม่ครบ ขอให้ไปฉีดวัคซีนโดยเร่งด่วน ควรมีการดำเนินการต่างๆ ให้อยู่ภายในมาตรการ COVID Free setting และ SHA+
ทั้งนี้ กรณีที่มีลูกจ้าง หรือแรงงานต่างด้าว สามารถให้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมเพื่อจะได้มีความสำเร็จในการควบคุมโรค เพื่อไม่ให้แพร่ระบาด ให้พื้นที่ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้ ตามแผนการที่วางไว้
“ท้ายนี้ เดือนนี้จะมีงานประเพณีที่สำคัญของชาวไทย คือ งานกฐิน และช่วงปลายเดือนมีงานลอยกระทง ต้องเรียนให้ทราบว่าการจัดกิจกรรมต่างๆ ในช่วงผ่อนคลาย และการเปิดประเทศ มีวัตถุประสงคค์หลักในด้านเศรษฐกิจและให้ประชาชนได้กลับไปใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ ภายใต้วิถีใหม่ อยู่กับโควิดอย่างเท่าทัน ดังนั้น ไม่ว่าจะจัดงานประเพณีใดๆ ขอให้จัดตาม ความเหมาะสม ภายใต้มาตรการปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานต่างๆ ต่อไป จะได้สามารถทำตามแผนที่วางไว้ในปีใหม่อย่างราบรื่นไร้โรค” พญ.สุมนี กล่าว