"วัคซีนใบยา" ผลงานนักวิจัยจุฬาฯ สตาร์ทอัพไทยสู่วัคซีนของประเทศ

"วัคซีนใบยา" ผลงานนักวิจัยจุฬาฯ สตาร์ทอัพไทยสู่วัคซีนของประเทศ

เคาะ 3 พันล้านบาท “จุฬาฯ”พัฒนาวัคซีน “ซับโปรตีน-mRNA” ลุ้นใช้มี.ค.65 “วัคซีนใบยา” ผลิตปีละ 60 ล้านโดส เปิดใจ "อ.แป้ง" นักวิจัยจากวัคซีนใบยา ผลิตวัคซีนโควิดจากพืชครั้งแรกในประเทศไทย

ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้อนุมัติ 3.6 พันล้านบาท หนุนพัฒนาวัคซีนจุฬา “ซับโปรตีน-MrNA” สร้างความมั่นคงด้านวัคซีนประเทศในระยะยาว โดย  “ ChulaCOV19” เตรียมผลิตจากโรงงานของบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ในประเทศไทย คาดว่าจะสามารถผลิตได้ 30-50 ล้านโดสต่อปีในไตรมาสแรกของปี 2565 และเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 ที่ตอบสนองต่อเชื้อไวรัสกลายพันธุ์อีกด้วย

ขณะที่โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 หรือ "วัคซีนใบยา" กรอบวงเงิน 1,309 ล้านบาท ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกระทรวง อว.กรอบวงเงิน 1,309 ล้านบาท เพื่อวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในส่วนของการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 อาสาสมัครอย่างน้อย 10,000 คน ตามหลักเกณฑ์ของ อย. ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ไทยสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้ตั้งแต่ต้นน้ำด้วยตัวเอง และสามารถฉีดกระตุ้นภูมิให้ประชาชนคนไทยได้อย่างน้อย 60 ล้านโดสต่อปี และให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เร่งจัดทำรายงานผลการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 ของวัคซีนใบยา เสนอสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาอนุมัติงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป

 

  • ทำความรู้จัก "นักวิจัยวัคซีนใบยา"

ทั้งนี้ โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19  หรือ "วัคซีนใบยา" ดำเนินการโดยนักวิทยาศาสตร์ไทย ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ และรศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ก่อตั้งบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด พัฒนาวัคซีนโควิด-19 และแอนติบอดีในการยับยั้งไวรัสจากใบยาสูบชนิดพิเศษได้สำเร็จ โดยใช้เทคนิคการใช้พืชเพื่อผลิตโปรตีนนั้น

โดยใบยาสูบที่นำมาใช้นั้นเป็นสายพันธุ์ที่มีนิโคตินระดับต่ำมาก มีพื้นที่การผลิตที่มีอยู่ในโรงงานของจุฬาฯ สามารถผลิตได้ 60 ล้านโดสต่อปี และมีแผนที่จะขยายกำลังผลิตไป 300-500 ล้านโดส รับมือกับสถานการณ์โรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือเชื้ออื่นๆ ในอนาคตได้ทันการณ์คาดพร้อมฉีดให้คนไทยช่วงกลางปี 2565 ในราคาต้นทุนโดสละ 300 – 500 บาท

'อ.แป้ง' หรือ “รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ” นักวิจัยหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่ผลิตวัคซีนโปรตีนจากพืชใบยาสูบ โดยได้ลงทุนด้วยใช้เงินทุนของตนเอง ร่วมกับ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ทำงานแบบสตาร์ทอัพ โดยอยู่ในความดูแลของ CU Enterprise

 “จริงๆ แล้วการเป็นนักวิจัย ไม่ใช่ความฝันของ อาจารย์ตั้งแต่เด็ก ตอนเด็กๆ อาจารย์อยากเป็น เพราะเป็นคนชื่นชอบการท่องเที่ยว  ทว่าด้วยตอนเด็กไม่เก่งภาษา เป็นเด็กเรียนกลางๆ แถมไม่รู้ตัวเองว่าอยากเรียนอะไร ก็เหมือนเด็กคนอื่นๆ ตัดสินใจเลือกเรียนสายวิทย์- คณิตไว้ก่อน เพราะสามารถไปเรียนต่อได้หลายอาชีพ” อ.แป้ง เล่า

พอเรียนจบ ม.ปลาย ต้องสมัครเรียน “อ.แป้ง” รู้ว่าตัวเองไม่เหมาะกับหมอ จึงเลือกเรียนคณะวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ จนสอบติดคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ก็เลือกเรียนเพราะชอบชีววิทยาและเคมี

 

  • จาก Start up สู่วัคซีนประเทศ

“เมื่อเรียนจบปริญญาตรี ทำให้เรารู้ว่างานวิจัยไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อสำหรับเราแต่เป็นสิ่งที่สนุก ซึ่งตอนจบปริญญาตรีความฝันอยากไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศก็ยังอยู่แต่ไม่เก่งภาษา จึงไปสมัครเรียนต่อปริญญาโทด้านวิทยาศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ เพื่อที่จะได้เก่งภาษาและไปสอบชิงทุนปริญญาเอก ซึ่งตอนสอบชิงทุนปริญญาเอกได้ อาจารย์ก็ไม่ได้ตัดสินใจทันที เพราะเราก็ถามตัวเองอีกครั้งว่า อยากเป็นนักวิจัยจริงๆ หรือ?” อ.แป้ง เล่า

จากคำแนะนำของคุณพ่อที่บอก อ.แป้ง “ชีวิตของคนเราแม้ฝันว่าอยากจะบินได้ แต่ถ้าตอนนี้มีความสุขกับการเดินก็ควรจะเดินให้เต็มที่ และมีความสุขที่ได้ตัดสินใจไป”

อ.แป้ง เล่าต่อไปว่า คำพูดของพ่อทำให้อาจารย์ตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาเอก สาขา Plant Biology ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา (Arizona State University) ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ 15 ปีก่อน และนั่นเป็นครั้งแรกที่ได้เริ่มศึกษาเรื่องโปรตีนจากพืช ได้ร่วมทีมวิจัยวัคซีนอีโบลา หลังจากเรียนจบก็ไปทำงานเกี่ยวกับวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งทั้งหมดใช้แพลตฟอร์มเดียวกันคือ โปรตีนจากพืช

ประมาณ 2 ปีก่อนก็ได้ร่วมกับอาจารย์สุธีรา และจัดตั้งบริษัทใบยา เริ่มคิดค้น พัฒนายา และวัคซีนต่างๆ จนกระทั่งเกิดโควิด-19 ก็ได้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 โปรตีนจากพืชใบยาสูบ

  • เป้าหมายพัฒนายา วัคซีนเพื่อคนไทย

อ.แป้ง เล่าต่อไปว่า หน้าที่ของอาจารย์ ไม่ใช่เพียงสอนหนังสือ แต่ต้องทำงานวิจัยร่วมด้วย ซึ่งอาจารย์ทำงานวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางพืชมาโดยตลอด ซึ่งตอนทำวิจัยจะให้นิสิตเข้ามาร่วมศึกษาค้นคว้าพัฒนายาและวัคซีน แต่เมื่อนิสิตจบการศึกษา กลับพบว่ามีจำนวนน้อยมากที่จะทำงานด้านการพัฒนางาน หรือพัฒนายา ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากค่าตอบแทนนักวิจัยที่น้อย และไม่มีพื้นที่ให้ทำงานวิจัย

วัคซีนโควิด-19 จากพืชใบยาสูบ ถือเป็นงานวิจัยที่ได้ผลิตวัคซีนโปรตีนจากพืชครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ในประเทศ และตอนแรกที่ทำก็มีหลายคนไม่เชื่อมั่นว่าจะทำได้ แต่อาจารย์ ไม่ยอมแพ้ เดินหน้าศึกษาวิจัยมาโดยตลอด และให้นิสิตเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้นิสิตได้มีพื้นที่ทำงานวิจัย”อ.แป้ง เล่า

ตอนนั้นจะใช้แล็บเล็กๆ ของมหาวิทยาลัยในการทำวิจัย จนกระทั่งทางจุฬาฯ มีนโยบายผลักดันให้นักวิจัยออกมาทำเป็นบริษัท เป็นสตาร์ทอัพ เพื่อให้งานวิจัยสามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ จึงได้ร่วมกับ อ.สุธีรา ตั้งบริษัท สตาร์ทอัพ ใช้งานวิจัยเป็นฐานในการผลิตโปรดักส์ พัฒนายาให้เกิดขึ้นให้ได้ และจะได้มีพื้นที่ให้นักวิจัยนิสิตรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ทำงานวิจัย

ไม่ว่าใครจะมองว่า “อ.แป้ง” เป็นนักธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่สำหรับเธอมองตัวเองเป็นอาจารย์ เป็นนักวิจัย ที่เปลี่ยนรูปแบบจากอาจารย์ขอทุนวิจัย มาเป็นอาจารย์สอนเด็กทำวิจัย ให้ได้งานวิจัยที่สามารถใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งวัคซีนใบยา เมื่อผลิตสำเร็จไม่ได้เพื่อนำมาขายต้องการกำไรมากมาย แต่ต้องการช่วยให้คนไทยได้มียา วัคซีนของตนเอง เพราะตอนนี้วัคซีน ยาเกือบทุกชนิดล้วนมาจากต่างประเทศ

“ขณะนี้การผลิตวัคซีนใบยา กำลังดำเนินการควบคุมคุณภาพ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดเสนอสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภายในเดือนส.ค.นี้ ก่อนที่จะมีการเริ่มทดสอบในมนุษย์ระยะแรก เดือนก.ย.นี้ และถ้าผลการทดสอบทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย คาดว่ากลางปี 2565 จะสามารถผลิตวัคซีนใบยาให้คนไทยได้ฉีด” อ.แป้ง กล่าว

อย่างไรก็ตาม นอกจากวัคซีนโควิดที่มีการพัฒนาแล้ว ทางบริษัทใบยา ได้มีการผลิตยา และศึกษาวิจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เพราะขณะนี้ยาที่ใช้ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามา ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนายาเพื่อสร้างความมั่นคงให้ได้ หากเกิดการระบาดของโรคอื่นๆ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงของไวรัส ต้องพร้อมในการผลิตยา หรือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพได้

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์